Takahiro Kinoshita กับจิตวิญญาณบรรณาธิการสุดแข็งแกร่งที่ยังคงถูกถ่ายทอดผ่านนิตยสาร LifeWear ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีกับการทำงานในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ เริ่มต้นทำงาน ณ สำนักพิมพ์ Magazine House ในปี ค.ศ.1997 ฝากฝังผลงานอันโดดเด่นในช่วงระยะเวลา 6 ปีในฐานะ Fashion Chief ของนิตยสาร BRUTUS ก่อนจะขึ้นเป็น Editor-in-Chief ผู้สร้างความแข็งแกร่งให้ Magazine for City Boys อย่างนิตยสาร POPEYE ได้เป็นคู่มือแฟชั่นและไลฟสไตล์ชั้นดีให้กับผู้คนมากมายที่ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังรวมไปถึง Boys และ Girls จากทั่วโลก ตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมา
ปัจจุบัน ทาคาฮิโระ คิโนชิตะ (Takahiro Kinoshita) ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและการแต่งตัวผ่านปรัชญา LifeWear เหมือนเช่นเคย ในฐานะ Group Senior Executive Officer และ Creative Director ผู้นำทีมดูแล LifeWear magazine ของแบรนด์ยูนิโคล่ (UNIQLO) รวมทั้งดูแลงานครีเอทีฟต่าง ๆ ในเครือ Fast Retailing บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าของอุตสาหกรรมแฟชั่นจากญี่ปุ่น
เพื่อตอบแทนในสิ่งที่นิตยสารได้มอบให้กับตัวเขามาตั้งแต่วัยเรียน
“ผมไม่ได้มองว่าสิ่งที่ทำอยู่คืองาน แต่มันคือสิ่งที่ผมอยากจะตอบแทนในสิ่งที่นิตยสารได้มอบให้กับผมมาตั้งแต่วัยเรียน สิ่งนั้นคือความฝัน ผมอยากจะตอบแทนและส่งต่อสิ่งที่ผมได้รับมาให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป” นี่คือสิ่งที่คิโนชิตะซังบอกกับดาโกะ
สำหรับคิโนชิตะซังแล้วนิตยสารคงเปรียบเสมือนรักแรก ในขณะที่วัยรุ่นทั่วไปตกหลุมรักกับการอ่านมังงะ คิโนชิตะเองกลับตกหลุมรักการอ่านนิตยสารแฟชั่นและดนตรีอย่างเอาเป็นเอาตาย สิ่งนั้นได้ถูกบ่มเพาะอยู่ในตัวตนของเขาจนกลายเป็นความใฝ่ฝัน
หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่ช่วงยุคฟื้นฟูประเทศถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับอิทธิพลในแง่ของวัฒนธรรม ความเชื่อ และไลฟ์สไตล์จากสหรัฐอเมริกา ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้คนเริ่มมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยไปกับสินค้าอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากความต้องการหลักด้านปัจจัย 4 เสื้อผ้ากลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งบอกรสนิยมและสถานะทางสังคม นิตยสารแฟชั่นจึงเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของวัยรุ่นหลายคนในยุคนั้น เพราะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่เป็นคัมภีร์ให้ผู้คนได้เรียนรู้ว่าการแต่งกายแบบไหนจึงจะดูดี แต่งกายแบบไหนจึงจะเรียกว่ามีรสนิยม และคิโนชิตะซังเองก็คือหนึ่งในวัยรุ่นยุคนั้นที่คอยนั่งรถไฟไป – กลับชิซุโอกะ – โตเกียวเพื่อซื้อนิตยสารแฟชั่นมากมายกลับไปอ่านที่บ้าน
หลังจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย คิโนชิตะซังตัดสินใจเดินตามความฝัน เขาตัดสินใจที่จะเข้าทำงานในตำแหน่งที่สามารถส่งต่ออิทธิพลที่เขาเคยได้รับจากนิตยสารไปยังคนหนุ่มสาวต่อได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มทำงานในสำนักพิมพ์ ก่อนจะมีโอกาสได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการของสิ่งพิมพ์ที่มีอิทธิพลต่อไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นญี่ปุ่นมาก ๆ อย่าง POPEYE เขาเปรียบความสำเร็จอีกก้าวแห่งความฝันในครั้งนี้เป็นเหมือนกับเด็กที่หลงใหลในฟุตบอลซึ่งถูกรับเลือกให้เป็นนักเตะของทีม ปารีส แซงต์ แชร์กแมง และใช้เวลาทุ่มเทกับนิตยสารที่เป็นมากกว่าแฟชั่นเล่มดังกล่าวเรื่อยมา
