วันก่อนไปเจอนั่น วันนี้มาเจอนัล
journal
“I never wrote things down to remember;
I always wrote things down so I could forget.”
― Matthew McConaughey, Greenlights
หลายคนจดบันทึกเรื่องราวเพื่อให้พวกเขาสามารถจดจำเรื่องราวเหล่านั้นได้ดีขึ้น หลายคนจดบันทึกเพื่อให้พวกเขาสามารถลืมเรื่องราวต่าง ๆ ไปได้ชั่วขณะและกลับมาย้อนความทรงจำได้เมื่อยามโหยหาอดีต ช่วงนี้กระแสการเขียนเจอนัลกำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะการเขียน “บูโจ” (Bujo) ซึ่งย่อมาจาก Bullet Journal แพลนเนอร์ซึ่งหลายคนใช้เป็นตัวช่วยสำหรับการวางแผนชีวิตให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น เราเองที่ชื่นชอบการจดบันทึกและตกแต่งเจอนัลมาแต่ไหนแต่ไร พอได้เห็นไอเดียการเขียนหรือการตกแต่งเจอนัลของหลาย ๆ คนแล้วก็ทำให้มีแรงฮึดอยากจะเขียนด้วยเช่นกัน วันนี้จึงขอมาแบ่งปันไอเดียกับคุณผู้อ่านด้วยอีกคน
เขียนทำไม?
เขียนทำไม? นี่ไม่ใช่ประโยคหาเรื่องนะ แต่สำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นเขียนเจอนัลนั้น เราคิดว่าต้องถามตัวเองให้ดีก่อนว่าจะเขียนไปเพื่ออะไร ถ้าเขียนเพราะเห็นคนอื่นเขียนเฉย ๆ ไม่ได้สนใจหรืออยากจะเขียนจริง ๆ สุดท้ายแล้วก็อาจจะเลิกเขียนไปในที่สุด ทิ้งไว้เพียงสมุดที่มีกระดาษหน้าเปล่าเหลืออยู่มากมาย (เสียดายกระดาษเปล่า ๆ) อย่างสำหรับเราเองที่แรกเริ่มสมัยวัยรุ่นใส ๆ อยากจะบันทึกเรื่องราววัยใสก็เริ่มจากการเขียนไดอารี่บันทึกเรื่องราวแต่ละวัน แต่ก็ไม่รอด! เลิกเขียนไปเพราะบางวันไม่มีเรื่องราวให้เขียน เลยมองว่าถ้าตั้งใจจะเขียนทุกวันในตอนแรกแล้วเขียนไม่ได้ก็ไม่เขียนดีกว่า (ความคิดในวัยเยาว์น่ะนะ)
หลังจากมองว่าไดอารี่ไม่เวิร์คสำหรับตัวเอง ด้วยความที่อยากฝึกวาดรูปจึงลองวาดรูปวันละรูปในสมุดบันทึกดู แต่ก็ไม่รอดอีกนั่นแหละ ช่วงเกือบ 10 ปีก่อนหน้านี้ ตอนที่ตัดสินใจจะเขียนบันทึกแบบจริงจัง แบบที่กระดาษในสมุดทุกหน้าต้องใช้ให้หมดนั้น เลยถามกับตัวเองว่าที่อยากจะเขียน จะเขียนเรื่องอะไร เขียนทำไม เขียนเพื่อ…
และหลังจากที่ทะเลาะกับตัวเองจบก็ได้คำตอบว่าฉันจะเขียนทุกอย่างลงในสมุดเล่มเดียว เขียนบันทึก (ไม่) ประจำวัน เขียนรีวิวหนังที่ชอบ เพลงที่ใช่ ทริปที่ออกเดินทาง คนที่ไปเจอ โมเม้นท์สำคัญ ผู้ชายที่เราติ่ง เป้าหมายที่ตั้งใจในแต่ละปี ตารางชีวิตแต่ละเดือน ความรู้และไอเดียต่าง ๆ ฝึกวาดรูป ก็คือเขียนทุกอย่างแบบทุกอย่างจริง ๆ โดยที่ไม่กดดันตัวเองให้ต้องเขียนทุกวัน แต่ต้องเกิดความสม่ำเสมอ เช่น เขียนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นการพักผ่อน พอตัดสินใจได้แบบนั้นแล้วก็รู้สึกสบายใจขึ้น จึงค่อยเริ่มต้นเขียนเจอนัล
สรุปว่าเวิร์คเว้ย! ตลอด 10 ปีมานี้คือเขียนตลอด จดบันทึกไปเรื่อย ๆ จนกว่าสมุดแต่ละเล่มจะหมด บางเล่มเขียนหมดภายในครึ่งปี บางเล่มเขียนหมดตอนครบปีพอดี หรือบางเล่มก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปีถึงจะเขียนหมด เปิดกรุดูอีกทีก็เห็นกองสมุดเจอนัลนอนเบียดเสียดกันอยู่ รอให้เราได้หยิบมาอ่านเล่นเวลาอยากย้อนอดีต
ใช้สมุดแบบไหน?
