“วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล”

 

นักเดินทางผู้ส่งต่อเมสเสจของโลก


เขานำเสนอเรื่องราวผ่านการเดินทางไปเยือนสถานที่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะไป และมีสารคดีอย่างรายการ “เถื่อน Travel”
ที่ทุกคนคงรู้จักกันดี แรงบันดาลใจในขณะนี้คือการออกไปนำเสนอเรื่องราวโดยหวังว่าจะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง
ในสังคมความใฝ่ฝันคือได้ทำงานที่มีความหมาย จึงใช้เป็นไฟในการการออกไปดูโลกเพื่อเก็บภาพ เรื่องราว
และความทรงจำแก่ผู้ชม โดยประเทศญี่ปุ่นเองก็มีเบื้องลึกเบื้องหลัง จึงลงพื้นที่แบบถึงลูกถึงคนเพื่อนำเสนอ
เรื่องที่อาจเรียกได้ว่าเป็นมุมมืดให้ผู้ชมได้สัมผัสกัน นอกจากนี้เขากำลังเปิดตัวหนังสือภาพ “เถื่อน 100”
และมีโปรเจ็กต์กับ UNHCR ในปลายปีนี้


แนะนำตัวเอง

สวัสดีครับ ผม สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คนทั่วไปคงรู้จักในฐานะนักเดินทาง แต่จริงๆ อาชีพหลักคือทำสารคดี
ทั้งในเชิงสารคดีวิดีโอ สารคดีรายการทีวี และงานเขียนเชิงสารคดีด้วย โดยทำมาสิบกว่าปีแล้วครับ

 

1.โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และได้ร่วมงานกับ UNHCR ได้อย่างไร

ตอนนี้หนังสือที่กำลังจะออกชื่อว่า “เถื่อน 100” ซึ่งต่อเนื่องมาจากหนังสือเดินทางเล่มแรกชื่อ “เถื่อน 7”
แล้วก็เป็น “เถื่อน 8” โดย “เถื่อน 100” นี่เป็นหนังสือภาพนิ่งแต่ทุกภาพมีเรื่องราว ร้อยเรื่องร้อยภาพ
รวบรวมการเดินทางทั้ง 11 ปี มีเป็นหมื่นรูป แต่ก็คัดจนเหลือแค่ร้อยรูป จุดเริ่มต้นคือ UNHCR Thailand
ชวนไปจัดนิทรรศการที่หอศิลป์เพื่อระดมทุนช่วยผู้ลี้ภัย แล้วเป็นการดีที่เรากลับไปดูรูปภาพเก่าๆ
เราเลยตั้งเป็น Story Exhibition โดยแต่ละรูปก็มีเรื่องราวของมัน ตอนนั้นจัดไป 55 ภาพ แต่กระแสตอบรับดี
แล้วแฟนๆ อยากได้หนังสือเก็บไว้ เราเลยมีไอเดียว่า เอ้อ หรือทำหนังสือซะเลย โดยหารูปมาเพิ่ม 45 ภาพเป็น 100 ภาพ
มี 4 หมวดคือ Human, Nature, War, Civilization ครอบคลุมทั้ง 38 ประเทศ

 

2.อะไรเป็นตัวจุดประกายให้ทำสารคดีในประเทศญี่ปุ่น

ผมไปประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง แล้วมีความสงสัยส่วนตัวเกี่ยวกับวงการเอวีคือ สังคมญี่ปุ่นมีความเป็นพิธีรีตอง
ในเชิงวัฒนธรรม มีครรลองที่ถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันวงการนี้เหมือนปล่อยทุกอย่าง อยากทำแนวไหนก็ได้
ประหลาดแค่ไหน เอ็กซ์ตรีมแค่ไหนก็โอเค เลยพบว่ามันเป็นด้านที่ตรงกันข้ามของสังคมญี่ปุ่น เลยอยากเข้าใจด้านนี้
บวกกับทำเถื่อน Travel ซึ่งมันตรงกับคอนเซ็ปต์รายการคือเราไปที่คนอื่นไม่ไปกัน แล้วก็เป็นเทปที่คิดถึงคนดูมากสุด
ชายไทยก็คงอยากรู้ ผู้หญิงก็คงอยากรู้ (หัวเราะ) แต่ก็เป็นวงการที่เข้าถึงได้ยาก เราเจอกำแพงให้ไปต่อไม่ได้ แต่โชคดี
ที่ไปเจอคนไทยซึ่งทำงานในวงการนี้ เลยมีคอนเนคชันเยอะมาก เขาก็อยากเล่า เราเลยมาแจมกัน เพราะอยากนำเสนอ
ในฐานะของธุรกิจโดยมีคนทำงานจริงจัง ระหว่างที่ทำเรื่องนี้ก็ได้คอนเนคชันเรื่องยากูซ่ามาด้วย
เพราะมันค่อนข้างทับซ้อนกัน ที่ผมเข้าใจนะ ก็เลยขอสัมภาษณ์ด้วยแล้วกัน
ยอดวิวก็เยอะสุดอย่างไม่น่าประหลาดใจสักเท่าไร (หัวเราะ)