จนกระทั่งวันหนึ่งคิโนชิตะซังที่มองว่าเขาได้ทำทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้เพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทำงานอยู่แล้ว และอยากจะใช้เวลาที่เหลือในอาชีพการงานไปกับการสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับสังคมไม่เพียงแค่ในเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น จึงตัดสินใจก้าวออกจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างเต็มตัว
LifeWear จดหมายรักจากเพื่อนสู่เพื่อน
ในช่วงที่มีการจัดนิทรรศการนิตยสาร POPEYE คิโนชิตะซังมีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกับ ทาดาชิ ยาไน (Tadashi Yanai) ผู้ก่อตั้ง UNIQLO และเป็นผู้ที่ติดตามอ่านนิตยสารมาตั้งแต่ช่วงยุค 1970 คิโนชิตะซังเองที่สนใจยูนิโคล่ในฐานะแบรนด์มาโดยตลอด เมื่อได้เห็นคนหนุ่มสาวและผู้คนจากต่างประเทศต่างสวมใส่ยูนิโคล่ด้วยความรู้สึกในทางบวกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการได้เห็นวิสัยทัศน์ของประธานยาไนที่ตระหนักเห็นว่าบทบาทของบรรณาธิการนั้นเป็นมากกว่าการวางแผนนิตยสาร ถ่ายภาพ เขียนต้นฉบับ และแก้ไขงาน รวมทั้งการปากเอ่ยชวนเขามาร่วมงานในฐานะผู้ที่จะช่วยปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงให้ยูนิโคล่ดีขึ้นกว่าเดิมนั้นทำให้คิโนชิตะซังตัดสินใจเข้ามารับหน้าที่ดูแลงานในส่วนนี้
รูปแบบการทำงานในปัจจุบันของคิโนชิตะซังเป็นการทำงานข้ามแผนกโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ สำหรับงานด้านการตลาด งานโฆษณา ภาพประชาสัมพันธ์ภายในร้าน กิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการทำนิตยสาร LifeWear นั้นเป็นเพียง 1 หรือ 2 ใน 10 งานที่เขาดูแลเท่านั้น นอกจากงานในข้างต้น เขายังรับผิดชอบในการกำกับดูแลด้านการวิจัยและพัฒนาแนวคิดและการออกแบบเสื้อผ้าของทางแบรนด์อีกด้วย ก่อนถึงฤดูกาลต่าง ๆ เขาและทีมจะพูดคุย รวมทั้งลงลึกทุกรายละเอียดร่วมกับนักออกแบบและเหล่ากรรมการผู้จัดการเกี่ยวกับวัสดุ ดีไซน์ รายละเอียด และส่วนประกอบต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่การตลาดในเรื่องวิธีการถ่ายทอดเสน่ห์ของเสื้อผ้าชิ้นต่าง ๆ นั่นทำให้เขามองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะเป็นงานในส่วนไหนก็ตามและไม่เคยรู้สึกว่าขอบเขตความรับผิดชอบของเขากว้างเกินไป
เขามองว่าการสร้างแบรนด์จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้หากการโฆษณาดีแต่ร้านน่าเบื่อ ร้านดีแต่เสื้อผ้าไม่ได้คุณภาพ หรือเสื้อผ้าดีแต่สื่อสารได้ไม่ถูกวิธี ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงเชื่อว่าในฐานะครีเอทีฟแล้วนั้น เขาเป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง
และในอดีต ประธานยาไนเคยกล่าวไว้ว่า “ใบปลิวคือจดหมายรักถึงลูกค้าของเรา” นั่นคือสิ่งที่ทำให้นิตยสาร LifeWear ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความตั้งใจที่เปรียบเสมือนการเขียนจดหมายรักถึงเพื่อน นิตยสารที่ตั้งใจจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อ่านผ่านตัวละครหลักสำคัญของนิตยสารที่ไม่ใช่เสื้อผ้า แต่เป็นผู้คน มุมมองความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และไลฟ์สไตล์การแต่งตัวที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านเสื้อผ้าของยูนิโคล่อีกที
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่นิตยสารฉบับแรกเริ่มตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2019 ปัจจุบันนิตยสาร LifeWear เดินทางมาถึงฉบับที่ 10 แล้ว ปริมาณการตีพิมพ์และจำนวนประเทศที่วางแจกเพิ่มขึ้นเป็น 26 ประเทศ แต่ในขณะเดียวกันแนวคิดในการนำเสนอเนื้อหานั้นยังคงเป็นเช่นเดิม ด้วยความตั้งใจที่จะทำเพื่อผู้อ่านและสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์กับผู้อ่าน กระบวนการในการเล่าเรื่องจึงยังคงเป็นเช่นเดิมเหมือนตอนที่นิตยสารเริ่มตีพิมพ์
จากไลฟ์สไตล์และความเชื่อที่หลากหลาย และ “ความเบาสบาย” ที่สื่อความหมายได้หลายอย่างสู่ธีมหลัก “What is Lightness?”
