UFM Fuji Super : ฤดูร้อนนี้ดับร้อน ด้วยเมนูคลายร้อนสไตล์ญี่ปุ่น

ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงที่ร้อนที่สุดของปีแล้ว มาดูวิธีการดับร้อนในร่างกายด้วยอาหารที่ให้ความเย็นสดชื่นแบบญี่ปุ่นกันเถอะ!


เมนูเส้น สำหรับรับประทานแบบเย็น


ฮิยาชิจูกะ

บะหมี่สไตล์จีน (เส้นราเมง) แบบเย็น ท็อปปิ้งด้วยเครื่องตามชอบแล้วราดด้วยซอสโชยุแบบมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย หรือ ซอสงา มักนิยมซื้อแบบเป็นแพ็คที่มีทั้งเส้นและซอสคู่กัน ซึ่งมีขายตามร้านทั่วไป ส่วนเครื่องที่ใช้โดยทั่วไปจะมีปูอัด แตงกวาหั่นเป็นเส้น แฮม ไข่หวานหั่นเป็นเส้น และท็อปปิ้งด้านบนด้วยขิงหรืองาขาว

*มีจำหน่ายทั้งสินค้าแช่แข็ง แช่เย็น และสินค้าอุณหภูมิห้อง

โซเมน

เส้นขนาดเล็กทำจากแป้งสาลี ถือเป็นตัวแทนอาหารของฤดูร้อนญี่ปุ่น

*มีจำหน่ายเฉพาะเส้นแบบแห้ง

อุด้ง

เส้นขนาดใหญ่ทำจากแป้งสาลี แต่ละเส้นจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามขนาด โดยเส้นเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1.3 มม. เรียกว่า “โซเมน” เส้นขนาด 1.3 – 1.7 มม. เรียกว่าเส้น “ฮิยามุกิ” และเส้นที่ใหญ่กว่า 1.7 มม. ขึ้นไปคือเส้น “อุด้ง” ขนาดเส้นค่อนข้างใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับโซเมน จึงให้ความรู้สึกอิ่มท้องได้มากกว่า

*มีจำหน่ายทั้งสินค้าแห้ง สินค้าอุณหภูมิห้อง และสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง

โซบะ

เส้นที่ทำมาจากเมล็ดธัญพืชที่ชื่อว่า เมล็ดบักวีท (Buckwheat หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โซบะ”) โดยนำมาทำให้เป็นผงก่อน แล้วจึงนำไปทำเป็นเส้นโซบะ มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเมล็ดบักวีท

*มีจำหน่ายทั้งสินค้าแห้ง สินค้าอุณหภูมิห้อง และสินค้าแช่เย็นแช่แข็ง


วิธีการลวกเส้นโซเมน อุด้ง และโซบะ (กรณีใช้เส้นแห้ง)


ต้มน้ำให้เดือด หลังจากนั้นใส่เส้นลงไป และลวกตามเวลาที่ระบุไว้บนฉลากของสินค้านั้น ๆ เมื่อลวกเสร็จแล้วนำขึ้นมาล้างด้วยน้ำเย็น สะเด็ดน้ำออก จากนั้นนำเส้นมาจัดใส่จาน หาถ้วยแยกใส่น้ำซอสทสึยุ แล้วใส่ผัก เครื่องเทศหรือเครื่องอื่น  ๆ ตามชอบลงในน้ำซอส จุ่มเส้นกับซอสแล้วรับประทานทันที

เส้นแต่ละประเภทสามารถกินแบบร้อนได้เช่นกัน แต่ในวันที่อากาศร้อน ๆ แบบนี้ อยากแนะนำให้ลองกินแบบเย็นกันดูค่ะ

ซอสเมนทสึยุ

ตัวเส้นโซเมน อุด้ง และโซบะจะไม่ค่อยมีรสชาติเด่นชัดในตัว จึงใช้วิธีจุ่มน้ำซอสเมนทสึยุแล้วรับประทาน น้ำซอสเมนทสึยุสามารถทำเองได้โดยการผสมเครื่องปรุงรส เช่น โชยุและน้ำซุปหรือน้ำสต็อคเข้าด้วยกัน ตามท้องตลาดยังมีน้ำซอสทสึยุปรุงสำเร็จที่สามารถใช้ได้ทันทีวางจำหน่ายด้วยเช่นกัน จึงถือเป็นตัวเลือกที่สะดวกสบาย ซอสเมนทสึยุตามรูปภาพด้านบนนี้อาจจะมีราคาสูงเล็กน้อย แต่มีรสชาติดีและเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม


