Story Teller

ฟุจิวาระซัง และสุมิโยชิยามะซัง ใช้เวลาเกือบร่วมเดือนในการเดินลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยในย่านกรุงเก่าอย่างฝั่งธนฯ บรรจงเขียนและเรียบเรียงคัมภีร์ Engeki Quest ขึ้นมา

ซึ่งวิธีอ่านหรือวิธีเล่นสนุกกับหนังสือเล่มนี้ จะทำให้ผู้ที่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือได้เดินผจญภัยด้วยตนเองตามตัวหนังสือ และเข้าใจชุมชนลึกซึ้งกว่าที่เคย ลึกซึ้งกว่าการที่สถานที่เหล่านั้นเป็นแค่สถานที่ท่องเที่ยว เพราะศิลปินทั้ง 2 คนได้นำเสนอมุมแปลกๆ ที่ไม่ค่อยมีชาวต่างชาติคนไหนทำกัน หรือแม้แต่คนไทยอย่างเรา ก็อาจจะไม่เคยมองชุมชนในมุมที่พวกเขานำเสนอเลยด้วยซ้ำไป

 

 

จิคาระซัง และมิโนริซัง คือ 2 ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เขียนคัมภีร์ผจญภัยชื่อ Engeki Quest : แมวธนฯ ผู้ไร้นาม ขึ้นที่ย่านคลองสาน กรุงเทพฯ ช่วงต้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สำหรับงานเทศกาลศิลปะนานาชาติสุดแนว “LOW FAT ART FES VOL. 3” ในปีนี้ ทำให้เราได้มีโอกาสได้พบกับ 2 ศิลปินญี่ปุ่นที่เดินทางมาสำรวจชุมชนในย่านฝั่งธนฯ ของกรุงเทพฯ ก่อนที่พวกเขาจะรังสรรค์คัมภีร์เล่มหนึ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่จะทำให้พวกเราได้สนุกไปกับการเดินทางและผจญภัยผ่านคัมภีร์ หรือจะเรียกง่ายๆ ก็คือไกด์บุ๊คฉบับนี้ “Engeki Quest” ซึ่งใช้เวลาในการรังสรรค์กว่า 3 เดือนด้วยกัน

 

คัมภีร์


เนื่องจากหนังสือ Engeki Quest เล่มนี้ไม่ใช่เล่มแรก เท่าที่คุณทำมาแต่ละเมืองมีความเหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

จิคาระ : ที่ผ่านมา นอกจากญี่ปุ่นแล้ว เราได้สร้าง ENGEKI QUEST ไว้ที่ มะนิลา (ประเทศฟิลิปปินส์) ดุซเซลดอร์ฟ (เยอรมนี) อันซาน (เกาหลีใต้) ฮ่องกง แล้วก็กรุงเทพฯ ไม่ว่าเมืองไหนสภาพแวดล้อมก็ต่างกันไปครับ ไม่ว่าจะภาษา ค่าเงิน วัฒนธรรมการกิน วิธีการคมนาคม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกเมืองมีร่วมกันคือ ประวัติศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ มีถนนซอกซอย (street) มีน้ำไหลเวียน และมีผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ ENGEKI QUEST คือการที่พวกเราเข้าไปคลุกคลีกับองค์ประกอบเหล่านี้ ในขณะที่เขียน “คัมภีร์ผจญภัย” ขึ้นมา

มิโนริ : ฉันจะไม่ค่อยมองแต่ละเมืองแล้วเปรียบเทียบหาจุดร่วมจุดต่างเท่าไหร่ สิ่งที่ฉันให้ความสำคัญมากกว่าการมองแบบนั้นคือ ตัวฉันจะผูกสัมพันธ์กับคนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นได้อย่างไร สิ่งที่ฉันประทับใจเกี่ยวกับย่านธนบุรีคือเสียงนกร้องและวิวพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากค่ะ แล้วก็ชอบข้าวเหนียวส้มตำกับขนุน ชอบมากจนถึงแม้จะกินแล้วท้องไส้ปั่นป่วนก็ยังกินค่ะ


ศิลปะในมุมมองของศิลปินทั้ง 2 ท่านคืออะไร?