ชีวิตความเป็นอยู่และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันทำให้เราได้เห็นการผสมผสานเสื้อผ้าหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น การมิกซ์แอนด์แมทช์ที่ฉีกกรอบเพศสภาพ การนำไอเท็มเอาท์ดอร์หรือเสื้อผ้าสไตล์แอ็คทีฟมามิกซ์กับเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะออกไปข้างนอก ทำงาน หรืออยู่บ้าน ไลฟ์สไตล์และความเชื่อที่หลากหลายเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นคอลเลคชั่นประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024 ขึ้นมา โดยเน้นไปที่ความเบาสบาย ไม่ว่าจะเป็นสี เนื้อผ้า หรือคุณสมบัติ รวมทั้งกลายเป็นธีมหลักในการนำเสนอเนื้อหาของ LifeWear magazine ฉบับที่ 10 นี้อีกด้วย
นิตยสารฉบับล่าสุดนี้ จะพาเราเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ลอสแอนเจลิส เบอร์ลิน และนิวเม็กซิโก โดยถ่ายทอดบรรยากาศการใช้ชีวิตประจำวันจากสถานที่แต่ละแห่ง พร้อมอัดแน่นด้วยมุมมองและแรงบันดาลใจในการทำงานหรือใช้ชีวิตของผู้คนหลากหลายอาชีพในแต่ละเมือง ผ่านเสื้อผ้าของยูนิโคล่ที่นำเสนอและดึงจุดเด่นของผู้คนที่เป็นแรงบันดาลใจเหล่านี้ออกมาให้เราได้เห็นตัวตนของพวกเขาและเธอได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โดยบุคคลที่เป็นถือแรงบันดาลใจคนสำคัญในฉบับนี้ที่ดาโกะไม่อยากให้ทุกคนพลาดการอ่านเรื่องราวของเธอเลยเด็ดขาด คือเรื่องราวของศิลปินหญิง จอร์เจีย โอคีฟ (Georgia O’Keeffe) กับผลงานภาพวาดเชิงเขาสีชมพูและทะเลทรายอันกว้างใหญ่ของนิวเม็กซิโกทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับโทนสีสว่างใสดูอ่อนโยนอย่างสีน้ำตาลอ่อน สีเขียวอ่อน และสีชมพูอมม่วงในคอลเลคชั่นประจำฤดูกาลนี้ รวมทั้งภาพที่ถูกนำมาใช้ในหน้าปกฉบับนี้ก็เป็นผลงานของเธอด้วยเช่นกัน
ส่วนใครที่รักดอกไม้และพืชพรรณต่าง ๆ ฉบับนี้ยูนิโคล่ยังได้ร่วมมือกับนิตยสาร THE PLANT จากสำนักพิมพ์ในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนรักดอกไม้ นักจัดดอกไม้ชาวปารีเซียง และนักปั้นที่ได้ร่วมงานกับ THE PLANT นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์ So Many T-Shirts, So Many Styles ที่เป็นอีกหนึ่งคอลัมน์น่าสนใจ เพราะเพียงแค่เปิดดูก็รู้สึกสนุกที่จะได้ลองมิกซ์แอนแมทช์เสื้อยืดรูปทรงคู่ใจทั้งแปดแบบที่มาพร้อมเอกลักษณ์ประจำตัวกับไอเท็มชิ้นอื่น ๆ ที่เราสวมใส่ในชีวิตประจำวันแล้ว
UNIQLO and Our Town เสน่ห์แบบไทย ๆ ที่เชื่อมโยงความเก่าและความโมเดิร์นเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
อีกหนึ่งคอลัมน์สำคัญที่ดาโกะคอยติดตามทุกฉบับและจะไม่พูดถึงไม่ได้ เนื่องจากเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้มีโอกาสได้พูดคุยกับคิโนชิตะซังในครั้งนี้ก็คือ UNIQLO and Our Town ทางนิตยสารยังไม่เคยนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยมาก่อน โดยส่วนตัวคิโนชิตะซังนั้น เขายังคงจำภาพในสมัยวัยรุ่นกับการมาท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นประจำทุกปีได้อย่างดี หลังจากได้ดูภาพยนตร์เรื่อง The Beach และเกิดความหลงใหลเกาะพีพี จึงตัดสินใจเดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ตแล้วต่อเรือไปยังเกาะพีพีเพื่อชมความสวยงามของเกาะด้วยตาตัวเอง เขาเล่าว่าทุก ๆ วัน เขาและเพื่อน ๆ จะไปเที่ยวเกาะต่าง ๆ ไปดำน้ำ พอตกเย็นก็กินอาหารพื้นเมือง ดูมวยไทย และดื่มเบียร์ไทย ความทรงจำเหล่านั้นมีความสำคัญต่อเขามาก
