กลิ่นอายความเบียวมากขึ้นอีกระดับ เมื่อ LUSS ชวน Mori Calliope มาร่วม PAO YING CHUB!
เปิดตัวเป็นที่เรียบร้อยกับมิวสิกวิดีโอเพลง PAO YING CHUB! (feat. TangBadVoice) เพลงใหม่จาก LUSS คู่หูดูโอ้ผู้สร้างเทรนด์ดนตรีในวงการเพลงป็อปไทยที่ล้ำสมัยบวกกับดนตรีแนวอิเล็กทรอนิคผสมผสานเนื้อเพลงที่มีสไตล์ป่วนนิด ๆ กวนหน่อย ๆ จึงทำให้วงมีความแตกต่างจากศิลปินป็อปอื่น ๆ ในไทย
และนอกจากเวอร์ชั่นภาษาไทยที่ทั้งคู่ชวน TangBadVoice มาร่วมฟีทเจอร์ริ่งแล้ว ยังมีเวอร์ชั่นสุดเบียวที่ชวน VTuber ชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Mori Calliope มาร่วมฟีทเจอร์ริ่ง เพื่อบอกเล่าความสนุกของค่ำคืนปาร์ตี้กับเพื่อนอีกด้วย
ครั้งนี้ ดาโกะเลยชวน 2 สมาชิก COCOBUNNY หรือ ปั้น-นลพรรณ อัมพุช สาวเนิร์ด เก่ง กวน มากความสามารถ นักร้องนำ นักแต่งเพลง และ Co-Producer ของวง รวมทั้ง BENLUSSBOY หรือ เบน-ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์ ที่นอกจากเป็น Producer ของวงแล้ว ยังเป็น Producer มือฉมังที่โปรดิวซ์เพลงให้กับศิลปินในวงการเพลงมากกว่า 100 เพลง มาร่วมพูดคุยถึงประสบการณ์ในการทำเพลงกับ Mori Calliope กัน
- แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เพลง PAO YING CHUB! คืออะไร
บอกตามตรงเลยว่าจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำเพลงนี้ค่อนข้างแปลก มันเกิดขึ้นในระหว่างที่พวกเราพาน้องหมาไปเดินเล่นในหมู่บ้าน และระหว่างที่เดินเล่นอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงดนตรีจากงานปาร์ตี้สักแห่งที่ดังมาจากที่ไกล ๆ ซึ่งเป็นดนตรีจังหวะสามช่า
พอได้ยินแล้วก็รู้สึกว่ามันสนุกและอยากทำเพลงขึ้นมา เลยหยิบเอาจังหวะสามช่ามาใช้เป็นโครงสร้างในการทำเพลง พร้อมผสมผสานซาวด์เครื่องดนตรีของเอเชียอย่างกลองไทโกะของญี่ปุ่น และเครื่องดนตรีอื่น ๆ เข้าไปให้มีความเป็น Mixed Culture มีความนัวของซาด์มากยิ่งขึ้น
- แล้วอะไรเป็นเหตุผลที่เลือกทำเพลงนี้เป็นเวอร์ชั่นญี่ปุ่น รวมทั้งชวน Mori Calliope มาร่วมฟีทเจอร์ริ่ง
ตอนที่ทำเพลงนี้เสร็จสักพัก พอพวกเราลองฟังแล้วรู้สึกว่าเพลงนี้มันสามารถต่อยอดออกไปได้มากกว่านี้ เพราะรู้สึกว่าการเล่าเรื่องของเพลงมันให้ความรู้สึกเหมือนพากย์การ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย ที่ผ่านมาทาง Warner Music Thailand และ Warner Music Japan International ก็มีการติดต่อและทำงานด้วยกันมาเรื่อย ๆ และเพลงของ LUSS เองก็ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ฟังญี่ปุ่นค่อนข้างดี รวมทั้งพวกเราทั้งคู่ยังชื่นชอบญี่ปุ่นเป็นการส่วนตัวด้วย ดังนั้น ถ้าจะต่อยอดเลยคิดว่าลองติดต่อไปทางญี่ปุ่นด้วยก็น่าจะดีเหมือนกัน
