กว่าจะเป็นเจ้าสาวแห่งเมืองคิตาคะมิ
北上の嫁になるまで

จากที่ฉันกล่าวทิ้งท้ายไว้ในฉบับที่แล้ว อีกหนึ่งความทรงจำของฤดูร้อนแรกนี้ที่จ.อิวาเตะ คือการเป็นเจ้าสาวจัดงานแต่งงานในแบบฉบับญี่ปุ่นนั่นเอง ต่อให้บอกว่าฉันเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น แต่การเตรียมงานตั้งแต่ต้นจนจบนั้น ก็มีหลายสิ่งที่ทำให้ตัวฉันรู้สึกสนุกที่จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นไปพร้อมกันด้วย

เจ้าสาว

 

คู่ของเราเลือกที่จะจัดงานเลี้ยงฉลองในวันครบรอบ 1 ปีที่ได้พบกัน และกลายเป็นว่าเป็นวันฤกษ์ดีของญี่ปุ่นอีกหนึ่งวัน ประกอบกับเป็นวันหยุดยาวที่ทำให้เพื่อน และญาติจากแดนไกลสามารถมาร่วมงานกันได้ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ได้ยึดถือฤกษ์มงคลสมรส เจาะเป็นรายบุคคลหรือฤกษ์ยามแบบประเทศไทย และเราเลือกจัดงานกันที่ Kitakami Cityplaza Hotel เพราะเป็นโรงแรมที่มีบานกระจกใหญ่ สามารถมองเห็นแม่น้ำคิตาคะมิ ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของที่นี่ ทำให้ผู้มาร่วมงานได้สัมผัสธรรมชาติซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของเมืองที่เราอยู่

ฉันจัดการส่งการ์ดเชิญที่เขียนชื่อผู้รับด้วยปากกาพู่กัน พร้อมติดแสตมป์มงคล เป็นรูปพัดที่มีลวดลายของต้นสน ต้นไผ่ และ ต้นบ๊วย ซึ่งถือเป็นไม้มงคล ก่อนวันงานผู้ถูกเชิญทั้งหลาย จะส่งการ์ดตอบกลับให้เราทราบว่ายินดีมาร่วมงานหรือไม่ เพราะในการ์ดจะมีการระบุรายชื่อ และตำแหน่งการนั่งในโต๊ะนั้นๆ ตามลำดับความอาวุโส และความสัมพันธ์กับเจ้าบ่าว
เจ้าสาว ส่วนโต๊ะของคุณพ่อคุณแม่ และพี่น้องมักจะอยู่ด้านหลังใกล้ประตูทางออกมากที่สุดเสมอ

 

และแล้ววันงานแต่งจริงๆ ก็มาถึง ตามธรรมเนียมดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นกิโมโน หรือชุดเดรสก็ตาม เจ้าสาวญี่ปุ่นมักจะใส่ชุด
สีขาวล้วนก่อน จึงค่อยเปลี่ยนเป็นชุดที่มีสีสัน ทำให้งานแต่งงานญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนชุด 1-2 ครั้งในระเวลาจัดงานเพียง
3 ชม.เท่านั้น ช่วงเวลาที่รีบเปลี่ยนชุดและทำผมใหม่นั้นเป็นอะไรที่ลุ้นมากว่า จะทันตามกำหนดหรือไม่

เมื่อประตูทางเข้างานเปิดออก ฉันและเจ้าบ่าวเดินเข้าไปประมาณ 2-3 ก้าวแล้วหยุด เพื่อโค้งคำนับแขกผู้มาร่วมงาน จากนั้นจึงค่อยๆ เดินขึ้นไปนั่งที่โต๊ะบนเวที พิธีกรจะยืนอยู่ข้างหลังห้อง และกล่าวเปิดงาน พร้อมแนะนำประวัติของบ่าวสาว เมื่อผู้ใหญ่ให้คำอวยพรและชนแก้วกันเรียบร้อยแล้ว แขกผู้ร่วมงานจึงเริ่มรับประทานอาหารร่วมกัน

ระหว่างนี้พิธีกรจะเชิญให้แขกขึ้นไปรินเหล้า หรือเบียร์เพื่อแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาว พร้อมกับถ่ายรูปบนเวที ส่วนการแต่งตัวก็เป็นที่น่าแปลกใจเช่นกัน เพราะแขกจะสวมชุดสีดำหรือสีเข้มซึ่งถือว่าเป็นสีสุภาพ หากใส่ชุดสีอ่อนเมื่อถ่ายรูปออกมาจะมีความใกล้เคียงเจ้าสาวซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม ส่วนการเตรียมตัวอีกสิ่งหนึ่ง คือซองใส่เงิน ซึ่งห้ามใส่ซองเดิมที่ได้รับการ์ดเชิญมาเด็ดขาด เพราะต้องเป็นซองสำหรับแสดงความยินดี ที่มีเชือกเงื่อนผูกยกขึ้นไม่ทิ้งปลาย ไม่เช่นนั้นจะถือว่าแยกทางกันได้ และควรใส่เงินเป็นจำนวนเลขคี่โดยมีเรทอยู่ที่1, 3 และ 5 หมื่นเยน มายื่นที่โต๊ะลงทะเบียนแล้ว ก็จะได้รับเข็มกลัดดอกไม้ที่ทำจากผ้าอัดแข็งไว้สำหรับติดก่อนเข้างาน

 

 

ฉันชอบบรรยากาศงานแต่งของฉัน เพราะดอกไม้ที่ตกแต่งภายในงานนั้น เป็นฝีมือการจัดของคุณแม่สามี ตัวฉันและสามี ซึ่งเป็นความทรงจำครั้งสำคัญในชีวิต โดยเน้นจัดให้เป็นสไตล์ญี่ปุ่น คือการจัดดอกไม้บนท่อนไผ่และโอ่งญี่ปุ่นโบราณ ส่วนที่เก้าอี้แต่ละตัวที่แขกนั่งนั้น จะวางถุงกระดาษซึ่งข้างในประกอบไปด้วยของชำร่วยมากมาย โดยจะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ ของขอบคุณ (Hikidemono) ขนมทานเล่น (Hikigashi) และอาหารที่นำไปปรุงที่บ้านได้ (Kuchitori) แต่บ้านเราเลือกที่จะมอบดอกไม้ในขวดน้ำมันซึ่งเป็นดอกกระดิ่งลม ที่ถือกำเนิดในจ.อิวาเตะนั่นเอง เมื่อเสร็จงานคู่บ่าวสาวจะออกไปส่งแขกพร้อมของส่งท้ายโดยส่วนใหญ่จะให้ดอกไม้ แต่เราเลือกที่จะแจกมะม่วงอบแห้งแสดงความเป็นเจ้าสาวไทยก่อนจากลากัน

 

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับงานแต่งในแบบฉบับญี่ปุ่นของฉัน มีความต่างกันในรายละเอียดหลายจุดเลย ส่วนฉบับหน้าฝากติดตามเรื่องราวทริปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์แบบหมู่คณะ จะไปไหน ตื่นเต้นยังไงจะมาเล่าให้ฟังกันเช่นเคยนะคะ

 

views