แนะนำ “ผักยาคุมิ” ที่น่าสนใจ


ผักเครื่องเทศ หรือ ผักยาคุมิ

เวลากินอาหารประเภทเส้นการใส่สมุนไพรหรือเครื่องเทศลงไปด้วย จะทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยมากขึ้น สมุนไพรหรือผักเครื่องเทศนั้นภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ยาคุมิ” (薬味)  ผักยาคุมิ มีหลากหลายชนิดแนะนำให้ลองกินหลาย ๆ ชนิด เพื่อหารสชาติที่ถูกใจค่ะ

เนงิโนริ

ผักยาคุมิที่ใช้โดยทั่วไปคือ ต้นหอมและสาหร่ายหั่นฝอย สินค้าในรูปผสมต้นหอมและสาหร่ายเข้าด้วยกันแล้ว และนำไปอบแห้งจึงสามารถเก็บได้นาน และด้วยแพ็คเกจซิปล็อค จึงสามารถใช้ตามปริมาณที่ต้องการแล้วเก็บไว้ใช้ต่อได้อย่างสะดวกสบาย

งา

จุดเด่นอยู่ที่กลิ่นหอมของงา โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้งาขาว

พริกป่นอิจิมิ พริกป่นชิจิมิ

พริกป่นอิจิมิจะใช้พริกเป็นส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว ส่วนชิจิมิ นอกจากพริกแล้วจะมีเครื่องเทศและสมุนไพรอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบด้วย โดยทั่วไปพริกป่นอิจิมิจะมีรสเผ็ดเข้มกว่า ส่วนพริกป่นชิจิมิจะมีรสชาติและกลิ่นของเครื่องเทศมากกว่า ที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่า “ชิจิมิ” แต่ที่ไทยบ้างก็เรียกว่า”นานะมิ” (七 แปลว่า 7 อ่านได้ 2 แบบคือ “ชิจิ” หรือ “นานะ”)

วาซาบิ

จุดเด่นอยู่ที่ความเผ็ดขึ้นจมูก มักนำไปกินกับซาชิมิด้วย

ขิง

มีรสเผ็ดและกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ มีทั้งชนิดบดที่เป็นแพ็คเกจหลอดบีบและแบบหั่นเป็นฝอย หรือจะนำขิงสดมาหั่นฝอยก็ได้รสชาติที่สดอร่อยเช่นกัน

ยูสุโคะโช

เครื่องปรุงรสที่ทำมาจากพริกและส้มยูซุ ได้ทั้งรสเผ็ดของพริกและกลิ่นหอมของส้มยูซุ

ชิโสะอุเมะ

มีส่วนผสมของเนื้อบ๊วยดองและซอสที่ผสมด้วยใบชิโสะบด จุดเด่นอยู่ที่รสเปรี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของบ๊วย

นาเมทาเคะ (เห็ดเข็มทอง)

เห็ดเข็มทองที่นำมาปรุงรสด้วยโชยุ นอกจากจะกินกับอาหารเส้นแบบเย็น ๆ แล้ว จะใส่เป็นท็อปปิ้งสำหรับกินแบบร้อนก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้บางคนก็นำไปใส่ในซุปมิโสะหรือนำมากินข้าวสวย

โทโรโระ

โทโรโระ คือ มันภูเขาญี่ปุ่น (ภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า มันยามาอิโมะ) ที่นำมาบด (บางครั้งอาจใช้มันนากาอิโมะหรือมันยามาโตะอิโมะแทน) มีเนื้อที่ยืด ๆ เป็นเอกลักษณ์ มีทั้งแบบฟรีซดรายที่นำมาเติมน้ำก็จะออกมาเป็นเนื้อโทโรโระทันที และ แบบแช่แข็ง สามารถนำไปราดข้าว ใส่โชยุหรือเมนทสึยุเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้เช่นกัน

