
“การมีชีวิตอยู่มันไม่ใช่แค่ทำงานหาเงิน มันมีอะไรมากกว่านั้น”
เอกพงษ์ เหมรา (เอก)
เอกพงษ์ เหมรา อดีตนักดนตรีที่ปัจจุบันเป็นครูสอนดำน้ำและเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Reef Guardian Thailand
อาสาสมัครพิทักษ์แนวปะการังและมหาสมุทรของประเทศไทย
ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมในโลกนั้นสัมพันธ์กับผืนทะเล ฉะนั้นเมื่อวันที่ทะเลเสื่อมโทรมลงก็ส่งผลกระทบ
ต่อทั้งชีวิตมนุษย์และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่สร้างประโยชน์ให้แก่โลก การเริ่มต้นแก้ไขและปกป้องจึงอยู่ในมือของพวกเราทุกคน
1.เปลี่ยนเส้นทางจากสายดนตรีมาสู่การปกป้องผืนทะเลได้ยังไง
มันก็ไม่ได้เรียกว่าเปลี่ยนนะ ดนตรีเราก็เล่น ส่วนการดำน้ำและอยู่กับปะการังผมก็ทำอยู่แล้ว เนื่องจากเกิดและอาศัย
อยู่บนเกาะ จริงๆ แล้วผมก็ถนัดทั้งดำน้ำและดนตรี แต่พอมันมีโอกาสทำงานด้านดนตรี ผมก็ลองไปทำ
พอถึงจุดที่คิดว่าพอแล้วกับด้านนี้ ผมก็ตัดสินใจกลับบ้าน แล้วตอนนั้นก็มีกลุ่ม Reef Guardian Thailand อยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งมีคนในชุมชนเข้าร่วม ผมเองมีโอกาสได้เข้าร่วมด้วย ซึ่งพอเวลาผ่านไปเราได้เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล
ได้รับผลกระทบจนเกิดความเสื่อมโทรมลง ทั้งกลุ่มและผมเลยคิดออกมาช่วยจัดการกับปัญหาเหล่านี้
2. ช่วยเล่าความสัมพันธ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของตัวเรากับท้องทะเลว่าเป็นอย่างไร
ตอนยังเล็กผมก็เป็นเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่อยู่ตามเกาะนั่นแหละ เรามัวแต่เล่นสนุกกับทะเลอย่างเดียว
โดยไม่ได้รู้เรื่องระบบนิเวศ หรือมีความรู้เกี่ยวกับทะเลเลย จนกระทั่งวันหนึ่งที่โตพอและมีประสบการณ์
ความรู้ที่มีมันก็มากขึ้นไปตามวัย ยิ่งเมื่อได้มีโอกาสทำงานที่เกี่ยวกับท้องทะเลนานเข้าก็ยิ่งมีความรู้มากขึ้น
ผมเลยเข้าใจว่าทะเลมันสำคัญยังไง หรือแนวปะการังมีผลกับโลกเราอย่างไร อย่างเมื่อสามสิบหรือสี่สิบปีก่อน
ไทยยังมีทรัพยากรเยอะและระบบนิเวศเรายังไม่ย่ำแย่เท่าตอนนี้ แต่ตอนนี้ทะเลไทยก็มีคนเที่ยวเยอะขึ้น
สภาพมันเลยเสื่อมโทรมลง ซึ่งถ้าเรายังปล่อยปละละเลย ไม่ช่วยกันดูแล ผมคิดว่ามันก็จะแย่ลงไปมากกว่านี้
3.ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของ Reef Guardian Thailand ให้ฟังหน่อย
มันเริ่มต้นจากลูกพี่ลูกน้องของผมซึ่งเป็นคนที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล จึงทำให้มีความรู้ในเรื่องทะเล
ต่อมาก็ได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน ในตอนแรก Reef Guardian Thailand โฟกัสที่คนในชุมชนที่เห็นความสำคัญ
ของการปกป้องทะเลก่อน แล้วเขาก็ไปคุยกับเพื่อน มีกิจกรรมเชิญทุกคนรวมถึงอาจารย์มาให้ความรู้ในชุมชน
ในระยะแรกเรายังไม่มีอะไรเลยครับ ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดจึงเป็นการพูดคุยสื่อสารซึ่งในตอนแรกพวกเราเริ่มต้น
จากการเป็นไกด์ก่อนเพราะไกด์เป็นคนที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว ฉะนั้นจึงสามารถบอกได้ว่าแต่ละคน
ทำอะไรได้หรือไม่ได้ จากนั้นพอกลุ่มของเราเริ่มเป็นกลุ่มก้อน เลยขยับขยายและมีการทำกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม
4. ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ได้สังเกตเห็นว่าคนมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นบ้างมั้ย
ผมเห็นว่าตระหนักมากขึ้นครับ คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เยอะขึ้น และยังมีความรู้เกี่ยวกับปัญหานี้ด้วย
นอกจากจะมีนักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรมกับเราแล้ว นักศึกษาหรือนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติมาร่วมกิจกรรมก็มี
นอกจากนี้พวกเรายังเคยร่วมมือกับ UNDP IUCN ภาครัฐรวมไปถึงองค์กรสากลอื่นๆ มากมาย