จิคาระ : ผมคิดว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงกรอบการมองสิ่งต่างๆ ครับ โดยเฉพาะกับ ENGEKI QUEST เนี่ย ผมทดลองวาดแผนที่ในสมองของผู้เข้าร่วมให้ใหม่ครับ มนุษย์เราพอใช้ชีวิตซ้ำๆ ไปในแต่ละวัน เราจะเริ่มสร้างกิจวัตรประจำขึ้นมา แล้วการจะก้าวออกจากวงจรนั้นก็จะยากขึ้น “การผจญภัย” มันก็คือการก้าวออกมาจากกิจวัตรนั้นครับ แค่ที่ใกล้ๆ เดินจากบ้านไป 5 นาทีก็ได้ครับ “การผจญภัย” เป็นไปได้เสมอ ถ้ามีชิ้นงาน หรือกิจกรรมอะไรที่เปิดการ “การผจญภัย” นี้ให้แก่คนอื่นได้ล่ะก็ ผมว่าการทดลองนั้นก็สามารถเรียกกว่าศิลปะได้นะครับ

มิโนริ : ถ้าถามว่าศิลปะคืออะไร ฉันคงอธิบายทั้งหมดเป็นคำๆ เดียวไม่ได้หรอกค่ะ เพราะฉะนั้นฉันจะขออนุญาตแชร์สิ่งที่ตัวเองค้นพบระหว่างการสร้างงาน “ENGEKI QUEST: แมวธนฯ ผู้ไร้นาม” แทนแล้วกัน (เป็นสิ่งฉันเคยตอบตอนให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์ LOCALRY ค่ะ) อาจเป็นคำพูดที่นามธรรมซักหน่อย แต่ฉันคิดว่าศิลปะคือเมล็ดพันธุ์ค่ะ เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์บางอย่างในใจคน เมล็ดพันธุ์นั้นจะงอกราก ออกดอกผล กลับกลายเป็นเมล็ดพันธุ์อีก หว่านต่อไปให้เติบโตในใจผู้อื่นต่อๆ ไป


ในการสัมภาษณ์บนหนังสือ NANANIPPON คุณจิคาระกล่าวไว้ว่า การใช้ชีวิตประจำวันมีเสน่ห์มากกว่าในละคร อยากให้ช่วยอธิบายและยกตัวอย่างเสน่ห์ดังกล่าว?

จิคาระ : แน่นอนว่าละครเวทีหลายๆ เรื่องก็มีเสน่ห์นะครับ  เพียงแค่ว่าเมื่อสองสามปีก่อน ผมเริ่มรู้สึกว่าในโตเกียวที่ตอนนั้นผมทำงานใช้ชีวิตอยู่เนี่ย ผลงานละครเวทีที่จัดแสดงในโรงละครแบล็กบ็อกซ์นั้น มักถูกขังอยู่ในจินตนาการของเหล่านักบทละครรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม นักเขียนรุ่นใหม่เหล่านี้หลังจบมหาลัยก็ไม่ได้มีประสบการณ์ทำงานในบริษัท คุยแต่กับเพื่อนๆ ในวงการละครเวทีโตเกียวด้วยกัน มีแต่ประสบกาณ์ที่แคบมาก แต่นอกโรงละครแบล็กบอกซ์มันมีผู้คนอีกหลายหลายที่มีชีวิตอยู่

ตอนนั้นผมได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวของเมืองโยโกสุกะที่อยู่ทางตอนใต้ของโตเกียวเป็นพิเศษเลย เมืองนี้มีทั้งฐานทัพของอเมริกา ทั้งฐานของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นตั้งอยู่ ผมก็ไปสนิทสนมกับบรรดาทหารบก ทหารเรือเก่าที่ร้านเหล้า ชีวิตของพวกเขาต่างจากวัยรุ่นที่ทำงานพิเศษไปด้วยทำละครไปด้วยในโตเกียวกับอย่างลิบลับเลยครับ จากนั้นผมก็ได้เรียนรู้ว่า คนที่เราเห็นว่าธรรมดาเหลือเกินนั้น แท้จริงแล้วเขาก็มีเรื่องราวอยู่มากมาย ในความเป็นจริงก็เป็นงั้นใช่ไหมล่ะครับ อย่างน้อยๆ พ่อแม่คุณก็ต้องมีเรื่องเล่าตอนคลอดคุณล่ะ คนที่อยู่ข้างๆ คุณก็ต้องมีเรื่องเล่าอะไรบางอย่างเช่นเดียวกัน

มิโนริ : ส่วนตัวฉันคิดว่า สิ่งนั้นมันจะมีมีเสน่ห์ (fascinating) หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่ความต่างของเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน (ordinary daily life) หรือเรื่องในละคร (in a theatre) แต่อยู่ที่ว่าเราจะสามารถมองเห็นชีวิต (life) ของคนนั้นในฐานะปัจเจกบุคคลได้หรือไม่ต่างหากค่ะ


สิ่งที่ศิลปินทั้งสองท่านได้รับหรือเรียนรู้จากการทำหนังสือ Engeki Quest?

