
“Unnatural” สำรวจงานนิติเวชและพิธีศพของชาวญี่ปุ่นผ่านซีรี่ส์สืบสวน
Unnatural (アンナチュラル) คือ ซีรี่ส์สอบสวนคดีการตายผิดธรรมชาติผ่านกระบวนการผ่าศพทางนิติเวชศาสตร์ (Forensic Autopsy) ตัวเอกของเรื่อง คือ มิซุมิ มิโคโตะ (รับบทโดย ซาโตมิ อิชิฮาระ) เป็นพนักงานของแล็บ UDI (Unnatural Death Investigation Laboratory) หน่วยงานสืบสวนและชันสูตรพลิกศพการตายผิดธรรมชาติที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล
หน่วยงานนี้เพิ่งก่อตั้งได้ 2 ปี จึงเป็นหน่วยงานน้องใหม่แต่ทันสมัยที่งานด้านกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นยังไม่ค่อยคุ้นเคยนัก ซีรี่ส์นี้จะแสดงให้เราเห็นว่านิติเวชศาสตร์ หรือ การใช้ความรู้ทางการเพทย์เพื่องานด้านกฎหมายนั้นมีความสำคัญขนาดไหน และการันตีด้วยการกวาดรางวัลมาแล้วกว่า 6 รางวัล รวมถึง Excellent Award ใน International Drama Festival in Tokyo 2018 ก็ยิ่งบอกได้เลยว่าซีรี่ส์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องได้ดีขนาดไหน
แม้ว่า UDI Lab จะไม่ได้มีอยู่จริงก็ตาม แต่ในจุดนี้ ตัวซีรี่ส์พยายามสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น นั่นคือสถิติการผ่าชันสูตรพลิกศพ (autopsy) ที่กำลังลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงต้นปี ค.ศ.2000 การชันสูตรเพื่อใช้หาสาเหตุการตายที่แท้จริงอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ของการตายทั้งหมดในประเทศเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่น้อยมากสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในปี ค.ศ.2011 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (National Police Agency: NPA) ออกมายอมรับว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 มีฆาตกรที่รอดพ้นข้อกล่าวหาถึง 43 ราย เพราะการระบุสาเหตุการตายว่าเป็นการฆ่าตัวตายหรือเสียชีวิตตามธรรมชาติ ในปี ค.ศ.2012 รัฐบาลจึงผ่านกฎหมายสืบสวนการตายและจัดตั้งคณะกรรมาการเพื่อโปรโมทการสืบสวนเพื่อหาสาเหตุการตาย UDI Lab ของซีรี่ส์เรื่องนี้จึงอาจเป็นความพยายามหนึ่งในการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเห็นภาพการทำงานด้านนี้มากขึ้นนั่นเอง
เรียนรู้ลำดับพิธีศพของญี่ปุ่น เพื่ออรรถรสในการชมซีรีส์
แต่ละตอนของซีรี่ส์นั้นสนุกและตื่นเต้นชวนลุ้น ทุกตอนร้อยเรียงโดยมีเส้นเรื่องใหญ่เชื่อมโยงทั้ง 10 ตอนเข้าด้วยกัน และยิ่งประกอบกับที่เพลง Lemon ของ Kenshi Yonezu ที่จู่ ๆ ก็มีกระแสกลับมาฮิตในหมู่ชาวต่างชาติอีกครั้งเป็นเพลงประกอบละคร ใครที่ได้ยินได้ฟังเพลงนี้อีกครั้งในซีรี่ส์ก็คงยิ่งฟินไปกันอีก
แต่พอเป็นซีรี่ส์แนวนี้ ฉากส่วนใหญ่ก็จะดำเนินเรื่องที่แล็บผ่าศพ ที่เกิดเหตุ โรงพยาบาล งานศพ เป็นหลัก ในตอนที่ 1 ของซีรี่ส์ ทุกคนจะได้ผ่านตาสถานที่จัดงานศพหลากหลายแบบ และคงจะนึกสงสัยอยู่ในใจว่าทำไมถึงมีหลายแบบเหลือเกิน (น่าจะมีคนสงสัยเหมือนผู้เขียนอยู่บ้างมั้ง) เราจะมาเรียงลำดับพิธีศพของญี่ปุ่นให้ฟังคร่าว ๆ เผื่อจะช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจบริบทและติดตามดูซีรี่ส์ได้อย่างสนุกมากยิ่งขึ้น
