“Storyboard มันเหมือนกับการวาดภาพในอากาศให้คนที่ยังไม่รู้เรื่องราวได้เห็นภาพ”


คุณแว่น ทวีลาภ เอกธรรมกิจ (หรือ Van Sketch Boards) คือ Storyboard Artist ที่มากฝีมือและประสบการณ์การณ์ โดยได้มีส่วนร่วมในการทำงานในวงการบันเทิงไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ โฆษณา หรือละครทั้งไทยและเทศ ตอนนี้ยังมีโปรเจ็กต์ละคร “พิภพหิมพานต์” ที่กำลังจะฉายในช่วงกลางปีอีกด้วย

แนะนำตัวให้รู้จักกันหน่อย

ครับ ผมชื่อ นาย ทวีลาภ เอกธรรมกิจ ชื่อเล่น แว่น เรียนจบจาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เอกภาพยนตร์และวิดีโอ ปัจจุบันเป็น Storyboard Artist ให้กับหนังและโฆษณา และละครอีกนิดหน่อยครับ ตอนนี้มีโปรเจ๊กต์ที่กำลังจะฉายในช่วงกลางปีซึ่งเป็นละครที่ทำกับเพื่อน ๆ ชื่อ พิภพหิมพานต์ ของช่อง 3 ครับ แล้วก็มีจะไปวาด Board ให้กับหนังอีก ซึ่งยังคงเป็นความลับอยู่ครับ

อธิบายความหมายของ “Storyboard” ว่าคืออะไร สำหรับคนที่อาจไม่คุ้นกับคำนี้มาก่อน

Storyboard คือสื่อกลางในการช่วยในการสื่อสารครับ ถ้าแปลตรงตัวเลยก็คือ Story แปลว่า เรื่องราว ส่วน Board แปลว่า กระดาน รวมกันมันก็คือการเอาเรื่องราวไปแปะไว้บนกระดาน เพื่อให้เราเห็นภาพรวมก่อนจะทำงานจริง ซึ่งข้อดีคือช่วยลดระยะเวลาในการทำงานได้มากทีเดียว

ความสำคัญของการเขียน Storyboard คืออะไร

คร่าวๆ เลยก็คือ Storyboard เหมือนกับการวาดภาพในอากาศให้คนที่ยังไม่รู้เรื่องราวได้เห็นภาพ ยกตัวอย่างเหมือนเราออกจากบ้าน แล้วเจอเหตุการณ์นึงที่ตื่นเต้นสุดๆ เช่น วันนี้นั่งรถเมล์ที่ขับรถซิ่งมาก แล้วเรามาเล่าให้เพื่อนฟัง ตอนที่เล่า ภาพในหัวของเพื่อนแต่ละคนที่ฟังจะมีภาพไม่เหมือนกัน ตรงนี้แหละที่ Storyboard จะมาช่วยแก้ปัญหาทำให้ภาพของแต่ละคนตรงกัน  หรือจะทำยังไงให้เขาเห็นภาพเหมือนกันหมด การวาด Storyboard ก็คล้าย ๆ กับการวาดการ์ตูน แล้วเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังไปด้วยว่าแต่ละจังหวะเกิดอะไรขึ้น รถวิ่งมาทางไหน เรานั่งอยู่ส่วนไหนของรถ คนขับรถมีอารมณ์แบบไหน  คนนั่งรถตกใจมั้ย มีคนแบบไหน เช่น เด็ก คนแก่  นักเรียนหญิง หรือชาย เหมือนการเอาคำพูดมาสเก็ตช์ให้เห็นเป็นภาพคร่าว ๆ เพื่อนำไปทำงานต่อ ขออธิบายอีกนิดนึง คือ Storyboard สามารถแบ่งย่อยลงไปอีกว่าจะเอาไปใช้งานแบบไหน เช่น เล่าเรื่องธรรมดา เล่าเรื่องเพื่อเอาไปใช้ในการถ่ายทำหนังหรือละคร หรือเล่าเรื่องเพื่อแบ่งเอาไว้สำหรับทำงาน Visual Effect โดยมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปซึ่งค่อนข้างวุ่นวายครับ

