
ละครญี่ปุ่นมีแบบไหนบ้างนะ?
TV DRAMA TYPES
ทุกคนเคยดูละครญี่ปุ่นไหมคะ?
ละครไทยมีหลายประเภท ละครญี่ปุ่นก็มีหลายประเภทเช่นเดียวกันค่ะ โดยแต่ละประเภทก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาและช่องที่ออกอากาศ ครั้งนี้ฉันจะพาไปรู้จักกับละครญี่ปุ่นแต่ละประเภทกันค่า!
สถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่น
ก่อนจะพูดถึงละคร ฉันขออธิบายสั้น ๆ เกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์ญี่ปุ่นก่อนนะคะ
ทีวีญี่ปุ่น มีสถานีโทรทัศน์เอกชนหลัก ๆ อยู่ 5 สถานี (Nippon TV, TV Asahi, TBS, Fuji TV, TV TOKYO) และช่อง NHK ซึ่งเป็นองค์กรสื่อสาธารณะของประเทศญี่ปุ่น สถานีโทรทัศน์เอกชนทั้ง 5 สถานีบริหารโดยการหารายได้จากสปอนเซอร์โฆษณา ส่วน NHK นั้นใช้วิธีบริหารโดยการเก็บค่าธรรมเนียมรับชมจากผู้ชม
นอกจากนี้ ยังมีสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นที่เผยแพร่เนื้อหาของสถานีโทรทัศน์เอกชนทั้ง 5 สถานี รวมไปถึงจัดทำรายการที่ออกอากาศเฉพาะท้องที่นั้น ๆ อีกด้วย
ญี่ปุ่นมีละครแบบนี้ด้วย!
朝ドラ(Asa-Dora)
ละครตอนเช้าที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 08.15 น. ผ่านสถานีโทรทัศน์ NHK คำว่า “朝ドラ” (Asa-Dora) มาจาก 2 คำ คือ อาสะ (朝, Asa) ที่แปลว่า ตอนเช้า และ โดรามะ (ドラマ, Dorama) ที่แปลว่า ละคร ซึ่งจริง ๆ แล้วมีชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า “連続テレビ小説” (Renzoku terebi shosetsu) หรือ ในภาษาอังกฤษคือ serial TV novel ว่ากันว่าชื่อนี้มีที่มาจากการอ่านนิยายผ่านทางวิทยุในสมัยก่อน โดยทั่วไปแล้ว ละครของสถานีโทรทัศน์เอกชนจะเปลี่ยนเรื่องทุก ๆ 3 เดือน แต่ “อาสะโดรามะ” เรื่องหนึ่งจะออกอากาศนาน 6 เดือน
เนื้อหาส่วนใหญ่ จะเป็นแนวละครย้อนยุค มีการใช้ภาษาถิ่น และภาษาเก่าในการพูดคุยกันในครอบครัว ทำให้ดูแล้วคิดถึงอดีต โดยเรื่องราวมักจะเล่าถึงการเติบโตของตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิง และมักจะใช้นักแสดงหญิงที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนั้น ทำให้มีการพูดกันว่า “การรับบทในละครเช้าถือเป็นประตูไปสู่การเป็นนักแสดงชั้นแนวหน้า”
เวลา 8 โมงเช้าเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมตัวออกจากบ้าน ด้วยความที่เป็นละครที่ออกอากาศเพียง 15 นาทีเท่านั้น ทำให้สามารถดูละครพร้อม ๆ กับเตรียมตัวออกจากบ้านได้ และยังทำหน้าที่เป็นนาฬิกาได้อีกด้วย คนญี่ปุ่นมักจะดูละครนี้ตอนกินข้าว ก่อนจะออกไปโรงเรียนค่ะ
大河ドラマ(Taiga-Drama)
“ละครไทกะ” หรือ “ไทกะ โดรามะ” เป็นละครที่ออกอากาศในวันอาทิตย์ เวลา 20.00 น. เป็นต้นไปผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NHK โดยละครจะยาวประมาณ 45 นาที เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเล่าเรื่องราวตลอดช่วงชีวิตของบุคคลในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และเป็นละครยาวที่จะมีเพียงปีละ 1 เรื่องเท่านั้น (มีประมาณ 50 ตอน)
ด้วยความที่เป็นละครเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คนส่วนใหญ่ที่ดูละครประเภทนี้จึงเป็นคนสูงอายุ แต่ปัจจุบันได้มีการใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงในหมู่วัยรุ่น ทำให้วัยรุ่นเริ่มหันมาดูละครประเภทนี้มากขึ้น และการดูละครประเภทนี้ยังสามารถเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหลังของคนในประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถหาเรียนได้จากในห้องเรียนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ สถานที่ที่ใช้ในการถ่ายทำละครไทกะมักจะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม อย่างเช่น ที่เมืองคามาคุระที่ฉันอาศัยอยู่ตอนนี้ จะถูกใช้เป็นสถานที่ถ่านทำละครไทกะของปี ค.ศ.2022 ซึ่งจะต้องทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่เพิ่มมากขึ้นแน่นอน!