ก่อนหน้านี้ เราได้ติดตามและลองฟังเพลงของ Mori Calliope ที่เป็น VTuber ซึ่งถือว่าเป็นอีกวงการที่ค่อนข้างใหม่สำหรับพวกเรา (และคิดว่าน่าจะใหม่สำหรับคนไทยหลายคน) เลยเกิดความสนใจอยากร่วมงานกับเธอ ซึ่งตอนแรกก็แอบกังวลว่าจะเป็นไปได้รึเปล่า แต่ด้วยความช่วยเหลือจากทางทีมญี่ปุ่น ในที่สุดก็มีโอกาสได้มีตติ้งออนไลน์กับ Mori Calliope และทีมงานของเธอ
นี่เป็นโอกาสที่ดีที่ที่ทำให้ต่างฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการทำเพลงกัน
- ประสบการณ์และความรู้สึกในการทำเพลงกับ Mori Calliope เป็นอย่างไรบ้าง หลังได้ทำงานกับทีมงานญี่ปุ่นแล้ว มีวัฒนธรรมการทำงานหรือเรื่องราวอะไรที่ทำให้รู้สึกประหลาดใจไหม
การทำงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ เพราะหลังจากที่เราติดต่อไปก็มีโอกาสได้ร่วมทำโปรเจกต์อื่น ๆ ด้วยกันอีก ทั้งเพลง Go-Getters เพลง Ending theme ประกอบอนิเมะเรื่อง Suicide Squad Isekai ซึ่งฉายทาง HBO ที่พวกเรามีโอกาสได้รีมิกซ์เป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย ที่ปล่อยออกมาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม
เพลง PAO YING CHUB! ของพวกเราที่ได้ Mori Calliope มาร่วมฟีวเจอร์ริ่งซึ่งปล่อยออกมาให้ได้ฟังกันเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา และอีกโปรเจกต์คือการที่พวกเรามีโอกาสได้ร่วมเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ทำเพลงให้กับเธอ 1 เพลงสำหรับอัลบั้มใหม่ของ Mori Calliope ที่จะปล่อยเร็ว ๆ นี้อีกด้วย
และสำหรับพวกเราที่ทำงานในฐานะศิลปินและโปรดิวเซอร์มาค่อนข้างเยอะ และคิดว่ารู้เรื่องขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดีแล้ว พอได้มาทำงานกับทางทีมญี่ปุ่นก็มีหลายสิ่งที่แตกต่างพอสมควร เช่น คำศัพท์ของไฟล์บางชนิด ขั้นตอนบางจุด หรือการที่เราต้อง Vocal Coaching ทาง Mori Calliope ผ่านทางออนไลน์แบบไม่เห็นหน้า เป็นต้น
นอกจากนั้น ทางทีมงานญี่ปุ่นเองก็น่ารักมาก ๆ ด้วย น่ารักจนเราเองก็แอบกังวลว่าจริง ๆ แล้วเป็นเพราะพวกเขาเกรงใจเรารึเปล่า อย่างตอนส่งงานเดโม่ไปให้เขาฟัง พอเขาฟังแล้วก็บอกว่าโอเคเลย ไม่มีปรับแก้สักจุด เราก็รู้สึกแปลกใจมากว่ามันโอเคจริง ๆ ใช่ไหม หรือเพราะเขาใจดีกับเรา หรือมันยังไงกันแน่นะ… (หัวเราะ)
รวมถึงเรื่องที่ถึงแม้ทางนั้นจะค่อนข้างยุ่ง แต่พอเราขอให้ปรับแก้บางจุดเพิ่มเติม เขาก็ยินดีเข้าสตูดิโอเพื่ออัดเสียงแก้ให้ใหม่ทันที นั่นทำให้พวกเราได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ เยอะมาก และถึงแม้อีกฝ่ายจะเป็น VTuber ที่อยู่ต่างแขนง ต่างวงการกับพวกเรา แต่เราก็มองว่าเธอคือศิลปินอีกคนหนึ่ง เลยมองว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่ที่ทำให้ต่างฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ในการทำเพลงกัน
