What’s for dinner Mom (ママ、ごはんまだ?)
ภาพยนตร์อิ่มใจ แต่ไม่อิ่มท้อง ชวนหิวตลอดเรื่องจนต้องกลับบ้านไปกินข้าวแม่
วันหยุดสงกรานต์กำลังจะหมดลง ครอบครัวไหนยังไม่มีโปรแกรมทำอะไรในวันหยุดที่เหลือ แอดขอแนะนำภาพยนตร์ญี่ปุ่นอีกหนึ่งเรื่องจากมงคลภาพยนตร์เรื่อง What’s for dinner Mom (ママ、ごはんまだ?)
เข้าเมื่อวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมาค่ะ
ในโอกาสสงกรานต์ช่วงเวลาแห่งครอบครัวนี้ ภาพยนตร์เรื่องนี้แอดว่าตอบโจทย์สำหรับไปดูกับครอบครัวได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราได้ตระหนักว่า “เราเกิดและเติบโตมาอย่างไร” วัฒนธรรมที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด จากระดับครอบครัวไปจนถึงเชื้อชาติทำให้คนในสังคมแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเสน่ห์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สร้างจากประสบการณ์จริงของผู้แต่ง คุณทาเอะ ฮิโตโตะ สาวลูกครึ่งญี่ปุ่น – ไต้หวัน โดยมีผู้กำกับมิตสึฮิโตะ ชิราฮะ ผู้ชื่นชอบหนังไต้หวัน และรสชาติของอาหารจีน ที่ได้มาเรียงร้อยภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านการเล่าเรื่องย้อนเวลาของชีวิตผู้แต่งกับน้องสาว คุณโย ฮิโตโตะ ซึ่งเป็นผู้ร้องเพลงประกอบ “Sorane” สำหรับเรื่องนี้เองอีกด้วย
โย ฮิโตโตะ : ผลงานเพลงที่รู้จักกันดี คือ Hanamizuki ที่มีผู้นำไปร้องคัฟเวอร์ใหม่มากมาย
Credit Photo : Monkol Cinema
2 สาวพี่น้องกลับมาเก็บของในบ้านเก่าที่กำลังถูกรื้อถอน เจอเข้ากับบันทึกของแม่ผู้จากไปกว่า 20 ปีแล้ว หวนให้คิดถึงเวลาที่พวกเธออยู่กับแม่ เรื่องราวของคุณแม่ตั้งแต่เจอกับคุณพ่อชาวไต้หวัน จนย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่ไต้หวัน การเอาชนะกำแพงภาษา ผ่านปัญหาชีวิตรูปแบบต่างๆ ทีมีเหตุให้ต้องกลับมาอยู่ที่ญี่ปุ่นจนถึงบั้นปลายชีวิตและต้องต่อสู้กับโรคมะเร็ง 2 พี่น้องที่แม้จะเติบโตในสังคมของชาวญี่ปุ่น แต่สูตรอาหารจีนที่แม่ได้มาจากไต้หวันก็เลี้ยงดูพวกเธอขึ้นมาจนโต รสชาติอาหารและสีสันชีวิตฉูดฉาดแบบชาวไต้หวัน กับวิถีเรียบง่ายแบบชาวญี่ปุ่น จะผสมผสานภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาเป็นแบบใดต้องลองไปดูกันนะคะ
Credit Photo : Monkol Cinema
ตัวอย่างภาพยนตร์ Official Trailer จากมงคลภาพยนตร์
หลังจากอ่านเนื้อเรื่องย่อไปแล้ว บางคนที่ไม่ชอบหนังเศร้า ชวนดราม่า อาจจะเข้าใจว่าผิดคิดว่าเป็นหนังเศร้าจนไม่อยากไปชม
แต่เดี๋ยวก่อน…. จุดเด่นของเรื่องนี้ที่ทำให้ประทับใจสุด ๆ เลย ก็คือตัวละคร “คุณแม่” ที่เป็นตัวละครเอกในการดำเนินเรื่องของเราทำให้เรื่องนี้สนุกสนาน เปื้อนรอยยิ้มได้จนถึงฉากสุดท้ายของเรื่องเลยล่ะค่ะ
การดำเนินเรื่องที่เรียบง่ายตามสไตล์หนังญี่ปุ่นของเรื่องนี้ ตรงไปตรงมา มีลำดับเหตุการณ์ชัดเจนเหมือนเรานั่งอ่านไดอารี่ของคุณแม่ เห็นตัวละครทุกตัวค่อยๆ เติบโตขึ้น ชีวิตครอบครัวที่ไม่ได้หอมหวาน ทะเลาะกัน ดีกัน เป็นเรื่องปกติ ทำให้ความสมดุลของอารมณ์หนังกำลังดีๆ อบอุ่น ไม่เศร้าสุดโต่ง ไม่ตลกจนเกินไป
แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของลูกสาว ลูกครึ่งญี่ปุ่น – ไต้หวัน สาระในด้านวัฒนธรรมก็ไม่น้อยหน้า หนังยังคงสอดแทรกฉากที่ทำให้เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมผ่านความสงสัยของตัวละครชาวญี่ปุ่นและไต้หวันอยู่เรื่อยๆ ตลอดเรื่อง ภาพเหตุการณ์ที่ถ่ายทำจากทั้ง 2 ประเทศ ความพิถีพิถันของผู้กำกับชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องราวของชาวไต้หวันอย่างละเอียดก่อนหยิบยกเรื่องราวของคุณทาเอะ ฮิโตโตะมาทำเป็นหนัง จะทำให้ผู้ชมเข้าใจวัฒนธรรมทั้งสองประเทศนี้มากขึ้นค่ะ
Credit Photo : Monkol Cinema
สุดท้าย หากใครสนใจไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ อย่าลืมหาอะไรกินรองท้องไปก่อนนะคะ เพราะอาหารของคุณแม่บ้านฮิโตโตะน่ากินจนต้องร้องขอชีวิตบอกเลย…
ใครดูหนังจบแล้ว…. อยากรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไต้หวันผ่านมุมมองของชาวญี่ปุ่นเพิ่มเติมละก็ จะลองอ่านดาโกะไทย ฉบับที่ 160 ก็ดี หรือจะเป็นเรื่องอาหารเช้า ฉบับที่ 163 รวมไปถึงเรื่องข้าวกล่องก็มีเหมือนกันนะ ตามไปเลยที่ ฉบับ 152 จ้ะ (งานขายก็ต้องมา (หัวเราะ) )