เรื่องราวหลากหลายแง่มุมในงานเสวนาวรรณกรรมกับ Fuminori Nakamura

เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ดาโกะมีโอกาสได้เข้าร่วมงานเสวนาวรรณกรรมกับคุณฟุมิโนริ นากามุระ (Fuminori Nakamura) นักเขียนรางวัลอาคุตางะวะ* ที่วรรณกรรมเรื่องล่าสุดของเขา “นกต่อ” ได้ถูกแปลเป็นฉบับภาษาไทยและได้ออกสู่สายตานักอ่านชาวไทยเป็นครั้งแรกในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ที่ผ่านมา ดาโกะจึงได้เก็บภาพบรรยากาศและเรื่องราวหลากหลายแง่มุมจากงานเสวนาวรรณกรรมมาฝากคุณผู้อ่านด้วย

รางวัลอาคุตางะวะ ก่อตั้งในปีโชวะที่ 10 (ค.ศ. 1935) โดยคิคุจิ คัง นักประพันธ์และนักข่าวผู้มีชื่อเสียงในยุคเมจิ โดยตั้งชื่อรางวัลตามชื่อของริวโนะสุเกะ อาคุตางะวะ เพื่อนของเขาผู้เสียชีวิตไปในปีโชวะที่ 2 (ค.ศ. 1927) โดยมีความตั้งใจที่จะมอบรางวัลนี้ให้กับงานเขียนประเภท “วรรณกรรมบริสุทธิ์ (純文学)” ซึ่งหมายถึงววรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจต่างๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้วรรณกรรมนั้นทรงคุณค่าในทางใดเป็นพิเศษ ผู้แต่งเพียงแต่งขึ้นตามความปรารถนาในอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura


จุดเริ่มต้นในการเป็นนักเขียน


ด้วยชีวิตในวัยเด็กที่ไม่ได้มีความสุข ความสัมพันธ์กับเพื่อนไม่ดีมากนัก จึงต้องแสร้งว่าตนเข้มแข็งเพื่อไม่ให้ถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่รู้สึกแสร้งว่าเข้มแข็งไม่ไหวอีกต่อไป เขาจึงตัดสินใจหยุดไปโรงเรียนในช่วงชีวิตมัธยมปลาย และระหว่างที่หยุดเรียน คุณนากามุระก็มีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง “สูญสิ้นความเป็นคน” ผลงานชิ้นเอกของคุณโอซามุ ดะไซ เขารู้สึกเหมือนได้อ่านเรื่องราวของตนเอง จึงได้รับรู้ว่าในโลกนี้ไม่ได้มีเฉพาะเขาที่กำลังเศร้าหรือมีชีวิตที่หม่นหมองเพียงคนเดียว เขาจึงเริ่มอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วยในเวลาต่อมา

คุณนากามุระยอมรับว่าตัวเขาเองนั้นใช้ชีวิตค่อนข้างกลัวและหวาดระแวงผู้คน หนังสือก็เหมือนสิ่งที่ช่วยทำให้เขายังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง หนังสือนั้นก็เป็นผลผลิตจากการเขียนของคน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วสิ่งที่ช่วยชีวิตเขาไว้ก็คือคนนั่นเอง เขาจึงเริ่มให้ความสนใจเรื่องของการเขียนวรรณกรรม การเขียนหนังสือ จึงเริ่มอ่านวรรณกรรม ทั้งวรรณกรรมญี่ปุ่นและวรรณกรรมต่างประเทศมากขึ้น และเมื่อมองถึงอนาคตของตนเองจึงตัดสินใจที่จะลองเขียนงานวรรณกรรมดู เพราะครั้งหนึ่งในชีวิต หากได้ลองทำอะไรที่ตัวเองสนใจก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura


แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน


เวลาที่เขียนงานสักเรื่อง คุณนากามุระมักจะคิดถึงแต่เรื่องนั้นๆ อยู่เรื่องเดียว เพราะเขาเคยมีโอกาสได้พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสมอง ได้เล่าให้คุณนากามุระฟังว่าการหมกมุ่นหรือคิดถึงแต่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลานานๆ จะทำให้ไอเดียที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เกิดได้มากขึ้น ซึ่งสำหรับการทำงานนักเขียน เวลาที่เขาคิดอะไรออกหรือมีไอเดียอะไรก็จะทำการเขียนบันทึกลงในสมุด และเพื่อให้ได้ไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่องานเขียนของเขาได้มากขึ้น คุณนากามุระก็จะพยายามเลือกสมุดโน้ตสำหรับจดบันทึกให้เหมาะสมกับเรื่องที่เขากำลังเขียนอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น สมุดบันทึกไอเดียเรื่อง “นักล้วง” ลวดลายของสมุดโน้ตก็จะเป็นบรรยากาศต่างประเทศ มีหอคอยอยู่ในภาพ (ซึ่งในเรื่องมีการเปรียบเทียบหอคอยให้เปรียบเสมือนเงาที่คอยคืบคลานตามหลัง) และให้ความรู้สึกระทึกขวัญหน่อยๆ

