What Do You Think?


Midnight Diner: Tokyo Stories

อาหาร ชีวิต และเรื่องเล่า

Midnight Diner: Tokyo Stories หรือ วิกาลโภชนา: บันทึกโตเกียว ถูกดัดแปลงมาจากมังงะ “Shinya Shokudo”
ซึ่งได้รับรางวัลโชงะคุคัง มังงะครั้งที่ 55 ออกฉายซีซั่น 1 ในปี 2009 มีเพียง 10 ตอน ตอนละประมาณ 20 นาที
ปัจจุบันเป็นซีรีส์ชุดหนึ่งของ Netflix แต่เป็นซีรีส์ที่ทำในปี 2016

เรื่องราวของแต่ละตอนจะเริ่มต้นด้วยเสียงบรรยายของ “มาสเตอร์” เจ้าของร้านอาหารผู้ไม่เปิดเผยชื่อจริงให้คนดูรู้
เขาพูดถึงร้านที่ตนเองเป็นเจ้าของ โดยร้านเล็กๆ นี้ชื่อว่า  “เมชิยะ” เป็นร้านอิซากายะ 12 ที่นั่ง ตั้งอยู่ในย่านชินจูกุ
โตเกียว เปิดตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเจ็ดโมงเช้า เมนูในร้านก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง และถ้าลูกค้าอยากทานเมนูไหนที่ไม่ได้
เป็นหนึ่งในเมนูของร้านแล้วมาสเตอร์ทำให้ทานได้ ก็จะทำให้ โดยเรื่องราวที่นำเสนอก็จะถูกนำเสนอผ่านปฏิสัมพันธ์
ระหว่างเขากับลูกค้า และลูกค้ากับลูกค้าด้วยกันเอง

ด้วยความที่ร้านนี้เปิดในชั่วโมงที่คนส่วนมากหลับไปแล้ว ทว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะพักผ่อนเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า
ฉะนั้นผู้ที่เข้ามาเยี่ยมเยียนร้านนี้ก็จะมีทั้งนักเต้นระบำเปลื้องผ้า พนักงานออฟฟิศ นักแสดงตลก นักเล่นพนัน
หรือพนักงานในบาร์ ซึ่งมีทั้งชาย หญิง และเพศที่สามด้วย แต่ละตอนก็จะมีเรื่องราวที่มีแก่นของเรื่องต่างกันไป
Setting (ฉาก) ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในร้าน หรือแล้วแต่ว่าเรื่องของแต่ละคนจะดำเนินไปในทิศทางไหน
เช่น หากตอนนี้เป็นเรื่องราวของชาวออฟฟิศก็มีฉากในออฟฟิศบ้าง หรือหากพูดถึงนักพนันก็จะมีฉากการเล่นการพนัน
ในห้องสีทึมแห่งหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวมักจะเริ่มและจบที่ร้านเมชิยะเสมอ

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกติดใจกับซีรีส์เรื่องนี้คือการนำเสนอเรื่องราวสุดจะธรรมดาสามัญของชีวิตมนุษย์ในบางช่วงเวลา
ที่เราไม่เคยประสบพบเจอให้ออกมาอย่างเป็นกลางและธรรมชาติ สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าคนดูจะทำให้มันไม่ธรรมดา
ได้ยังไงโดยใช้ “เลนส์” เฉพาะตัววิเคราะห์เรื่องราวด้วยตนเอง แต่ละตัวละครมีภูมิหลังและเหตุผลในการกระทำ
เหมือนเรากำลังดู Slice of Life หรือประสบการณ์จริง (อาจพูดว่าได้ว่าเสมือนจริง) ของมนุษย์คนหนึ่งที่บังเอิญมา
ร้านอาหารและถูกนำเสนอเรื่องราวช่วงหนึ่งในชีวิตเท่านั้นเอง