และมาวันนี้ ในโอกาสที่นิตยสาร LifeWear เล่ม 10 เลือกกรุงเทพฯ เป็นสถานที่จัดงานเปิดตัว คิโนชิตะซังและทีมจึงได้นำเสนอเนื้อหาที่เผยให้เห็นเสน่ห์และสีสันของกรุงเทพฯ เมืองท่องเที่ยวที่สวยงาม (แต่รถติดมาก ๆ และต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนที่เขาเคยมา) ในนิตยสารที่เขาปลุกปั้นด้วยจิตวิญญาณบรรณาธิการฉบับนี้ ภายในคอลัมน์ได้เจาะลึกกรุงเทพฯ ผ่านสถานที่ต่าง ๆ อาทิ ร้านยูนิโคล่สาขาแรกในประเทศไทย ที่ยูนิโคล่ เซ็นทรัลเวิลด์ ปอดในกลางเมืองอย่างสวนเบญจกิติ และโซนยอดฮิตของกรุงเทพฯ อย่างย่านเมืองเก่าริมน้ำที่สะท้อนถึงความงดงามและสีสันของกรุงเทพฯ เป็นต้น
มาไทยรอบนี้ ได้ท่องเที่ยวและสำรวจกรุงเทพฯ ในบรรยากาศที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เขาเคยสัมผัส ดาโกะเลยถามคิโนชิตะซังถึงไอเท็ม Lifewear ที่คิดว่าเหมาะกับคนไทย และแน่นอนว่าคงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก AIRism ที่เหมาะกับสภาพอากาศที่ร้อนทั้งปีของเมืองไทย คิโนชิตะซังยังเล่าให้เราฟังอีกว่าหลังจากที่เขาได้ลองสวมแอริซึ่มดู ชีวิตเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย นวัตกรรมที่ช่วยกระบายความร้อน ความชื้น และแห้งเร็วนี้ทำให้เขาสวมใส่ไอเท็มนี้ในทุก ๆ วันจนกลายเป็นอีกไอเท็มของยูนิโคล่ที่เขาขาดไม่ได้ เขายังบอกอีกว่านวัตกรรมนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 จนถึงปัจจุบัน ถ้าได้ลองไอเท็มที่พัฒนาขึ้นล่าสุดแล้วจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่างและความเบาสบายที่มากขึ้นอย่างชัดเจน
เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน และอนาคตในมุมมองของ Takahiro Kinoshita
ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาและก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วกับการยืนหยัดของยูนิโคล่ที่ยังคงตั้งใจจะสื่อสารกับผู้คนผ่านนิตยสารอยู่นั้น สำหรับคิโนชิตะซังมองว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม เขายังคงตื่นเช้ามานั่งดื่มกาแฟไปพร้อมกับการอ่านหนังสือพิมพ์ เขาเองไม่ได้ปฏิเสธสื่อออนไลน์โดยสิ้นเชิง และเข้าใจว่ามีบางสิ่งที่สามารถถ่ายทอดได้ด้วยช่องทางออนไลน์เท่านั้น นอกจากนี้ สื่อออนไลน์ยังมีข้อดีหลายประการ เช่น ความสามารถในการเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ในเวลาพร้อมกัน อย่างไรก็ตามคิโนชิตะซังมองว่าสื่อสิ่งพิมพ์เป็นวัฒนธรรมประเภทหนึ่ง วัฒนธรรมคือภูมิปัญญา ความคิด และความร่ำรวยที่สะสมและส่งต่อกันมานานหลายปี เขาจึงไม่คิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ควรปล่อยให้สูญสลายไป นิตยสารควรจะมีอยู่และเป็นสื่อที่ส่งต่ออิทธิพลบางอย่างให้กับคนรุ่นต่อไปได้เรื่อย ๆ
