
“Hanzawa Naoki” กับวัฒนธรรมการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น
“Hanzawa Naoki” หรือชื่อภาษาไทยคือ “เฉือนคมนายธนาคาร” เป็นละครโทรทัศน์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายเกี่ยวกับชีวิตวัยทำงานของ “ฮันซาวะ นาโอกิ” นายธนาคารประจำธนาคารใหญ่ “โตเกียวจูโอ” ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของการเป็นนายธนาคารที่ดีและมีคุณธรรม แต่ก็ต้องประสบปัญหาไม่ลงรอยกับระดับบนของบริษัทที่เข้าไปเอี่ยวกับการทุจริตและเกมการเมืองภายในบริษัท
นำแสดงโดยซากาอิ มาซาโตะ (Sakai Masato) นักแสดงชื่อดังที่ทุกคนคุ้นหน้าคุ้นตาจากละครเกี่ยวกับอาชีพหลายเรื่องเช่น Legal High, Dr. Rintaro และเรื่อง “ฮันซาวะ นาโอกิ” นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานสร้างชื่อด้วยเรตติ้งเฉลี่ย 28.7% และเรตติ้งขณะฉายตอนสุดท้ายสูงถึง 42.7% ในภาคแรก (ค.ศ.2013) และแม้ภาค 2 จะฉายในปี ค.ศ.2020 ที่แนวโน้มของผู้รับชมสดทางโทรทัศน์อาจจะเริ่มลดลงไปแล้วนั้น แต่ละครก็ยังคงเรียกกระแสได้เฉลี่ยที่ 24.7% เรียกได้ว่าเป็นละครดังที่คนญี่ปุ่นมากมายตั้งตารอชมเลยทีเดียว
อะไรที่เราจะได้เห็นจากเรื่อง “เฉือนคมนายธนาคาร” บ้าง?
ประเด็นหลักของละครเรื่องนี้จะอยู่ที่ธนาคารใหญ่ที่เกิดจากการควบรวมสองธนาคารเข้าด้วยกันและมีประวัติยาวนาน โดยช่วงเวลาที่ฮันซาวะทำงานอยู่เป็นยุคหลังฟองสบู่แตกปี ค.ศ.1997 ที่หลายกิจการประสบปัญหาทางการเงิน เศรษฐกิจต้องเร่งฟื้นฟูตัวเองใหม่ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ลงตัวมากที่จะทำให้เราได้มีโอกาสจับตามองและเรียนรู้ “จุดเด่น” ด้านวัฒนธรรมการทำงานของบริษัทญี่ปุ่นจากละครเรื่องนี้
“ความจงรักภักดี” ต่อบริษัท
หลายคนที่ได้เห็นการทำงานของพนักงานบริษัทญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นกระสบการณ์ตรงหรือจากละครก็ดี จะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นจริงจังและให้ความสำคัญกับบริษัทของตัวเองมาก เรียกได้ว่าหายใจเข้าออกเป็นงาน อย่างในเรื่องนี้ ที่เราจะได้เห็นฮันซาวะทำงานอยู่ตลอดเวลา ต่อให้เลิกงานแล้ว แต่ช่วงหลังช่วงเวลาออฟฟิศ เขาก็ยังคงนั่งปรึกษาปัญหาที่เจอในการทำงานกับเพื่อนร่วมงานในระหว่างกินดื่มสังสรรค์อยู่ดี ซึ่งการกินดื่มสังสรรค์ที่เราเห็นได้ชัดในสังคมการทำงานของคนญี่ปุ่นนี้ ภาษาญี่ปุ่นเรียก “โนมิไค” (飲み会) นั่นเอง
*หมายเหตุ* โนมิไค คือการกินดื่มสังสรรค์ทุกรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องสังสรรค์หลังเลิกงาน การกินดื่มสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ก็เรียกโนมิไคเช่นกัน
ภาพประกอบ : Sponichi Annex
ในละครเรื่องนี้ เราจะได้เห็นวัฒนธรรมอีกอย่างคือ การกราบ หรือภาษาญี่ปุ่นคือ “โดเกสะ” (土下座 ) เป็นการคุกเข่าก้มตัวลง แบมือออก และก้มศีรษะลงให้หน้าผากติดกับพื้น มีความหมายคล้ายกับการกราบของไทย ที่เปรียบได้กับการยอมลดศักดิ์ศรีของผู้ก้มศีรษะเพื่อแสดงความขอโทษ ขอร้อง และยกย่องอีกฝ่ายให้มีสถานะทางสังคมสูงกว่า หากผู้ที่คุกเข่าลงไปไม่ได้เต็มใจหรือฝืนทน จะถือเป็นอีกหนึ่งฉากที่อิมแพคผู้ชมมาก หลายคนน่าจะคิดว่า “ต้องยอมกันขนาดนี้เลยเหรอ”
“เพื่อความอยู่รอดของบริษัทและชีวิตการทำงาน ต่อให้จำใจก็ต้องยอมคุกเข่าขอโทษซะ”
ภาพประกอบ : TBS
ซึ่งในชีวิต “การทำงาน” ของนายฮันซาวะ แม้ตนจะไม่ได้เต็มใจ แต่หากทำให้ลูกค้ารายใหญ่ที่มีอำนาจทางสังคมไม่พอใจขึ้นมาแล้วล่ะก็ ตนที่เป็นลูกน้องก็ต้องยอมคุกเข่าเพื่อรักษาบริษัทไว้ก่อน ไม่ยอมให้ประธานบริษัทของตนเอง (ในภาพนั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้านใน) ต้องมาทำอะไรที่ดูไม่งาม