แท้จริงแล้วกิจกรรมการทานอาหารก็นับเป็นวิธีการเข้าสังคมอีกแบบหนึ่ง ทุกคนต่างนั่งทานอาหาร พูดคุยกัน
และเกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อเปิดเผยเรื่องราวที่แต่ละคนต่างพบเจอแล้ว เรื่องราวก็จะถูกนำเสนอให้คนดู
ได้เป็นพยานเฝ้ามองและรับรู้ เมนูอาหารที่ปรากฏในเรื่องก็ล้วนเชื่อมโยงกับความรู้สึกหรือประสบการณ์ของลูกค้าที่สั่ง
โดยที่บางเรื่องเราอาจทราบเหตุผลของการสั่งอาหารนี้หรือเราอาจไม่ทราบเลย ซึ่งมันก็ทำให้รู้สึกราวกับว่า
นี่คือการนำเสนอชีวิตของคนคนหนึ่งจริงๆ เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะรู้เหตุผล
หรือประสบการณ์ของใครทั้งหมดเหมือนเปิดหนังสืออ่าน

ตัวละครมาสเตอร์มีความน่าสนใจมาก เนื่องจากไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เขาก็จะวางตัวเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจ
และคอยปฏิบัติตัวเหมือนเพื่อนที่ไว้ปรับทุกข์หรือคอยฟังเรื่องราวของคนอื่นเสมอ โดยที่ไม่ได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
หรือยุ่งเกี่ยวอย่างจริงจัง ในท้ายที่สุดแล้วคนที่จะแก้ปัญหาก็คือคนเจ้าของปัญหานั้นเอง ไม่ใช่ใครอื่น
เมื่อดูจบไปแต่ละตอน ก็ได้ข้อสรุปขึ้นมาในหัวว่าแท้จริงแล้วไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ทุกคนล้วนต้องแก้ไขปัญหา
ด้วยสมองและสองมือของตัวเอง ผู้คนรอบข้างได้เพียงแค่ฟังหรือช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พื้นที่ของร้านเมชิยะ
เป็นเพียงพื้นที่ที่นำเสนอเรื่องราว มีมาสเตอร์และลูกค้าคนอื่นคอยรับฟัง แต่สุดท้ายแล้วปัญหาจะสิ้นสุดตรงไหนก็ขึ้นอยู่กับ
การตัดสินใจหรือชะตาชีวิต ของแต่ละตัวละครเหล่านั้นเอง ซึ่งนั่นก็นับว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
เพราะบางครั้งเมื่อเราตัดสินใจทำอะไรลงไปแล้ว มันก็ไม่ได้หมายความว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปตามที่คาดเอาไว้
บางทีชีวิตก็ไหลเลื่อนไปตามสายธารของโชคชะตาที่ดูราวกับว่าเราไม่ได้เป็นผู้กำหนดโดยสมบูรณ์
แต่มีปัจจัยภายนอกบางอย่างที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ชะตาชีวิตอาจอยู่ในการควบคุมของเราอย่างแท้จริงก็ได้
แค่ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ประสบพบเจอว่าจะมองมันในแง่มุมไหนเท่านั้นเอง

สำหรับเรา ซีรีส์ชุดนี้เหมาะกับการดูยามว่าง ดูระหว่างทานอาหารไปด้วยก็น่าจะเข้ากันดีเพราะเมนูอาหารที่ปรากฏในเรื่อง
ก็ชวนให้น้ำลายสออยู่บ่อยครั้ง ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกเหมือนเราเป็นหนึ่งในลูกค้าที่แวะเข้ามาในร้าน
เพื่อฟังผู้คนเล่าถึงปัญหา ความทุกข์ หรือความฝันที่ต่างคนต่างเผชิญ และเฝ้ามองคนเหล่านี้มุ่งหน้าสู่ทางที่พวกเขา
ตัดสินใจแล้ว เราเองก็คงไม่ต่างจากมาสเตอร์ที่คอยรับฟัง

แต่น่าเสียดายตรงที่คำปรึกษาของเราคงจำกัดอยู่ที่เราเพียงคนเดียว

แล้วคุณล่ะ คิดอย่างไร?

views