“ไทกะ โดรามะ” (Taiga Drama) ละครย้อนยุคระดับชาติของญี่ปุ่น

“ไทกะ โดรามะ” (Taiga Drama) ละครย้อนยุคระดับชาติของญี่ปุ่น

ก่อนอื่นต้องขอสารภาพว่าฉันเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยติดละครเท่าไร ยกเว้นละครที่ฮิตมากจนกลายเป็นกระแสในสังคม ทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่ติดตามจะพลาดจริง ๆ ปกติช่วงสามทุ่มถึงสี่ทุ่ม ฉันมักจะดูรายการข่าวที่สรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และหลังสี่ทุ่มก็มักจะเข้านอนแล้ว เลยคิดว่าผู้อ่านคนไทยบางท่านอาจจะรู้เรื่องละครญี่ปุ่นดีกว่าฉันเยอะค่ะ (อายจัง)

และถึงแม้ว่าฉันจะเป็นคนที่ไม่ค่อยติดตามละครมากนัก ก็ยังมีช่วงเวลาที่จะต้องเตรียมตัว เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย แล้วนั่งลงตรงหน้าทีวี เพื่อรอคอยละครที่จะเริ่มเล่นเวลา 20.00 – 20.45 น. ทุกวันอาทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์ NHK นั่นก็คือ “ละครไทกะ” หรือ “ไทกะ โดรามะ” (大河ドラマ, Taiga Drama) ค่ะ นับว่าเป็น “ละครย้อนยุคระดับชาติ” โดยออกอากาศประจำทุกปีทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่มกราคมจนถึงธันวาคม มีประมาณ 50 ตอน ตอนละ 45 นาที (ไม่มีโฆษณาขัดจังหวะ) แต่ละปีจะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น หรือบางปีก็จะเป็นเรื่องราวของบุคคลซึ่งไม่ได้ถูกทำเป็นตัวหนาในหนังสือวิชาประวัติศาสร์ญี่ปุ่นให้นักเรียนได้อ่านกัน แต่จริง ๆ ได้ทำหน้าที่สำคัญมากในยุคนั้น ๆ เป็นละครที่ช่วยทำให้คนญี่ปุ่นเข้าถึงประวัติศาสร์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ในส่วนคำว่า “ไทกะ” (大河) เป็นภาษาเขียนที่สวยงามซึ่งแปลว่า “แม่น้ำกว้างใหญ่” ซึ่งเปรียบเสมือน “กาลเวลาที่ไหลผ่านไป” นั่นเอง


“ไทกะ” ประตูแห่งการเป็นนักแสดงระดับประเทศ


สำหรับนักแสดงญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง การได้รวมเล่นละครใน “ละครไทกะ” นั้นถือเป็นเกียรติอย่างสูงในอาชีพนี้ โดยเฉพาะนักแสดงผู้ใดที่ได้รับบทตัวเอก นั่นหมายความว่าเขาหรือเธอเป็นนักแสดงระดับต้น ๆ ของประเทศแล้ว ตัวอย่างเช่น นักแสดงชาย – ซาโตชิ ทสึมาบุกิ (Satoshi Tsumabuki) ที่ร่วมแสดงเรื่อง “ซามูไรหัวใจนักสู้ ” หรือ “Tenchi-jin” (ค.ศ.2009) หรือนักแสดงหญิง – ฮารุกะ อายาเสะ (Haruka Ayase) ในเรื่อง “ยาเอะ ยอดหญิงซามูไร” หรือ “Yae no Sakura” (ค.ศ.2013) เป็นต้น

แต่ในขณะเดียวกัน นักแสดงเหล่านี้และกองถ่ายก็จะได้รับความกดดันค่อนข้างสูง เนื่องจากว่าแต่ละปี การถ่าย “ละครไทกะ” นั้นจะใช้งบประมาณมหาศาลทั้งจากภาครัฐและค่าธรรมเนียมในการรับชม NHK จากผู้ชม ดังนั้น ละครแต่ละปีจะน่าติดตามไหม นักแสดงมีคุณภาพไหม เรตติ้งจะเป็นอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในสมัยนี้


ละครที่สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์


ตั้งแต่ละครไทกะเรื่องแรกคือ “Hana no Shogai” เริ่มออกอากาศในปี ค.ศ.1963 เป็นต้น จนถึงปัจจุบันนี้มีละครไทกะมากถึง 60 เรื่องแล้ว โดยเฉพาะเรื่องราวของนักรบซามูไรในยุคเซ็นโกคุ (Sengoku) ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ถึงปลายศตวรรษที่ 16 นั้นถือเป็นที่ชื่นชอบของคนญี่ปุ่นไม่น้อย ในยุคดังกล่าวมีวีรบุรุษด้วยกัน 3 ท่าน ได้แก่ โอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga), โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi), โทคุกาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu) ซึ่งผลัดเปลี่ยนอำนาจกันไปมามากที่สุดและมีการรวบรวมแคว้นต่าง ๆ เข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียวซึ่งนำไปสู่ยุคเอโดะในเวลาต่อมา