- กลิ่นอายทั้งในส่วนทำนองและเนื้อเพลงของเวอร์ชั่นไทยและเวอร์ชั่นญี่ปุ่นแตกต่างกันไหม ชอบท่อนไหนของเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเป็นพิเศษที่อยากจะแนะนำให้ผู้ฟังได้ลองฟังกัน
คิดว่าค่อนข้างแตกต่างกันเลย ด้วยเสียงที่ Mori Calliope ใช้ เวอร์ชั่นญี่ปุ่นเลยจะมีกลิ่นอายของความเป็นอนิเมะและความเบียวอยู่ ชอบจังหวะเปิดท่อนของโมริที่ร้องว่า カリ様 降臨 (ท่าน Calli เสด็จแล้ว!) ที่ให้ความรู้สึกว่าจะมีคาแรกเตอร์อนิเมะปรากฏตัวออกมา มันฟังแล้วน่าสนุกดี
- พูดถึงการทำเพลง PAO YING CHUB! กันมาเยอะแล้ว อยากให้เล่าถึงประสบการณ์การเป่ายิงฉุบที่ยังคงจำได้ดีจนถึงทุกวันนี้สักหน่อย
อาจจะจำประสบการณ์การเป่ายิงฉุบวัยเด็กไม่ได้แล้ว แต่พอโตมา ประสบการณ์เป่ายิงฉุบที่เจอบ่อยที่สุดคงจะเป็นการเป่ายิงฉุบเลือกร้านอาหาร เวลาไปกินข้าวกับเพื่อนแล้วถามกันว่าจะกินอะไรดี ก็มักจะมีคนตอบว่า “กินอะไรก็ได้” ซึ่งไอ้กินอะไรก็ได้ที่ว่าเนี่ย มักจะไม่มีอยู่จริง สุดท้ายเลยจบด้วยการให้แต่ละคนเลือกร้านที่อยากกิน แล้วเป่ายิงฉุบกัน ใครชนะก็ได้กินร้านที่คนนั้นเลือก
ชอบปรัชญาและวัฒนธรรมความเป็นเซนของญี่ปุ่นที่ทำให้รู้สึกว่าได้อยู่กับปัจจุบัน
- แล้วทั้งคู่มีความสนใจอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นด้วยไหม
นอกจากอนิเมะที่ปั้นชื่นชอบแล้ว เราทั้งคู่ต่างชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นมาก ๆ ชอบทุกประเภท และมักจะตระเวนหาร้านอร่อยกินประจำ อย่างตอนไปคันไซคืออยากกินเนื้อที่โกเบมาก ๆ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดก็เลยลงทุนเช่ารถเพื่อขับไปกินเนื้อที่โกเบโดยเฉพาะ (หัวเราะ)
นอกจากนี้ ยังชอบปรัชญาและวัฒนธรรมความเป็นเซนของญี่ปุ่นที่เราสัมผัสได้ทุกครั้งเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วย มันทำให้รู้สึกว่าได้อยู่กับปัจจุบัน รู้สึกสงบในความไม่สงบ ในขณะที่โลกมันโกลาหลมาก ๆ
- งั้นถ้าให้ลองแต่งเพลงเกี่ยวกับญี่ปุ่น อยากจะลองแต่งเพลงเกี่ยวกับเรื่องอะไร
เบน: จะแต่งเพลงเกี่ยวกับซามูไรครับ เพราะส่วนตัวชอบเรื่องราวเกี่ยวกับซามูไรมาก ๆ และเกมที่เป็นอันดับหนึ่งในดวงใจก็คือ Ghost of Tsushima ที่ภาพสวย และเกม Rise of the Ronin ซึ่งเป็นเกมที่ปล่อยออกมาช่วงเดียวกันกับซีรีส์เรื่อง Shōgun พอดีเลยยิ่งรู้สึกอิน รู้สึกว่าเรื่องราวของซามูไรมันเป็นอะไรที่มีความเป็นญี่ปุ่นมาก ๆ
ปั้น: อยากแต่งเพลงที่มีเนื้อเพลงคำว่า かわいい เพราะตัวปั้นเองเพิ่งรู้ว่าคนญี่ปุ่นพูดคำคำนี้กับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอีกคำในภาษาญี่ปุ่นที่ให้ความรู้สึกหรือความหมายแฝงที่ต่างกันไปเมื่อน้ำเสียงหรือโทนเสียงต่างกัน เลยรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ น่าสนใจ และน่าจะสนุกดีถ้าเอามาทำเพลง
- นอกจากเพลง PAO YING CHUB! แล้ว แต่ละคนชอบและอยากแนะนำเพลงไหนในอัลบั้ม Is there anything on the Moon?