แล้วงานแบบไหนที่จำเป็นต้องมี Storyboard หรืองานแบบไหนที่ไม่ต้องมีก็ได้
ขอยกตัวอย่างนะครับ อย่างเช่นหนังที่มี Special Effect เยอะๆ ถ้าไม่เขียน Storyboard ละก็ จะแยกลำบากมากว่าตรงนี้ควรถ่ายเพื่อไว้ทำ Effect ตรงนั้นต้องถ่าย Background เผื่อไว้ ตรงนี้ต้องกางผ้ากรีนจะได้ทำ Effect ง่ายขึ้น เพราะแต่ละการวางมุมกล้องมันมีผลหมด รวมไปถึงจะได้รู้ว่าต้องมีรายละเอียดในการถ่ายเพิ่มเติมอีกมั้ย สมมติว่าทีมงานทุกตำแหน่งมานั่งประชุมกันแล้วไม่มี Storyboard ก็ต้องมานั่งอธิบายทำท่าให้ดูกันว่าจะถ่ายแบบไหนยังไง แต่ถ้ามีการสเก็ตช์มาก่อน ก็จะไม่ต้องเสียเวลาอธิบายแต่ละส่วน เราสามารถใช้เวลาไปคุยเรื่องรายละเอียดส่วนอื่นได้ อีกอย่างคือมันช่วยลดค่าใช้จ่ายกับเวลาในการทำงานไปได้เยอะเลย  เพราะไม่ต้องเสียเวลามาเดากันว่าจะถ่ายแบบไหนหรือต้องใช้ของอะไรบ้าง ส่วนที่ไม่ต้องวาด ผมขอยกในกรณีหนังกับละครละกัน ส่วนมากจะเป็นงานที่ถ่ายเรียบ ๆ เช่น นั่งคุยกัน ซึ่งปกติเวลาทำงานของละคร มันจะมีเวลาให้น้อยมากแถมต้องถ่ายเยอะ ส่วนมากก็จะเป็นฉากคุยกัน มีตัวละครเดินไปมา เขาเลยต้องซ้อม Acting กันก่อน ผู้กำกับก็จะเห็นภาพ และใช้จังหวะตอนซ้อมเพื่อปรับแก้มุมกล้องและแสงไปในตอนนั้นซึ่งอันนี้ไม่ได้ซับซ้อนมาก แต่ถ้าเป็นฉากคุยที่ซับซ้อนขึ้นก็อาจจะต้องใช้ Storyboard พูดได้ว่าแล้วแต่ความต้องการของผู้กำกับครับ

ในฐานะที่อยู่ในวงการนี้มานาน อะไรเป็นข้อสำคัญที่จะทำให้การเขียน Storyboard ดีขึ้น

ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม  อ่านหนังสือ ตามข่าว ตามแฟชั่นว่าไปกันถึงไหนแล้ว มันก็ช่วยทั้งหมดครับ ต้องหมั่นอัพเดทตัวเองด้วย ทั้งผีมือการวาด ทั้งสไตล์อาร์ต ยิ่งในสมัยนี้ก็ต้องทันโลกด้วย ถ้าจะให้ดีก็ต้องทำให้ได้ทั้งหมดครับ

มีสิ่งไหนที่ไม่ควรทำเมื่อเริ่มวาด Storyboard หรือเปล่า

จริงๆ แล้วไม่มีนะครับ มีแต่สิ่งที่ควรทำ คือทำอะไรได้ก็ควรทำทั้งหมด สมมติว่าเราวาดรูปไม่เก่ง จะอธิบายคนอื่นยังไง บางทีก็ต้องเอาสื่ออื่นเข้าช่วย เช่น ภาพถ่าย ช็อตจากหนังที่ชอบ แสงเงา บรรยากาศ แม้แต่เพลงที่ช่วยบรรยายเล่าเรื่องก็ควรจะเตรียมไว้ก่อนเพื่อให้เข้าถึงอารมณ์ที่สุดครับ

