Umeshu (梅酒) กับความสัมพันธ์ในฤดูใบไม้ผลิ
หากใครเคยชมภาพยนตร์เรื่อง Our Little sister เพราะเราพี่น้องกัน ที่ได้เข้าฉายในไทยช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ.2015 นั้น คงจะพอมีภาพจำถึงฉาก 4 สาวพี่น้องช่วยกันเก็บผลบ๊วยที่ต้นบ๊วยเก่าแก่ในสวนหลังบ้านเพื่อนำมาทำเป็นเหล้าบ๊วย (Umeshu) ซึ่งก็คงไม่ต่างจากครอบครัวชาวญี่ปุ่นหลาย ๆ ครอบครัวที่จะมีการเก็บผลบ๊วยมาหมักไว้เป็นเหล้า หรือดองเค็มสำหรับทำอาหารภายในบ้าน
ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความอบอุ่นและความผูกพันผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และใช้เหล้าบ๊วยเป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์แสดงความผูกพันของพี่น้องทั้ง 4 คน เกริ่นนำกันมาก็มากแล้ว เรามาลองทำความรู้จักเหล้าบ๊วยในแง่ของความสัมพันธ์กับคนญี่ปุ่นกันดีกว่าค่ะ
ตำนานเรื่องเล่าของบ๊วย ว่ากันว่าบ๊วยเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยนารา มีบันทึกอยู่ในหนังสือรวมกวีนิพนธ์มันโยชู (Man’youshuu) ที่มีการพูดถึงบ๊วยถึง 118 บท นอกจากนี้ยังมีสำนวนภาษาที่เกี่ยวกับดอกบ๊วย เช่น “ดอกบ๊วยกับนกอุกุอิสึ” (Ume ni uguisu) เป็นสำนวนที่เปรียบเทียบได้กับสำนวนไทยว่า เป็นคู่ที่เหมาะสมกันดั่งกิ่งทองใบหยก
หรือ สำนวนที่ว่า “ดอกบ๊วยกับดอกซากุระ” (Ume ni sakura) ใช้เปรียบเทียบกับของ 2 สิ่งที่มีความงามทัดเทียมกัน (จากหนังสือ ญี่ปุ่น 360 องศา)
ต้นบ๊วย (Plum) จะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี ถือเป็นดอกไม้แห่งการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ส่วนผลบ๊วยที่เรานำมาดองกันจนเป็นเหล้านั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมีนาคม – เมษายน ผลที่แก่จัดมีสีเขียวเข้มก็จะดองเป็นเหล้าบ๊วย (梅酒, Umeshu)
ผลที่สุกมีสีเหลืองหน่อยก็จะนำไปดองเค็ม (梅干し, Umeboshi) เอาไว้รับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ หรือนำไปทำเป็นไส้ข้าวปั้นตามแบบที่เห็นได้ในร้านสะดวกซื้อทั่วไป ซึ่งในหลาย ๆ ครอบครัวมักจะดองเหล้าบ๊วยไว้ดื่มกินสังสรรค์กันเองในโอกาสพิเศษหรือสำหรับเทศกาลต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความผูกพันได้เป็นอย่างดี
เหล้าบ๊วย มีรสชาติเปรี้ยวปนหวาน กลิ่นหอม ทำให้ดื่มได้ง่าย จึงเป็นที่นิยมไม่ว่าจะเทศกาลไหน ทุกการเฉลิมฉลอง ก็มักจะมีเหล้าบ๊วยเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดฮิตคู่บ้านคู่เมืองของชาวญี่ปุ่นมาช้านาน ซึ่งการดองเหล้าบ๊วยโดยทั่วไปส่วนประกอบหลักก็จะใช้แอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นสาเกหรือวิสกี้ตามแต่ที่เราชอบ รวมไปถึงน้ำตาลกรวดซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เหล้าบ๊วยมีความหวานอร่อย
ระยะเวลาในการดองแบบสุญญากาศขั้นต่ำก็ควรเก็บไว้ 1 ปี รสชาติถึงจะเข้าที่เข้าทาง อาจจะแอบเปิดมาชิมได้บ้างในช่วง 6 เดือนแรก ขึ้นกับสูตรที่ปรับกันเองของแต่ละบ้าน ส่วนสำหรับคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็ยังสามารถรับรู้ถึงความหอมหวานของเหล้าบ๊วยได้เหมือนกันนะคะ เพราะถึงแม้จะเรียกว่าเหล้า แต่ก็มีแบบไม่ผสมแอลกอฮอล์ จะเป็นแค่กลิ่นและรสชาติหวานอ่อน ๆ รวมไปถึงแบบที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์แต่ใส่โซดาอันนี้ก็มีรสชาติซาบซ่าไปอีกแบบ
ซึ่งวิถีการดองและการรอให้เหล้าบ๊วยมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมก็นับเป็นเหมือนแคปซูลเวลาที่ทำให้ตั้งตารอจนถึงปีถัดไป เพื่อจะได้มาเปิดเชยชมพร้อมกับคนสำคัญในฤดูใบไม้ผลิอันแสนอบอุ่น
ขอเสริมอีกนิด ดอกบ๊วย (Plum) ภาษาญี่ปุ่นคือ 梅 (Ume) ภาษาจีนเราจะได้ยินที่เรียกกันว่า ดอกเหมย ส่วนดอกท้อ (Peach) ภาษาญี่ปุ่นก็คือ 桃 (Momo) และดอกซากุระ (Cherry Blossom) ภาษาญี่ปุ่นคือ 桜 (Sakura) เป็นคนละชนิดกันนะจ๊ะ แต่เป็นไม้ในสกุลเดียวกันจึงมีความคล้ายกันมาก
อ้างอิง
https://krua.co/food_story
Tawanchaay Farm Japan
หนังสือ “ญี่ปุ่น 360 องศา” (สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม)
“เมนูอาหารที่คนญี่ปุ่นได้เรียนรู้ก่อนใช้ชีวิตลำพัง” คลิก
“POUND CAFE & GREEN คาเฟ่บรรยากาศดีที่มีข้าวกะเพราขาย” คลิก