จิคาระ : ผมได้เรียนรู้ความจริงที่ว่า เราไม่สามารถควบคุมผู้เข้าร่วมได้อย่างหมดจดครับ พฤติกรรมของผู้เข้าร่วมหักหลังความคาดการณ์ของผมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ตอนนี้ผมเริ่มรู้สึกว่า การปล่อยพื้นที่ให้พวกเขาได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระนั้นน่าสนใจกว่าการเข้าไปบงการควบคุมเยอะครับ หมายความว่าตัว “คัมภีร์ผจญภัย” นั้น เป็นเพียงแค่สื่อที่ใช้เพื่อร่วมเล่นกับผู้เข้าร่วมเท่านั้น ส่วน ENGEKI QUEST นั้นจะถูกเติมเต็มได้อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้เข้าร่วมเล่นเลยครับ

มิโนริ : ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนค่ะ ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบันเราดันคุ้นชินกับการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องสื่อสารกับคนอื่นเกินความจำเป็นเสียแล้ว (เช่น ตามร้านสะดวกซื้อ บนรถไฟ) ในช่วงเวลาที่เราเก็บข้อมูลทำ ENGEKI QUEST พวกเราได้พูดคุยทักทายกับคนตามร้านค้าท้องถิ่นทุกวันเลย ด้วยความที่ฉันเป็นคนขี้อาย การที่จะเข้าไปคุยกับคนที่ไม่รู้จักเป็นครั้งแรกนั้นต้องใช้ความกล้าอย่างมาก ฉันมีโอกาสได้ลงลึกกับการฝึกฝนการผูกสัมพันธ์อย่างเท่าเทียมและเป็นมิตรกับผู้อื่นผ่านการเก็บข้อมูล ซึ่งมันก็ไม่ได้มีแต่การเห็นพ้องต้องกันตลอดนะคะ มันรวมไปถึงการเสนอข้อคิดเห็นตัวเองอย่างชัดเจน และการฟังข้อคิดเห็นของคนอื่นอย่างจริงใจด้วยค่ะ


หลังจากทำหนังสือ Engeki Quest ฉบับเมืองแมวธนฯ ผู้ไรนามไปแล้ว มุมมองที่มีกรุงเทพฯ เปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร?

จิคาระ : เปลี่ยนไปสิ้นเชิงเลยครับ! พอเดินวนเวียนอยู่ทุกๆ วัน ผมก็ยิ่งเริ่มรู้สึกผูกพันกับตรอกซอกซอยของพื้นที่คลองสานขึ้นมา โดยเฉพาะตรงอุทยานสวนสมเด็จย่าที่เป็นจุดเริ่มต้นการผจญภัยไปจนถึงย่านท่าดินแดง ได้รู้จักคนเยอะขึ้น ท้ายที่สุด พวกเราก็ไปตีแบดแถวท่าดินแดง กระดกช็อตยาดองข้างทาง เล่นวีดิโอเกมกับเด็กๆ เป็นปกติราวกับใช้ชีวิตตรงนี้ทุกวัน ก็มานั่งคิดว่าเราลงเอยกันแบบนั้นได้ไง?

คงเป็นเพราะเราเอาแต่เดินกันลูกเดียวมั้งครับ ในพื้นที่นี้มีชุมชนที่มีชีวิตอยู่ เดินๆ ไปพวกเขาก็คอยสังเกตหน้าตาเราพอเป็นแบบนั้นเราก็ค่อยๆ รู้สึกได้ถึงวงจรที่เป็นธรรมชาติของมัน (ที่ organic) ที่ไหลเวียนอยู่ในเมืองนี้ ผมคิดว่าสิ่งนี้ก็มีอิทธิพลกับ ENGEKI QUEST ถ้ามีโอกาสผมอยากให้ลองถือหนังสือเข้าไปเยี่ยมเยียนพื้นที่ตรงนี้อีกครับ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแต่หลายๆ ครั้งเลย คุณอาจจะค่อยๆ ได้เห็นระดับชั้นมุมมองที่ต่างออกไปในแต่ละครั้งก็ได้ ครั้งแรกทุกอย่างจะสดใหม่มาก แต่เดี๋ยวก็จะค่อยๆ คุ้นเคย แล้วเดี๋ยวภาพของความเข้าใจอีกระดับก็จะปรากฏให้คุณเห็น