หากจะเขียน Storyboard ขึ้นมา 1 ชิ้น ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ต้องมีเรื่องที่อยากจะเล่าก่อนครับ ว่าเราอยากเล่าเรื่องอะไร คนวาด Board จะต้องเป็นคนที่เล่าเรื่องเก่งพอสมควร แล้วหลังจากนั้นเราจะขยายเรื่องที่กำลังเล่าให้สนุกขึ้นได้ยังไง ตรงไหนน่าเบื่อ ตรงไหนยืดเยื้อ ตรงไหนไม่ทำให้เรื่องมันเดินไปต่อก็ควรตัดออกก่อน

เคยร่วมงานกับโปรดักชั่นของต่างประเทศบ้างมั้ย

เคยครับ  เคยวาด Storyboard ให้กับหนังฝรั่ง หนังจีน แล้วก็หนังอินเดีย ซึ่งมีหลายเรื่องที่มาถ่ายทำในไทย ถ้าให้นับคร่าวๆ ก็น่าจะมีหลายสิบเรื่องครับ เคยมีบางเรื่องตอนวาดก็ใช้ชื่อนึง แต่พอออนแอร์ก็กลายเป็นอีกชื่อนึง บางทีผ่านไปหลายปีแล้วดูหนังอยู่ผมก็ เอ๊ะ ช็อตมันคุ้นๆ นะ ทั้งที่ยังไม่เคยดู แต่ถ้าเป็นพวกโฆษณานี่ผมทำมานับไม่ถ้วนครับ

ได้ข่าวมาว่าเคยร่วมงานกับฝั่งญี่ปุ่นด้วย

ครับ แต่เอาจริงๆ มันเหมือนโฉบไปโฉบมามากกว่า คืองานวาด Storyboard มันไม่ได้เจอกับคนญี่ปุ่นตรงๆ เราเหมือนทำงานกับคนไทยมากกว่า เพื่อช่วยในการสื่อสารให้เข้าใจกันง่ายขึ้นโดยไม่ต้องผ่านล่ามในการแปล เพราะแค่จะอธิบายมุมกล้อง กับเลนส์ว่าอยากได้ภาพแบบไหนมันก็ยากแล้ว ถ้ามีเรื่องภาษาเข้ามาอีก จะยิ่งวุ่นวายไปใหญ่ ส่วนงานที่จะได้ทำกับโปรดักชั่นญี่ปุ่นเต็มๆ คือกำลังรอเจรจาอยู่ครับ น่าจะเป็นเรื่องของในอนาคตมากกว่า

แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานคืออะไร

เยอะเลยครับ ทั้งหนัง เพลง เกม หนังสือ และการ์ตูน ผมเป็นคนที่ชอบพวกนี้หมดเลย แต่เอาจริงแล้วสิ่งในปัจจุบันที่มีผลกับชีวิตมากก็คงเป็น ภาพยนตร์ การ์ตูน และเกมครับ เพราะส่วนตัวคิดว่า 3 อย่างนี้มันก้าวข้ามขีดจำกัดจินตนาการไปได้ไกลมาก ๆ แล้วผมก็ติดมาตั้งแต่เด็ก เลยมีผลกับผมมาก อย่างแรงบันดาลใจจากเกมสมัยที่เคยเล่นเครื่องนินเทนโด้ตอนเด็ก คือ เกม Final Fantasy III เกมมาริโอ้  หรือเกมแดรกคูล่า (Castlevania) สมัยนั้นภาพมันจะเป็น 8 บิท แถมเป็นภาษาญี่ปุ่นอีก ตอนเล่นก็เดาเนื้อเรื่องไปมา จินตนาการว่าตัวละครมันคุยอะไรกัน จนเอาไปเขียนเป็นการ์ตูน มันสนุกมาก ผมเลยชอบวาดรูป เคยอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนอยู่ครับ แต่ชอบหนังเลยมาจบตรงที่วาด Storyboard เพราะมันลงตัวกับเราที่สุด

สามารถติดตามคุณแว่นได้ทางไหนบ้าง
ผมมีเพจอันนึงไว้อัพงาน แต่ก็นานๆ จะอัพที เพราะต้องรอให้งานออนแอร์ก่อนถึงค่อยเอามาลง ชื่อเพจว่า sketchboards ฝากไปกดตามกันด้วยนะครับ


ช่องทางติดต่อ

FB: @sketchboards

views