หรือสำหรับสมุดโน้ตที่ใช้เขียนเรื่อง “นกต่อ” เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง จึงเลือกใช้สมุดโน้ตที่มีความเป็นผู้หญิงในการจดบันทึก โดยหน้าปกเป็นภาพวาดรองเท้าส้นสูง ผลงานของ Andy Warhol รวมทั้งด้านในสมุดโน้ตแต่ละหน้าก็มีรูปรองเท้าส้นสูงอยู่ด้วยเช่นกัน เป็นการช่วยให้เราโฟกัสอยู่กับเรื่องที่เขียนอยู่ตลอดเวลาและเปิดโอกาสให้ไอเดียใหม่ๆ พุ่งเข้ามา

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura


สำหรับผมแล้ว “ประโยคเปิดเรื่องถือเป็นสิ่งสำคัญ”


เพราะประโยคเปิดนั้นค่อนข้างสำคัญ คุณนากามุระจึงให้ความใส่ใจกับประโยคเปิดเป็นพิเศษ อย่างประโยคเปิดเรื่อง “นกต่อ” ที่ว่า “ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะที่รู้ว่าจะไม่มีวันได้ในสิ่งที่อยากได้มากที่สุด” ที่แรกเริ่มเดิมทีเขาตั้งใจให้วรรณกรรมเล่มนี้เป็นเล่มพี่น้องกับเรื่อง “นักล้วง” แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้เป็นเล่มที่อ่านแยกกันได้ด้วย เขาจึงพยายามมองหาไอเดียที่จะเขียนในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเรื่องแรกเขาได้เขียนเรื่องราวของนักล้วงไปแล้ว คุณนากามุระจึงคิดว่าจะเขียนเล่มต่อมาเกี่ยวกับอาชีพโสเภณีเพราะ 2 อาชีพนี้ถือเป็นอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก พอได้ไอเดียดังกล่าวมาก็พยายามคิดต่อว่าจะเขียนเรื่องราวอย่างไรดี แต่ก็คิดไม่ออกสักที จนต้องปรึกษากับทางบก. ซึ่งทางบก.ให้คำแนะนำกับเขาว่ายังไม่ต้องคิดเรื่องราวก็ได้ ให้คิดประโยคเปิดให้ได้ก่อน พอคิดได้แล้ว เรื่องราวก็จะตามมาเอง ซึ่งพอเขาได้ลองทำแบบที่บก.แนะนำก็พบว่าได้ผลจริงๆ เมื่อเขาคิดประโยคเปิดได้ ไอเดียต่างๆ ก็พรั่งพรูออกมาเรื่อยๆ

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura

กนกวรรณ เกตุชัยมาศ (ผู้แปลหนังสือ นกต่อ ฉบับภาษาไทย)

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล (พิธีกรและผู้ดำเนินรายการ)


นอกจากมุมมองจากนักเขียนอย่างคุณฟุมิโนริ นากามุระแล้ว ในงานเสวนาดังกล่าวเรายังมีโอกาสได้ฟังเรื่องราวหรือมุมมองของนักแปลอย่างคุณกนกวรรณ เกตุชัยมาศ (ผู้แปลหนังสือ นกต่อ ฉบับภาษาไทย) ด้วยเช่นกัน ถือเป็นงานเสวนาระยะเวลา 2 ชั่วโมงที่นอกจากจะเปิดโอกาสให้เราได้รู้จักนักเขียนที่ชื่นชอบมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจทั้งสำหรับการอ่านและการเขียนได้ดีมากๆ อีกด้วย เพราะฉะนั้นหากมีโอกาสต่อๆ ไป ดาโกะก็จะไม่พลาดเข้าร่วมงานเสวนาและนำเรื่องราวดีๆ อย่างครั้งนี้มาฝากคุณผู้อ่านอีกแน่นอน หรือหากมีโอกาสในครั้งต่อๆ ไปก็ห้ามพลาดโอกาสดีๆ แบบนี้กันนะ

ติดตามข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมดีๆ แบบนี้ที่จัดขึ้นเป็นประจำโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ได้ทาง www.jfbkk.or.th

เสวนาวรรณกรรม Fuminori Nakamura

รับชมงานเสวนาวรรณกรรมกับคุณฟุมิโนริ นากามุระย้อนหลังได้ทางยูทูป

ผู้ร่วมเสวนา : ฟุมิโนริ นากามุระ (นักเขียนจะพูดคุยแบบออนไลน์จากประเทศญี่ปุ่น)
กนกวรรณ เกตุชัยมาศ (ผู้แปลหนังสือ นกต่อ ฉบับภาษาไทย)
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล (พิธีกรและผู้ดำเนินรายการ)

จัดโดย เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ สำนักพิมพ์กำมะหยี่
สนับสนุนโดย สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย สมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย

เรื่องและภาพ: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์


เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ
ชั้น 10 อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ 159 ถนนสุขุมวิท 21 กรุงเทพฯ 10110
Tel: 02-260-8560
Facebook : www.facebook.com/jfbangkok
Website : www.jfbkk.or.th

views