
“โอเซน” (Osen) ละครแนวอาหารโลก(ไม่)สวยที่จบด้วยการกินหัวไชเท้ากับซอสมะเขือเทศ!
ต้องยอมรับกันตามตรงว่าปัจจัยในการเลือกซื้ออาหารของคนสมัยนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องรสชาติหรือราคา ทว่าสะดวกรวดเร็วก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าเราจะกินอะไรดีในมื้อนั้น ๆ ดังจะเห็นได้จากธุรกิจการสั่งอาหารผ่านแอปฯที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดหลายเจ้า เพียงแค่เราสไลด์นิ้วอยู่บ้านไม่กี่ที อาหารก็ถูกนำมาส่งให้ถึงที่ นี่คือวิถีใหม่ในการเข้าถึงอาหารของคนยุคนี้ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว
และเมื่อการทำอาหารมีกรรมการที่เรียกว่าเวลามาร่วมวง จึงไม่แปลกที่ความพิถีพิถันในการทำจะถูกลดทอน ไหนจะเรื่องราคาที่ต้องแข่งขันเพื่อทำโปรฯแข่งกับคนอื่นเขาได้ ผลลัพธ์สุดท้ายจึงกลายเป็นเรื่องคุณภาพอาหารที่ลดลงตามมา แต่เอาเข้าจริง คุณภาพอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคนกินยุคนี้แล้วก็ได้ เรื่องรสชาติขอแค่ไม่แย่มาก ส่วนคุณภาพก็เอาแค่พอถูไถ เพียงเท่านี้คนยุคเราก็พร้อมใจกันปล่อยผ่าน ขอให้สะดวก รวดเร็ว บวกกับโปรฯดี ๆ หน่อยก็แล้วกัน
วิถีการเข้าถึงอาหารในรูปแบบใหม่ของคนยุคนี้ ทำให้เรานึกถึงละครญี่ปุ่นเก่า ๆ เรื่องหนึ่งที่เคยออกอากาศไปเมื่อ 13 ปีก่อน เป็นละครแนวอาหารที่มีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยมาเป็นประเด็นหลัก เชื่อไหมว่าแม้ละครจะออนแอร์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 แต่สารที่นำเสนอผ่านละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้เชยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกนำมาพูดถึงในละครตอนนั้น มันเข้าทางกับวิถีการกินในยุคปัจจุบันของพวกเราเหลือเกิน
เรากำลังพูดถึง “โอเซน” (おせん, Osen) หรือชื่อภาษาไทยคือ “เจ๊สาว จ้าวตำรับ” ละครแนวอาหารที่มีน้องยู อาโออิ แสดงนำ โอเซนเป็นเรื่องราวของฮันดะ เซน เด็กสาวรุ่นใหม่ที่พยายามจะรักษาขนบในการทำอาหารตำรับญี่ปุ่นดั้งเดิมเอาไว้ ในฐานะนายหญิงแห่งร้านอิชโชอัง ผู้สืบทอดร้านอาหารเก่าแก่กว่า 200 ปี! ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว ร้านอาหารเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่าจะโดนคลื่นแห่งการบริโภคนิยมพัดกลืนไปด้วยหรือไม่ นั่นคือประเด็นที่เป็นคอนฟลิกซ์ของเรื่อง
หากพูดถึงเรื่องของการกิน สังคมญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นก็ไม่ต่างจากคนยุคนี้เท่าไร คือเน้นเอาง่ายและสะดวกเข้าว่า ในขณะที่ร้านอิชโชอังนั้นตรงกันข้าม อาหารของโอเซนจะเน้นความละเอียดพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำ ตั้งแต่การตามหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตชั้นดี การคัดสรรวัตถุดิบที่ใช้ การตระเตรียมที่ต้องอาศัยทั้งเทคนิค เวลา และความชำนาญ ขณะที่ขั้นตอนการปรุงนั้นก็ดูเหมือนจะเรียบง่าย แต่กลับมีรายละเอียดยิบย่อยมากมายให้คนดูได้ตื่นตา และแน่นอนว่าการบริการในแบบที่เรียกว่า ‘โอโมเตะนาชิ’ ร้านอิชโชอังก็ให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน
ทว่าความน่าสนใจของละครเก่าเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่การโชว์ความเก่าหรือความเก๋าของคนทำอาหาร หากแต่เป็นการพูดถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนจนส่งผลกับอุปนิสัยการกิน เมื่อคุณค่าของอาหารถูกลดทอนด้วยชีวิตที่เร่งรีบ จึงมีการกระตุ้นเตือนคนดูอย่างเรา ๆ ให้เห็นถึงเสน่ห์ในการทำอาหารอีกครั้งอย่างตั้งใจ หากเราดูอย่างพิจารณาจะเห็นว่าแต่ละตอนของโอเซน มิใช่การโชว์เคล็ดลับในการทำอาหารให้อร่อย หากแต่เป็นความทุ่มเทและใส่ใจในการทำอาหารต่างหาก