*บางคนอาจจะรู้สึกคันเมื่อสัมผัสถูกโทโรโระ

โมมิจิโอโรชิ

ทำมาจากหัวไชเท้าและพริกบด จึงมีความฉ่ำของเนื้อไชเท้าบดและมีรสเผ็ดของพริก ด้วยสีที่ออกส้ม ๆ คล้ายสีของฤดูใบไม้ร่วงจึงตั้งชื่อว่า “โมมิจิโอโรชิ” (โมมิจิ แปลว่า ใบเมเปิ้ล)

 


ขนมหวานเย็นญี่ปุ่น


ขนมอันมิทสึและขนมคูซูคิริ ขนมหวานแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่สามารถกินอร่อยได้ง่าย ๆ เนื้อคล้ายเยลลี่ ยิ่งแช่เย็นยิ่งอร่อย

ขนมอันมิทสึ

วุ้นคันเตนซึ่งทำจากสาหร่ายทะเล (ภาษาอังกฤษ เรียก “Agar” ลักษณะคล้ายเยลลี่) ราดด้วยน้ำเชื่อมดำคุโรมิทสึ สินค้าในรูปนอกจากวุ้นคันเตนแล้วยังมีเนื้อผลไม้เชื่อม ถั่ว น้ำเชื่อมดำ และถั่วแดงใส่ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว โดยในถุงวุ้นคันเตนและเนื้อผลไม้จะมีน้ำเชื่อมอยู่ ก่อนจะราดน้ำเชื่อมดำคุโรมิทสึและถั่วแดงลงไป แนะนำให้ทิ้งน้ำเชื่อมใส ๆ ออกก่อนเพื่อให้คงรสชาติที่เข้มข้น

คุซุคิริ

เนื้อสัมผัสคล้ายเยลลี่ ทำจากเม็ดแป้งของพืชที่เรียกว่า “คุซุ” รูปร่างเป็นเส้นยาว ๆ ราดด้วยน้ำเชื่อมดำคุโรมิทสึ เนื่องจากคุซุเป็นพืชล้ำค่า บางที่จึงมีการใช้เม็ดแป้งของพืชอื่น ๆ มาใช้ทดแทน สินค้าในรูปนอกจากเส้นคุซุคิริแล้วก็มีเนื้อผลไม้เชื่อม ถั่ว และน้ำเชื่อมคุโรมิทสึให้ด้วย ควรทิ้งน้ำเชื่อมใส ๆ ออกก่อนเพื่อคงรสชาติที่เข้มข้นของน้ำเชื่อมดำคุโรมิทสึ

อันนินโทฟุ

ขนมหวานเนื้อเยลลี่ (คล้าย ๆ เต้าฮวย) ทำมาจากผงซึ่งได้จากเนื้อด้านในของเมล็ดแอพริคอตแล้วเติมน้ำตาลลงไป สินค้าในรูปนอกจากอันนินโทฟุแล้วก็มีเนื้อผลไม้เชื่อมด้วย อันนินโทฟุเป็นขนมหวานของจีน ไม่ใช่ของญี่ปุ่นโดยตรงแต่สินค้าในรูปผลิตจากบริษัทเดียวกับอันมิทสึซึ่งผลิตในประเทศญี่ปุ่น

 

ขนมหวานทุกตัวสามารถกินได้ง่าย อร่อยได้ในทันที หรือจะเพิ่มความอร่อยไปอีกขั้นด้วยการเพิ่มท็อปปิ้งไอศกรีม ครีมสด หรือผลไม้เพิ่มเติมตามใจชอบในแนวของตัวเองก็ได้

*รูปภาพเป็นเพียงภาพตัวอย่างเท่านั้น สินค้าอาจหมดเนื่องจากสถานการณ์การนำเข้า


UFM Fuji Super สินค้าแนะนำ

UFM Fuji Super สินค้าแนะนำ


 “เทศกาลเซ็ทสึบุนกับถั่วโชคดี” คลิก

 “วาเลนไทน์นี้กับช็อกโกแลตทำมือคลิก

“เทศกาลฮินะมัตสึริ” คลิก

views