昼ドラ(Hiru-Dora)
“ฮิรุโดรามะ” หรือ “ละครตอนกลางวัน” ออกอากาศในช่วงเวลา 12.00 – 14.00 น. ผ่านทางสถานีโทรทัศน์เอกชน มีเป้าหมายเป็นแม่บ้านที่อยู่บ้าน เนื้อหาจึงมักจะเป็นละครน้ำเน่าที่มีเรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ เล่าถึงเรื่องการนอกใจ หรือ การหึงหวง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดประโยคที่ว่า “เหมือนละครตอนกลางวันเลย” ขึ้นมา ซึ่งหมายถึง เรื่องราวความรักแบบชิงรักหักสวาท ที่เห็นได้ตามละครกลางวันนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น “ฉันโดนแฟนนอกใจ พอจี้ถามไปเรื่อย ๆ ถึงรู้ว่าคนที่เขานอกใจไปหาคือ น้องสาวของฉันเอง!”
.
.
“เหมือนละครตอนกลางวันเลย”
แต่ฉันได้ยินมาว่า ละครตอนกลางวันกำลังลดน้อยลง ซึ่งว่ากันว่ามีหลายเหตุผล เช่น “ละครเกาหลีได้รับความนิยมมากกว่า ทำให้ช่วงเวลาออกอากาศนี้ กลายเป็นช่วงเวลาของละครเกาหลีแทน” “ปัจจุบันมีครอบครัวที่สามี-ภรรยาทำงานกันทั้งคู่เพิ่มมากขึ้น ทำให้แม่บ้านที่อยู่บ้านมีจำนวนลดลง” “คนส่วนใหญ่เปลี่ยนไปดูละครออนไลน์ ทำให้จำนวนคนดูละครตอนกลางวันลดลง” เป็นต้น
เลยคิดว่าอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ ประโยคที่ว่าว่า “เหมือนละครตอนกลางวันเลย” ก็คงจะเลือนหายตามไปด้วย รู้สึกเศร้าขึ้นมาเลยค่ะ
月9と火10(Getsu-ku to ka-juu)
ช่วงเวลา 21.00 – 23.00 น. ของสถานีโทรทัศน์เอกชน เป็นช่วงเวลาที่มีคนดูละครมากที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะสถานีโทรทัศน์ช่องไหน ละครส่วนใหญ่ก็จะออกอากาศประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน (รวมทั้งหมด 10 – 12 ตอน)
ฉัน Myazy ผู้ซึ่งใช้ชีวิตวัยรุ่นในช่วงปลายปี ค.ศ.1990 – 2000 รู้สึกว่าละครที่มีผู้ชมสูงสุดคือ ละครที่ออกอากาศวันจันทร์ตอนช่วง 21.00 น. เป็นต้นไปของช่อง Fuji TV หรือ ที่เรียกกันว่า 月9(Getsu-ku)
*月 (Getsu) มาจาก เกะทสึโยบิ (月曜日, Getsuyoubi) หมายถึง วันจันทร์
*9(ku) มากจาก เวลา 09.00 PM หรือ 3 ทุ่ม
เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวความรักแสนสดใส ที่ระหว่างทางอาจจะมีคู่แข่ง มีทะเลาะกันบ้าง แต่ในท้ายที่สุดก็จะจบแบบ Happy Ending พระเอกนางเอกจูบกัน ตอนที่ฉันยังเป็นนักเรียนฉันก็เคยคิดว่า “พอเรียนจบแล้ว จะต้องมีความรักดี ๆ แบบในละครรออยู่แน่ ๆ เลย” (เรื่องจริงคือไม่มีค่ะ…)