ดังนั้น การนำเสนอเนื้อหาหรือสร้างสรรค์คอนเทนต์ต่าง ๆ จึงสามารถทำควบคู่กันไปได้ทั้งช่องทางออนไลน์และนิตยสาร การมีอยู่ของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะ AI หรืออื่น ๆ ควรทำให้ชีวิตเรานั้นดีขึ้นทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตและความรู้สึก หากการมีอยู่ของเทคโนโลยีทำให้เกิดเรื่องเศร้าก็ไม่ควรมีสิ่งนั้น หลายคนอาจมองว่าเทคโนโลยี AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ และทำให้หลายอาชีพค่อย ๆ จางหายไป แต่คิโนชิตะซังกลับมองว่าหากบางอาชีพจางหายไป ก็น่าจะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เขามองว่าเทคโนโลยี AI เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก สุดท้ายแล้วความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เราต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ หากเราใช้เทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องก็คงไม่มีอะไรจะต้องกลัวหรือกังวลไป
ส่วนเรื่องสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้น ทางยูนิโคล่เองยังคงมุ่งมั่นสานต่อพันธกิจของไลฟ์แวร์ที่ต้องการจะทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นและสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ผ่านเสื้อผ้าได้เหมือนที่ผ่านมา มีการคำนึงถึงการผลิตเท่าที่จำเป็น การผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณภาพซึ่งสามารถสวมใส่ได้ยาวนาน สามารถนำมารีไซเคิล รียูส หรือส่งต่อได้ รวมทั้งการขยายสาขาใหม่ ๆ นั้น บริษัทยังได้คำนึงถึงการออกแบบเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งคำนึงถึงสิ่งที่ทางสาขานั้น ๆ สามารถมอบให้กับชุมชมในพื้นที่ได้อีกด้วย
ก่อนปิดท้ายการพูดคุยกับคิโนชิตะซังในครั้งนี้ เราได้ถามนิยามของคำว่า LifeWear ที่มีความหมายต่อเขาว่าคืออะไร คิโนชิตะซังบอกกับเราว่ามันคือสิ่งที่เติมเต็มให้ชีวิตให้ดีขึ้นทั้งในด้านอารมณ์และความรู้สึก มันคือการหาสมดุลในชีวิต อย่างเรื่องเสื้อผ้าที่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกคน แต่แน่นอนว่ายังมีแง่มุมอื่น ๆ อีกมากมายที่มีความสำคัญเช่นกัน หากเสื้อผ้านั้นสามารถยกระดับชีวิตคนเราในทางใดทางหนึ่งได้ มีราคาที่สมเหตุสมผล ดีไซน์ที่ดี ฟังก์ชั่นการใช้งาน และคุณภาพสูง และทำให้เกิดความรู้สึกดี ๆ ที่ฝังลงไปในจิตใจของผู้สวมใส่ คิโนชิตะซังมองว่าสิ่งนั้นคือ LifeWear
และนี่คือเรื่องราวของ ทาคาฮิโระ คิโนชิตะ กับจิตวิญญาณบรรณาธิการสุดแข็งแกร่งที่ยังคงไหลเวียนผ่านนิตยสาร LifeWear ที่เปรียบเสมือนจดหมายรักจากเพื่อนที่เขาตั้งใจส่งต่อให้กับพวกเราตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ค้นหาความหมายของ “ความเบาสบาย” ในแบบฉบับที่เหมาะกับแต่ละคนผ่านนิตยสาร LifeWear ฉบับที่ 10 ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024 ซึ่งมีทั้งหมด 120 หน้า และเป็นนิตยสาร 2 ภาษา (ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ได้ที่ร้านยูนิโคล่ทุกสาขา หรือทาง www.uniqlo.com/th/th/contents/lifewear-magazine/what-is-lightness พร้อมเนื้อหาเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะเวอร์ชันออนไลน์เท่านั้น
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์
ภาพประกอบ: UNIQLO
อ้างอิง
– https://news.yahoo.co.jp
– https://www.wwdjapan.com
– https://www.crash.fr
– https://magculture.com
– https://www.travelandleisureasia.com
อ่าน “ให้หัวใจได้ยิ้มและร้องไห้เป็นไปกับภาพยนตร์เรื่อง PERFECT DAYS” คลิก