มิโนริ : ฉันดีใจมากๆ ที่ได้มีโอกาสคุยแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเมือง ศิลปะ ชุมชน และชีวิตของแต่ละคนกับทีมงาน Low Fat Art Fes และผู้ร่วมเล่น “ENEGEKI QUEST แมวธนฯ ผู้ไร้นามทุกคน” ผ่านการทำงานชิ้นนี้ ถึงแม้จะเกิดและถูกเลี้ยงดูมาจากที่ๆ ไกลกัน แต่ฉันก็ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เป็นคนรุ่นเดียวกันมากมาย การได้ระลึกถึงใบหน้าของแต่ละคนเวลาคิดถึงกรุงเทพฯ แล้วมันเหมือนเราได้ที่นี่เป็นบ้านเกิดอีกที่เลยค่ะ


คุณจะทำหรืออยากทำ Engeki Quest ที่เมืองไทยในย่านไหนเพิ่มเติมหรือไม่?

จิคาระ: แผนการของ ENGEKI QUEST ต่อจากนี้ก็มีเวิร์คช็อปที่ฮ่องกง และการสร้างเวอร์ชั่นใหม่ที่โตเกียวครับ ต่อจากนั้นก็มีอีกสองสามโครงการ ฉะนั้นโปรเจ็กต์นี้ยังไปต่อครับ สำหรับในเมืองไทย น่าเสียดายที่ตอนนี้ยังไม่มีแผนอะไรที่เป็นรูปธรรมครับ แต่ยังไงผมก็อยากลองทำงานในพื้นที่อื่นของเมืองไทยด้วย อาจจะทำงานใหม่ในกรุงเทพฯ หรือที่อื่น หรือด้วยคอนเซ็ปต์อื่นก็เป็นได้

แต่ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนไปลองเล่น “ENGEKI QUEST แมวธนฯ ผู้ไร้นาม” ที่ผมทำครั้งนี้กันครับ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการแจก “คัมภีร์ผจญภัย” อยู่ในเพจเฟซบุ๊คของ Low Fat Art Fes อยู่ครับ ใครที่ยังไม่ได้รับไปเล่นก็ยังมีโอกาสอยู่นะครับ เราไม่ได้กำหนดจุดจบสุดท้ายสำหรับการผจญภัยครั้งนี้ แต่จริงๆ แล้วมีเป้าหมายให้เก็บ 2 ที่ นั่นคือ “ตึกแฝด” และ “เจดีย์ยักษ์ใหญ่สีขาว” ครับ โดยเฉพาะ “เจดีย์ยักษ์ใหญ่สีขาว” เนี่ย ระดับความยากของการผจญภัยจะสูงหน่อย ขอให้ลองไปท้าทายตัวเองดูกันนะครับ

มิโนริ: ถ้ามีโอกาสก็อยากมาสร้างงาน ไม่ว่าจะเป็น ENGEKI QUEST หรืองานอื่น และจัดแสดงใก้ทุคนมีส่วนร่วมอีกค่ะ ตอนนี้ฉันสนใจคนไทยเชื้อสายจีน และความหลากหลายทางเชื้อชาติในเมืองไทยค่ะ สนใจว่าประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายถิ่นของชาติพันธุ์ต่างๆ ในพื้นที่ภาคพื้นทวีปว่าเป็นอย่างไร แล้วนั่นปรากฏให้เห็นในประเทศไทย ณ ปัจจุบันอย่างไรบ้าง และผู้คนรับมือกับสิ่งนั้นอย่างไร พอเราอยู่ในประเทศเกาะอย่างญี่ปุ่นแล้วเนี่ย โอกาสที่เราจะได้ตระหนักรู้เรื่อง “เชื้อชาติ” มันมีน้อยมาก ฉันอยากจะศึกษาลงลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปอีก โดยที่ไม่ได้จำกัดแค่การทำงานผ่าน ENEGEKI QUEST ค่ะ

 

ขอบคุณ NANANIPPON และ The Japan Foundation, Bangkok

 

views