ด้วยเรื่องราวความรักที่สดใส ทำให้มีประโยคที่ว่า “เหมือนละครตอน 3 ทุ่มวันจันทร์เลย” ด้วยเช่นกัน โดยจะใช้กันในตอนที่รู้สึกว่าความรักกำลังเบ่งบานเต็มที่ หรือ ตอนที่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างสดใสค่ะ
แต่ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ 2010 เป็นต้นมา ละคร 月9(เกะทสึคุ) เริ่มมีจำนวนผู้ชมลดน้อยลง แต่ละครที่ออกอากาศวันอังคารตอน 22.00 น. ของช่อง TBS กลับได้รับความนิยมแทน ซึ่งละครประเภทนี้จะเรียกกันว่า “火10” (Ka-juu)
*火 (Ka) มาจาก คะโยบิ (火曜日, Kayoubi) หมายถึง วันอังคาร
*10 (Juu) มาจาก เวลา 10.00 PM หรือ 4 ทุ่ม
“ละครเกะทสึคุ” มักจะเล่าถึงเรื่องราวของผู้หญิงที่ดี ผ่านสายตาของผู้ชาย แต่ “ละครคะจู” จะเล่าถึงเรื่องราวของตัวเอกที่กำลังสับสนในชีวิต ความรักก็ไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตคน และยังมีการพูดถึงปัญหาสังคม อย่างเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ เป็นต้น รวมทั้งการเข้าใจเรื่องความรู้สึกของผู้หญิงในยุคปัจจุบันก็ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของละครประเภทนี้
ยุคสมัยมันมีการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ด้วยนะคะ หากตอนนี้ไปพูดว่า “เหมือนละครตอน 3 ทุ่มวันจันทร์เลย” กับเด็กช่วงวัย 10 ขวบ เด็ก ๆ ก็คงจะไม่เข้าใจแล้ว
ละครญี่ปุ่นที่มีการปรับตัวอยู่เสมอ
นอกเหนือจากที่ฉันยกมาแนะนำในครั้งนี้ ยังมีละครอีกมากมายหลายแบบ ในปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ เริ่มเปิดให้บริการการรับชมแบบออนไลน์ที่สามารถดูละครผ่านสมาร์ทโฟนได้และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่เป็นออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นละครที่ออกอากาศวันไหน หรือ ช่วงเวลาไหนก็สามารถดูย้อนหลังได้ทั้งนั้น ทำให้เริ่มมีคนไม่สนใจแล้วว่าละครจะออกอากาศตอนไหน
นอกจากนี้ ยังมีบริการอื่น ๆ เช่น Netflix ที่สามารถรับชมละครต่างประเทศ ในเวลาที่ตัวเองสะดวกได้ด้วย
ส่วนตัวฉันเอง ผู้ไม่มีทีวีที่บ้าน ตอนนี้เวลาว่างจะดูละครไทยค่ะ ฮ่าฮ่าฮ่าฮ่า ถ้ามีละครไทยเรื่องไหนสนุก ๆ บอกฉันด้วยนะคะ!
“อายุเท่าไรก็ปังได้ในวงการบันเทิงญี่ปุ่น” คลิก
“ไทกะ โดรามะ (Taiga Drama) ละครย้อนยุคระดับชาติของญี่ปุ่น” คลิก