“ไทกะ โดรามะ” (Taiga Drama) ละครย้อนยุคระดับชาติของญี่ปุ่น

เรื่องราวเกี่ยวกับยุคนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นละครไทกะมากถึง 20 เรื่อง สำหรับละครประจำปีค.ศ.2020 เรื่อง “Kirin ga Kuru”(麒麟がくる)ที่นำแสดงโดยฮิโรกิ ฮาเซกาวะ (Hiroki Hasegawa) ก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวของยุคเซ็นโกคุเช่นกัน เป็นเรื่องราวของอาเคจิ มิตสึฮิเดะ (Akechi Mitsuhide, ค.ศ.1528 – 1582) นักรบซามูไรมือขวาของโอดะ โนบุนากะ ซึ่งค่อย ๆ มีความคิดที่ไม่ตรงกับเจ้านายผู้สร้างศัตรูไว้มากมาย จนในที่สุดเขาได้สังหารเจ้านายตัวเองที่วัดวัดฮนโนจิ เมืองเกียวโต ถือเป็นเหตุการณ์โด่งดังสุดขีดในประวัติศาสร์ญี่ปุ่นที่ทำให้ภาพลักษณ์ของอาเคจิ มิตสึฮิเดะกลายเป็นคนทรยศและตัวร้ายในสายตาของคนญี่ปุ่นทั่วไป

แต่ในความเป็นจริงเขาคงจะไม่ได้มีเพียงด้านเดียว ในละครเรื่องนี้ ผู้ชมจะได้รับรู้ว่าเขามีวิสัยทัศน์กว้างไกลขนาดไหน ซื่อสัตย์ต่อนายอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือเหตุผลใดจึงต้องฆ่าเจ้านาย ซึ่งเป็นการสร้างบทละครขึ้นใหม่โดยไม่เคยมีการทำเป็นละครมาก่อน และไม่สามารถเรียนรู้ได้จากหนังสือวิชาประวัติศาสร์ญี่ปุ่น

นอกจากเนื้อเรื่องที่น่าติดตามแล้ว นักแสดงในเรื่องยังเล่นได้สมบทบาท สามารถถ่ายทอดความเป็นบุคคลนั้น ๆ ออกมาได้อย่างดีเลิศ ไม่ว่าจะเป็นของอาเคจิ มิตสึฮิเดะ (รับบทโดย ฮิโรกิ ฮาเซกาวะ), โอดะ โนบุนากะ (รับบทโดย โชตะ โซเมทานิ), คิโจ ภรรยาของ โอดะ โนบุนากะ (รับบทโดย ฮารุนะ คาวากุจิ) ทำให้ละครเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ได้รับกระแสความนิยมเป็นอย่างมากในสังคมญี่ปุ่นค่ะ


เรียนรู้วิถีชีวิตของเออิจิ ชิบุซาวะ (Eiichi Shibusawa) บุคคลบนธนบัตร 10,000 เยนแบบใหม่


“ไทกะ โดรามะ” (Taiga Drama) ละครย้อนยุคระดับชาติของญี่ปุ่น

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรื่อง “Seiten wo Tsuke” (青天を衝け) ได้เริ่มออกอากาศหลังจากถูกเลื่อนไปหนึ่งเดือนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 นำแสดงโดยเรียว โยชิซาวะ (Ryo Yoshizawa) ซึ่งเป็นนักแสดงหนุ่มหน้าตาเกลี้ยงเกลา ละครเล่าถึงเรื่องราวของเออิจิ ชิบุซาวะ (渋沢栄一, ค.ศ. 1840 – ค.ศ.1931) ช่วงสมัยปลายเอโดะถึงสมัยเมจิ เขาเป็นลูกชายของครอบครัวเกษตรกรรมที่ปลูกคราม จนกลายเป็นนักธุรกิจที่ได้ชื่อว่า “บิดาแห่งระบบทุนนิยมของญี่ปุ่น” โดยก่อตั้งบริษัทขึ้นมาถึง 500 แห่ง แต่จริง ๆ แล้วชีวิตของท่านยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก ดังนั้น เราจึงต้องหันมาให้ความสนใจท่านกันเพราะว่านับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2024 ญี่ปุ่นจะมีธนบัตรใหม่ ซึ่งภาพของท่านจะปรากฏอยู่บนธนบัตร 10,000 เยนนั่นเอง ละครเรื่องนี้จึงถือเป็นช่องทางที่ดีในการศึกษาประวัติชีวิตของเออิจิ ชิบุซาวะ และทำให้เรารู้สึกภูมิใจในการพกพาธนบัตรของท่านไว้ในกระเป๋าสตางค์ค่ะ

อ้างอิง
www2.nhk.or.jp/archives/search/special/detail/?d=taiga000
www.shibusawa.or.jp
www.nikkei.com/article/DGXMZO43505090Z00C19A4MM8000

Cover Illustration : Ma-een


No Working After Hours! กับการส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นลดการทำงานล่วงเวลาคลิก
ที่สุดแล้ว เราต่างอยู่ในกระแสป๊อบคัลเจอร์ (Pop Culture) ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นคลิก

views