เมื่อมีผู้เสียชีวิต ครอบครัวจะจัดพิธีร่ำลาในคืนก่อนงานศพ เรียกว่า “ทสึยะ-ชิกิ” (通夜式, Tsuya-shiki) หรือแปลตรงตัวหมายถึง พิธีเพื่อการผ่านค่ำคืน โดยมักจะเช่า Funeral Hall เพื่อจัดพิธีให้ญาติพี่น้องและคนรู้จักเข้ามาแสดงความเสียใจ ในงานนี้ที่ญี่ปุ่นมีธรรมเนียมให้ซองเหมือนประเพณีไทย เรียกว่า “บุชูกิบุคุโระ” (不祝儀袋, busyugibukuro) แต่จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ “โกะเรเซ็น” (御霊前, goreizen) ซองที่ให้ก่อนเผา และ “โกะบุทสึเซ็น” (御仏前, gobutsuzen) ซองที่ให้หลังเผา
เมื่อผ่านคืนแรกไปแล้ว วันที่สองจึงเป็นการจัดงานศพ เรียกว่า “โอะโซชิกิ” (お葬式, Osoushiki) โดยมีลำดับขั้นตอนดังนี้ พิธีวางดอกไม้ใส่โลงและพบหน้าผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย เรียกว่า “โคคุเบ็ทสึ-ชิกิ” (告別式, kokubetsushiki) คือ พิธีจากลา แล้วจึงเคลื่อนย้ายร่างไปยัง Memorial Hall เพื่อจัดพิธีเผา เรียกว่า “คะโซ-ชิกิ” (火葬式, kasou-shiki) ซึ่งในซีรี่ส์จะเห็นสถานที่สำหรับเผาศพ และรูปที่ตั้งอยู่หน้าเตาเผา รวมถึงยังแสดงให้เห็นห้องด้านหลังเตาเผาศพอีกด้วย พิธีการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อเผาเสร็จสิ้นจะเป็นพิธีเก็บกระดูก เรียกว่า “ชูโคทสึ” (収骨, shyuukotsu)
หลังจากเก็บกระดูกใส่ภาชนะเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ครอบครัวจะต้องนำกลับบ้านคือ อัฐิ ( 遺骨, ikotsu) ป้ายวิญญาณ (位牌, ihai) และ รูปภาพ กลับไปตั้งที่บ้านเป็นเวลา 49 วัน จึงจะสามารถเคลื่อนย้ายไปยังสุสานหรือสถานที่เก็บที่ตนต้องการได้
遺骨・位牌・写真
นี่เป็นเพียงประเด็นน่าสนใจที่ผู้เขียนสังเกตเห็นจากตอนที่ 1 เท่านั้น ซึ่งพิธีศพของชาวญี่ปุ่นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่แฝงทั้งความเรียบง่ายดั้งเดิม เพิ่มสไตล์สมัยใหม่ และมีความเป็นโปรเฟสชั่นนัลตามฉบับสังคมที่เน้นความเป็นระบบ เราจะพบว่าแม้จะเป็นงานศพตามความเชื่อแบบพุทธศาสนา แต่ก็แตกต่างจากของไทย ชวนให้น่าค้นคว้าเพิ่มเติมไม่น้อย
ท้ายที่สุดซีรี่ส์เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความรักที่คละเคล้าไปกับความเศร้าของผู้ที่สูญเสียคนที่รักไป การมีชีวิตก็คงชุ่มฉ่ำเปรี้ยวหวาน ส่วนความตายก็คงเป็นกลิ่นขมของเลมอน และการจากลาก็คงเปรียบได้กับผลไม้คนละครึ่งซีกเหมือนที่ Kenshi Yonezu บอกไว้ในเพลง
อ้างอิง
Ikegaya, H. Update forensics for deaths in Japan. Nature 507, 306 (2014)
Ai Faithy Perez. (2014). The Complicated Rituals of Japanese Funerals
お葬式にはどれくらいの時間がかかる? 葬儀のタイムスケジュール
“เราจะได้เจออะไรบ้างในพิธีแต่งงานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น” คลิก
“Hanzawa Naoki กับวัฒนธรรมการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น” คลิก