หลายคนน่าจะมีคำถามว่าแล้วจะใช้สมุดแบบไหนในการจดบันทึกดี เราว่าต้องลอง! แต่ก็ต้องถามตัวเองอีกนั่นแหละว่าจะจดบันทึกแบบไหน เขียนอย่างเดียว หรือจะแปะโน่นนี่นั่นด้วย จะวาดรูปแล้วใช้สีประเภทไหน จะใช้ปากกาแบบไหน ชอบกระดาษเนื้อสัมผัสแบบไหน ไม่จำเป็นต้องใช้สมุดยี่ห้อแพง ๆ บันทึกก็ได้ สมุดหลักสิบหรือร้อยต้น ๆ ก็เวิร์คได้เหมือนกัน สำหรับเราแล้วที่ใช้วิธีหลากหลายและไม่ชอบให้ข้อความของอีกหน้ามันซ้อนกับอีกหน้าจึงเน้นที่ตัวกระดาษเป็นหลัก กระดาษที่ไม่บางจนเกินไป เขียนแล้วซับหมึกได้ดี หมึกไม่ทะลุหน้ากระดาษ ไม่ชอบให้มีเส้น แต่ก็สายตาเอียงเลยต้องเลือกเป็นกระดาษแบบเส้นกริดรอยประบาง ๆ เอาเป็นว่าถ้าไม่ชอบเล่มที่ซื้อมา หลังเขียนจนเต็มแล้วก็ค่อยเปลี่ยนยี่ห้อใหม่รอบต่อไปก็ได้
ส่วนถ้าใครมีงบประมาณสำหรับการซื้อสมุดบันทึก ยี่ห้อของญี่ปุ่นที่แนะนำก็คงจะเป็น MIDORI และ TRAVELER’S ซึ่งได้รับความนิยมในวงกว้างของชุมชนคนเขียนเจอนัล หรือใครที่ต้องการสมุดแพลนเนอร์เลยก็ต้องเป็น Hobonichi Techo แต่ส่วนตัวที่เราชื่นชอบและใช้มาแล้วหลายเล่มคือยี่ห้อของคนไทยที่มีชื่อว่า Grey Ray
เขียนอะไรดี ตกแต่งอย่างไรดี?
สำหรับมนุษย์ชอบแปะปะ ชอบเยอะ ๆ แบบเราแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งเจอนัลก็คือเยอะแยะมากมาย
ซึ่งอุปกรณ์หลัก ๆ ที่ใช้ก็จะมี
– สติกเกอร์ลวดลายต่าง ๆ
– Masking Tape หลากสี หลายลาย
– ดินสอและปากกาชนิดต่าง ๆ เช่น ปากกาตัดเส้น ปากกาสีหัวพู่กัน ปากกาเมจิก ดินสอสี ฯลฯ
– กระดาษสี กระดาษลายเส้น กระดาษตกแต่งซึ่งเป็นกระดาษรียูสที่นำมาจากหนังสือเก่าหรือนิตยสารเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว
– รูปถ่ายต่าง ๆ (ใช้วิธีปริ้นท์ หรือโพลารอยด์)
– อื่น ๆ เช่น ตั๋วหนัง บัตรคอนเสิร์ต ตั๋วเครื่องบิน ตั๋วรถไฟ บัตรเข้าชมต่าง ๆ เป็นต้น
แล้วเขียนอะไรดี? อันนี้เราว่าเขียนได้หมด ตั้งแต่วันนี้ตื่นสายยันพรรณาโวหาร กลอน 4 กลอน 8 ก็ว่าไป สิ่งที่เราบันทึกหลัก ๆ คือ
– ปฏิทินแต่ละเดือน เพื่อบันทึกวันสำคัญต่าง ๆ ในชีวิตส่วนตัวของเดือนนั้น ๆ ในลักษณะบันทึกสั้น ๆ
– รีวิวหนัง ซีรีส์ หนังสือ
– รีวิวเพลงและคอนเสิร์ตที่ไปดู
– บันทึกทริปท่องเที่ยว
– บันทึกประโยคที่ชอบจากบทความที่อ่านเจอ
– ความรู้ใหม่ ๆ
นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องดี ๆ ที่ได้เจอมา เรื่องราวที่กังวลอยู่ แพลนในอนาคตที่ตั้งจะทำให้ได้ หรือ Wish List เป็นต้น
และนี่คือไอเดียเบื้องต้นสำหรับคนอยากเริ่มเขียนเจอนัล หวังว่าพอจะช่วยเปิดประสบการณ์ให้คนที่อยากจะเริ่มเขียนเจอนัลได้บ้างน้าาา
เรื่อง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
ภาพ : Ma-een
“ไอเดียแต่งห้องเท่ๆ สไตล์ Shuhei Uesugi ที่แม้แต่ผู้หญิงก็ทำตามได้” คลิก