กว่าจะได้มาซึ่งซุปมิโซะร้อน ๆ สักถ้วย ข้าวสวยร้อน ๆ สักชาม หรือแม้แต่หัวไชเท้าต้มรสธรรมชาติแท้ ๆ สักชิ้น ต้องค่อย ๆ ราดด้วยสต๊อกร้อน ๆ ทีละทัพทีลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสุกทั้งก้อน เพื่อที่จะเก็บกลิ่นรสและสีสันแบบเดิมของหัวไชเท้าเอาไว้ให้มากที่สุด พูดง่าย ๆ ว่าทุกอย่างต้องผ่านกระบวนการที่ยากลำบากและต้องให้เวลากับมัน เพื่อให้รสธรรมชาติของอาหารนั้น ๆ ดำรงอยู่
เพราะหัวใจสำคัญในการทำอาหารของโอเซนคือการให้ความสำคัญกับคนกิน ซึ่งคำว่าคนกินในที่นี้ก็ไม่ได้พูดรวม ๆ แบบหว่านแห แต่หมายถึงแต่ละคนซึ่งเป็นลูกค้าของที่ร้าน เพราะแต่ละคนมีความชอบ รสนิยม และเงื่อนไขในการกินที่แตกต่าง การให้ความสำคัญกับคนกินของโอเซนจึงก่อเกิดเป็นความประทับใจ ทำให้มองเห็นคุณค่าของอาหารและความทุ่มเทใส่ใจของคนครัวขึ้นมาอีกครั้ง
แม้ความฟีลกู้ดในละครแนวทำอาหารของญี่ปุ่นจะเป็นของคู่กัน แน่นอนว่าละครเรื่องนี้ก็มีอะไรแบบนั้นอยู่ แต่ได้โปรดอย่าเหมารวมว่าละครเรื่องนี้ก็ไม่พ้นการเดินตามความคลิเชโลกสวยเดิม ๆ ของละครญี่ปุ่นแนวนี้ เพราะสิ่งที่ทำให้ละครเรื่องนี้ไม่ธรรมดาและน่าจดจำมากกว่าก็คือ ตอนจบของเรื่องที่ไม่โลกสวยเลยแม้แต่น้อย
ในตอนจบของเรื่อง เมื่อเด็กชายคนหนึ่งได้ลองกินหัวไชเท้าต้มของโอเซน เขารู้สึกว่ามันไม่มีรสชาติ จึงเอาซอสมะเขือเทศราดลงไปบนอาหารทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งซาชิมิ และหลังจากที่กินเสร็จ ก่อนขึ้นรถกลับ คนขับรถถามเด็กชายว่าอะไรอร่อยที่สุด คำตอบของเด็กชายคือซอสมะเขือเทศ
โอเซนเห็นแบบนั้นจึงบอกกับเด็กชายว่า ถ้าทำแบบนั้นทุกอย่างก็เป็นรสชาติเดียวกันหมดใช่ไหม วัตถุดิบแต่ละอย่างก็มีรสชาติเฉพาะตัวนะ เด็กชายตอบกลับประมาณว่าทำไมต้องสนใจ ขอแค่เป็นรสชาติที่ถูกปากก็พอ โอเซนจึงบอกเด็กชายอีกครั้งว่า เพราะมันทำให้เรากินได้อย่างสนุกกว่าน่ะสิ
แล้วละครก็จบลงแบบนั้น ไม่มีฉากที่จู่ ๆ เด็กชายก็รู้สึกประทับใจหรือเข้าถึงหัวอกคนทำอาหารอย่างที่มันควรจะมีในละครแนวนี้ โอเซนเองก็ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านหรืออยากเอาชนะให้ได้ ตรงกันข้าม เธอแสดงอาการยอมรับโดยดุษณีว่าถึงเวลาที่ขนบในการทำอาหารแบบเก่าอาจต้องแพ้พ่ายให้กับยุคสมัย ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็ปฏิเสธไม่ได้ สังคมบริโภคนิยมก็แบบนี้ และคงไม่แปลกหากจะมีเด็กสักคนเห็นว่าการกินไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอแค่มีซอสมะเขือเทศทุกอย่างก็อร่อยได้
กล่าวโดยสรุป สิ่งที่โอเซนและละครเรื่องนี้ฝากไว้ คงไม่ใช่การบอกให้เราลุกขึ้นมารักษาวิถีดั้งเดิมเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา แต่อาจเป็นแค่การส่งเมสเสจบางอย่างให้กับคนรุ่นพ่อแม่เช่นเราว่า จะสอนให้เด็ก ๆ ของเราเติบโตไปกับอาหารแบบไหน และเรียนรู้ที่จะสนุกกับรสชาติอย่างไร ส่วนตัวก็มีลูกชายกับเขาเหมือนกัน พอดูโอเซนจบเราก็พอที่จะเกิดวุฒิปัญญาขึ้นมาทันทีว่าควรจะสอนลูกชายอย่างไร ให้เขาได้รู้ซึ้งถึงรสชาติของอาหารและความสนุกในการกินอย่างรู้ค่า
เฮ้อ~ กว่าจะเขียนคอลัมน์นี้จบก็ดึกดื่นพอดี รู้สึกหิวขึ้นมาจนได้ ว่าแล้วก็เลือกแอปฯสั่งอาหารในมือเพื่อหาโปรฯดี ๆ โอ้! ร้านไก่ทอดสีแดงเจ้าประจำมีคูปองลดสองร้อยถ้าจัดชุดใหญ่ โอเค! จัดไปอย่าให้เสีย
และสิ่งที่ห้ามลืมเด็ดขาดเวลาสั่งไก่สำหรับเราก็คือ อย่าลืมคอมเมนต์เพิ่มไปว่าขอซอสเยอะ ๆ หน่อย
ไม่งั้นเดี๋ยวไม่อร่อยกันพอดี
“ภาพยนตร์ ข้าวกล่อง และความอบอุ่นใจ” คลิก
“จากการ์ตูนที่ถูกปฏิเสธก่อนเป็น Attack on Titan” คลิก