5. นอกจากจะมีการให้ความรู้ สอนดำน้ำ หรือมีกิจกรรมรณรงค์แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว
มีกิจกรรมอะไรให้คนทั่วไปมาเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องแนวปะการังมั้ย
ก็อาศัยดูว่าใครมีทักษะอื่นๆ ที่สามารถช่วยเหลือกลุ่มได้มั้ย เช่น บางคนมีความรู้เรื่องกราฟิก หรือมีใครที่เป็นช่างภาพได้
เราก็ให้เขาช่วย อย่างการทำวิดีโอหรืองานออกแบบเพื่อโปรโมตก็อาศัยแรงจากคนเหล่านี้ บางคนมีทักษะการสอน
ก็มอบหน้าที่ให้ไปสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนครับ
6. มีชาวต่างชาติให้ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มั้ย
มีชาวต่างชาติรู้และสนใจนะครับ เพราะเรามีแฟนเพจด้วยเลยเหมือนเป็นการประกาศข่าวให้รู้
นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครชาวต่างชาติมาเรียนรู้เกี่ยวกับการดำน้ำ รวมถึงการปลูกปะการัง
ย่างองค์กร Sea Shepherd Dive ซึ่งเป็นองค์กรที่มีส่วนในเรื่องการดักเรือที่จับวาฬก็มีภาคที่เขาดูแลเกี่ยวกับปะการัง
เขาเคยมาช่วยสอนเกี่ยวกับการปลูกปะการังกับพวกเราด้วย
7. แล้วมีประสบการณ์อะไรสนุกๆ ที่เจอกับนักท่องเที่ยวมาเล่าสู่กันฟังมั้ย
ผมเคยไปช่วยนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเพราะเขาเกิดอาการแพนิกในเรือเนื่องจากคลื่นลม ซึ่งตอนไปหาหมอ
หมอก็บอกว่าไม่เป็นอะไรแล้ว แต่ตัวเขาเหมือนจะยังไม่สบายใจอยู่ ผมเลยไปหยิบหนังสือดาโกะญี่ปุ่นเพื่อไปชวนเขาคุย
แล้วเล่มนั้นมันมีภาพผมอยู่ที่ปก (หัวเราะ) ตอนนั้นผมชวนคุยไปว่ารู้จักดาโกะมั้ย ปรากฏว่าเขาเคยเขียนคอลัมน์
ลงในดาโกะญี่ปุ่นด้วย หลังจากนั้นผมก็ช่วยจัดการเรื่องโน้นนี้ให้และไปส่งเขาที่หาดใหญ่ แล้วก็มารู้ทีหลังว่า
ตอนเขาแต่งงานก็ได้เล่าเรื่องนี้ให้แขกในงานฟัง (หัวเราะ)
8. อุดมการณ์ของตัวเองและสิ่งที่ทำให้เราก้าวต่อไปข้างหน้ากับ Reef Guardian Thailand
อุดมการณ์มันมีแต่เด็กแล้ว ซึ่งมันเปลี่ยนไปตามวัย อย่างตอนเด็กที่ผมเรียนศิลปะ ผมก็มีความคิดอยากเปิดโรงเรียน
สอนศิลปะ แต่พอทำงานและไปเล่นดนตรีซึ่งนับเป็นความถนัดของเรา อุดมการณ์ก็เปลี่ยนไป แต่เมื่อใช้เวลากับดนตรี
มากเกินไป ผมกลับตั้งคำถามว่าควรพอแล้วหรือเปล่า ในตอนนั้นผมคิดถึงบ้านด้วยเลยกลับมาบ้านเกิด
จากนั้นมันมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนความคิดคือสึนามิ ผมน่ะมานั่งคิดว่าทำไมรอด หรือเพราะชีวิตเรา
ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีก ตอนนี้เลยมีความคิดว่าการมีชีวิตอยู่มันไม่ใช่แค่ทำงานหาเงิน แต่มันมีอะไรมากกว่านั้นอีกเยอะ
อย่างตอนเป็นส่วนหนึ่งของ Reef Guardian Thailand ผมทำแล้วก็อินนะ เพราะมันเป็นเหมือนหน้าที่
ผมได้ประโยชน์จากท้องทะเลด้วยความที่เป็นครูสอนดำน้ำ ผมมีเงินไปเลี้ยงครอบครัว แล้วพอคลุกคลีกับทะเล
ก็มีความรู้เรื่องระบบนิเวศมากขึ้น ถึงไม่ได้เยอะขนาดนักวิชาการแต่ก็พอให้ความรู้กับคนอื่นได้
ปัญหาธรรมชาติทั้งโลกร้อน ขยะทะเล มลภาวะต่างๆ ทำให้เราไม่สามารถมองข้ามถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เลย
เพราะยังไงปัญหาพวกนี้จะวกกลับมาหาเราอยู่ดี การดูแลธรรมชาติเป็นหน้าที่ที่เราละเลยไม่ได้ ซึ่งถ้าเราไม่ทำ
คนอื่นอาจจะทำ แต่พอผมรับรู้แล้วผมก็อยู่เฉยไม่ได้หรอก
9. คนที่สนใจจะสามารถตามข่าวได้ทางไหน
ส่วนใหญ่ถ้ามีการติดต่อก็จะผ่าน Facebook ครับ แต่จริงๆ มันเป็นการบอกข่าวเชิงปากต่อปากในกลุ่มมากกว่า
เนื่องจากคนสนใจเยอะมาก แล้วเรายังไม่มีความสามารถในการจัดการคนเยอะ ถ้าประกาศกิจกรรมบางอย่างใน
Facebook เขาก็จะแห่กันมา ไอ้เราก็กลัวว่าเขาจะเสียใจถ้าเราปฏิเสธ ตอนนี้เรามีสมาชิก 200 คน
ซึ่งก็ยังดูแลจัดการลำบากเลย เราเลยเน้นคนใกล้ตัวที่สะดวกมากกว่า มันเป็นงานอาสาสมัครน่ะครับ
ฉะนั้นเลยไม่มีเงินตอบแทนให้ ใครที่สามารถมาช่วยเหลือโดยไม่กระทบเรื่องส่วนตัวก็มาได้ครับ
ติดตามผลงานของเขาเพิ่มเพิ่มได้ที่
FB : Reef Guardian Thailand