หากถามหาเหตุผลว่าอะไรทำให้วัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นต้องเข้มข้นถึงขนาดนี้ อาจเชื่อมโยงได้จากทั้งลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นในภาพรวมที่จริงจัง ยึดถือความเป็นกลุ่มเป็นหนึ่งเดียวกันไม่แตกแถว หรือหลายคนอาจย้อนไปไกลถึงวิถีซามูไรที่ถวายตนเพื่อหัวหน้า
“การจัดการบุคลากร” ในแบบของบริษัทญี่ปุ่น
อีกหนึ่งวัฒนธรรมการทำงานหนึ่งที่โดดเด่นไม่เหมือนประเทศอื่น ๆ และยังเป็นปัจจัยสำคัญว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับงานมาก ๆ ด้วยนั่นก็คือ การจัดการบุคลากร
การทำงานของญี่ปุ่นและไทย เรียกได้ว่าต่างกันชัดเจนตั้งแต่ก้าวแรกที่ยังไม่ได้เริ่มเข้าบริษัท สำหรับประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ มักตั้งคำถามกันว่า “เรียนจบแล้วไปทำงานอะไรต่อ หรือไปทำงานด้านไหนต่อ” ตำแหน่งงานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเลือกสมัครงานของคนไทย เช่น คนที่เรียนจบการตลาดหรือบัญชี ก็จะมองหาบริษัทที่เปิดรับในตำแหน่งนั้น ๆ เป็นต้น
แต่นั่นไม่ใช่กับเด็กจบใหม่ในญี่ปุ่น
ภาพประกอบ : Asahi Newspaper
บัณฑิตจบใหม่ในญี่ปุ่นจะ “เลือกบริษัท” ที่ตนเองอยากเข้าไปทำงาน โดยไม่สนใจตำแหน่ง เพราะไม่ว่าคุณจะจบอะไรมา การเริ่มต้นทำงานของพนักงานใหม่ก็จะเริ่มต้นพร้อมกันในช่วงเดือนเมษายน และทุกคนก็จะได้เริ่มทำงานในตำแหน่งงานระดับล่างก่อน เพื่อเป็นการเรียนรู้ทักษะและวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร จากนั้นฝ่ายบุคคลจึงจะเป็นฝ่ายจัดสรรให้ว่า พนักงานใหม่คนนี้ลักษณะนิสัยหรือความถนัดเหมาะกับงานตำแหน่งไหน
ดังนั้นในช่วงมีการรับสมัครงาน บรรยากาศก็จะคล้ายกับการวนไปเป็นเด็กมัธยมปลายที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง มีการเก็งข้อสอบสัมภาษณ์ หรือการใบ้ว่าตอบแบบใดจะโดนใจบริษัทแนวไหนบ้าง ยิ่งบริษัทใหญ่ก็จะเป็นแหล่งรวมของเด็กมหาวิทยาลัยชื่อดัง และเมื่อเข้าทำงานในบริษัทที่ต้องการได้แล้ว ส่วนน้อยมากที่จะลาออกหรือย้ายไปทำงานที่บริษัทอื่น
ไม่ลาออก และ ไม่ให้ออก
แม้ว่าจะมีกฎระเบียบในการไล่ออกหรือการเลิกจ้างกรณีที่พนักงานที่กระทำผิดร้ายแรงอยู่ก็ตาม แต่อย่างในละครเรื่องฮันซาวะนี้ พนักงานที่ผิดพลาดในการทำงานจนเราคิดว่าต้องถูกไล่ออกแน่ ๆ กลับยังแวะเวียนเข้ามาในฉากเพื่อประมือกับตัวเอกอย่างหน้าตาเฉย
เป็นเพราะการจัดการบุคลากรของญี่ปุ่นโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ที่มีบทลงโทษอีกรูปแบบคือ “การสั่งย้าย” คนที่ทำผิดพลาดหรืออยู่บริษัทแม่ต่อไปไม่ได้ให้ไปทำงานที่บริษัทลูกแทน (พระเอกของเราก็เคยถูกย้ายจากธนาคารโตเกียวจูโอ ไปอยู่บริษัทหลักทรัพย์โตเกียวเซ็นทรัลเช่นกัน) หรือหากแย่กว่านั้น อาจโดนย้ายให้ไปทำงานตามสาขาที่อยู่บ้านนอก หรือสาขาในต่างประเทศแทน และพนักงานก็ต้องจำยอมย้ายสถานที่ทำงานไป เพียงเพื่อให้ได้ทำงานกับบริษัทเครือเดิม
(ว่าแล้วก็หันมาสงสัยเจ้านายคนญี่ปุ่นของตัวเองแวบหนึ่ง ขอถามได้ไหมคะว่าทำไมถึงได้มาทำงานบริษัทลูกที่ไทย…)
แต่อย่าเพิ่งตกใจไป! คนที่ถูกย้ายไม่ใช่ว่าจะโดนย้ายเพราะกระทำความผิดเสมอไป การย้ายสาขายังมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ย้ายเพื่อให้ไปช่วยกอบกู้บริษัทลูก หรือเพื่อเรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ แบบในละครเรื่องนี้ก็มีอยู่เช่นกัน
ในสังคมไทย เราอาจใช้คำว่า “First Jobber” สำหรับเด็กจบใหม่ที่ทำงานที่แรก และเป็นเรื่องปกติที่จะย้ายไปทำงานที่อื่น เพื่อเพิ่มเงินเดือนหรือเปลี่ยนสายงาน แต่คงใช้ไม่ได้กับคนญี่ปุ่นหลายคนที่ “First Job” นั้นอาจจะเป็น “Last Job” สำหรับพวกเขาด้วยก็เป็นได้
“No Working After Hours! กับการส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นลดการทำงานล่วงเวลา” คลิก
“ไทกะ ละครย้อนยุคระดับชาติของญี่ปุ่น” คลิก