ปั้น: อยากแนะนำเพลงปิดอัลบั้มที่จะปล่อยออกมาหลังจากนี้อย่างเพลง “bluebutterfly” เป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาในช่วงที่เกิดความสูญเสียในชีวิตและเป็นเพลงที่แต่งเสร็จเร็วมาก มันเป็นเพลงที่เหมือนช่วยให้เราได้ระบายความรู้สึกในตอนนั้นออกไป และทำให้รู้สึกได้ใกล้ชิดกับคนคนนั้นมากขึ้น เป็นเพลงที่ถึงแม้จะเศร้าแต่ก็เป็นเพลงที่สวยงามด้วยเช่นกัน เลยอยากแนะนำให้ทุกคนได้ลองฟังกัน
เบน: อยากแนะนำเพลงเปิดที่จะปล่อยพร้อมกับอัลบั้ม ชื่อเพลงว่า “เจ้ากระต่ายน้อย” (Tale of the bunny) เป็นเพลงที่มีความยิ่งใหญ่อยู่ในตัว ที่พอทุกคนฟังแล้วรู้สึกว่าต้องเป็นเพลงนี้แหละที่ใช้เป็นเพลงเปิดอัลบั้ม ด้วยชื่อเพลงแล้วอาจจะคิดว่าเป็นเพลงน่ารัก แต่จริง ๆ มันเป็นเพลงที่เล่าเรื่องของกระต่ายที่มีความฝันและไม่มีใครจะมาหยุดฝันนั้นได้ พอรวมกับซาวด์ รวมกับคอรัสที่ใส่การร้องประสานเสียงเข้าไป มันเลยมีความยิ่งใหญ่ที่เป็นเหมือนหนังเรื่องหนึ่งในรูปแบบของเพลง
และนี่คือเบื้องหลังการทำเพลง PAO YING CHUB! และมุมมองต่าง ๆ ทั้งเรื่องเพลงและเรื่องส่วนตัวที่น่าสนใจของ LUSS คู่ดูโอ้มากความสามารถที่มีโอกาสได้ทำเพลงกับ Mori Calliope วีทูปเบอร์ชื่อดังค่าย hololive production จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง PAO YING CHUB! เป็นเพลงที่ศิลปินแต่ละคนที่มาร่วมฟีทเจอร์ริ่งด้วยนั้นได้ถ่ายทอดความเป็นตัวของตัวเองลงไปในบทเพลงด้วย จึงทำให้เสน่ห์แตกต่างกันไปในแต่ละเวอร์ชั่น
นอกจากนี้ อัลบั้มเต็มของพวกเขาที่มีชื่อว่า “Is there anything on the Moon?” ที่ใส่ตัวตนของพวกเขาลงไปแบบเต็ม ๆ ไม่มีกั๊ก ทำกันเองทุกเพลง และมีหลากหลายแนวก็จะปล่อยออกมาให้ได้ฟังกันในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้เช่นกัน
ถือเป็นอีกศิลปินที่เตะตาซีนดนตรีประเทศญี่ปุ่นและน่าติดตามมาก ๆ อัลบั้มใหม่ของ LUSS ที่จะปล่อยเร็ว ๆ นี้จึงเป็นอีกอัลบั้มที่ไม่ควรพลาดเลย!
ฟังเพลง PAO YING CHUB!
https://luss.lnk.to/PaoYingChub_drinkinWithMoriCalliope
ติดตามและเป็นกำลังใจให้ LUSS ได้ทาง
YouTube / TikTok / Facebook / Instagram
อ่าน “Yuto Horigome กับความมุ่งมั่นคว้าชัยโอลิมปิกที่ปารีส แม้โอกาสจะมีเพียง” คลิก