 

 

3.เมื่อลองได้สัมผัสเรื่องราวที่เกี่ยวอุตสาหกรรมนี้แล้ว คิดว่าคนญี่ปุ่นมีความคิดต่อเรื่องนี้ยังไง

เท่าที่ผมสังเกต ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นมองมันเป็นที่ปลดปล่อยในสังคม จริงๆ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องนี้อย่างเดียว
มันมีแฟนตาซีโดยรวมด้วย ทั้งการ์ตูน เกม และอื่นๆ ผมรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นทำทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่นและเป็นระเบียบ
สิ่งที่เป็นผลพลอยได้จากการอยู่ในสังคมแบบนี้คือความเครียด พอมีความเครียดก็ต้องมีการปลดปล่อย
เลยสร้างอุตสาหกรรมในรูปแบบของแฟนตาซีเยอะมากซึ่งคนไทยอาจไม่ได้อิน แต่ญี่ปุ่นก็สร้างมันขึ้นมาเยอะ
แล้วเขาก็อินกับมันจริงๆ เราไม่ได้ตัดสินอะไรอยู่แล้ว เพียงแต่มองว่ามันน่าสนใจ ญี่ปุ่นยอมรับว่าตัวเองมีความต้องการ
แล้วปล่อยแฟนตาซีให้เต็มที่ โดยในสังคมอื่นก็มีการปลดปล่อยในรูปแบบอื่นเช่นเดียวกัน
เราไม่ชอบชี้ขาวชี้ดำ แค่อยากให้เข้าใจว่าทำไมสรรพสิ่งเป็นแบบนั้น

 

4.หลังจากที่ได้ทำคอนเทนต์ต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น มีความเข้าใจหรือมีความรู้สึกต่อประเทศนี้อย่างไร

ไม่ได้เปลี่ยนความรู้สึกเลยนะ เราชอบประเทศนี้อยู่แล้วเพราะรู้สึกว่ามันมีความลึก อย่างการจัดดอกไม้หรือชงชา
มันมีความละเอียดลออในทุกขั้นตอน ซึ่งตอนที่เราไปทำเรื่องเอวีหรือยากูซ่า เราก็เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน
อย่างเรื่องเอวีเขาก็มีประชุมกองก่อนถ่าย ผมเห็นตารางการถ่ายงานชัดเจน ระหว่างถ่าย
ผู้กำกับก็คอมเมนต์อย่างซีเรียสมาก ดาราก็ฟังอย่างตั้งใจ เมื่อสั่งคัตคือจบ ไม่มีใครมองเป็นเรื่องตลก
คือคนไทยอาจจะไม่เข้าใจ แต่มันคือการทำงานจริงๆ ความซีเรียสมันก็ยังคงอยู่ กลายเป็นว่าสิ่งที่ผมรู้สึก
มันเกิดขึ้นกับประเทศไทยมากกว่าเพราะพอพูดเรื่องนี้ให้ฟังทีไร ก็ไม่สามารถทำให้มันดูจริงจังได้เลย ทุกคนคิกคัก
แต่จริงๆ มันไม่ใช่นะ มันจริงจัง บางคนมองว่านักแสดงเป็นเหมือนวัตถุทางเพศแต่คุณเคยเห็นด้านการทำงาน
ของพวกเขาอย่างจริงจังบ้างไหม ซึ่งงานพวกนี้นะ เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ บางทีเราย้อนกลับมาดูสังคมไทย
ก็เห็นว่ายังมีความยึดติดบางอย่างอยู่ เราเลยไม่สามารถมองให้มันแตกต่างได้ เพราะฉะนั้นถามว่ารู้สึกต่างไปไหม…ก็ไม่
แต่มาเอะใจกับสังคมตัวเองว่าเราคุยเรื่องนี้อย่างซีเรียสได้มั้ย

 

5.มีเรื่องอะไรที่เรารู้แล้วตกใจหรือประทับใจอะไรบ้างไหม ช่วยแชร์ประสบการณ์ให้ฟังหน่อย

ปัญหาในชีวิตของผมอย่างหนึ่งคือตกใจอะไรยากมาก (หัวเราะ) เห็นมาเยอะแล้ว ขนาดไปโซมาเลียเห็นคนยิงปืนขึ้นฟ้า
เราก็หยิบกล้องมาถ่ายแทนที่จะวิ่งหนี แต่ตอนไปญี่ปุ่น มันก็เกิดความรู้สึกแบบ อ้อ เป็นอย่างนี้หรอกเหรอ
ทำให้ตอนที่เราถ่ายสารคดีที่ญี่ปุ่นอยู่ เราก็โดนบรรยากาศของความเป็นมืออาชีพของเขาดึงดูดไปด้วย
ไม่ได้มานั่งคิกคักอะไร เขาทำงานของเขา เราก็ทำงานของเรา พยายามสัมภาษณ์หรือถ่ายในมุมที่ออกทีวีได้
ตอนกลับไทยก็มีคนถามว่ามันเป็นไง ผมก็ว่ามันไม่มีอะไรเลย มันซีเรียสเสียจนไม่มีเวลามาคิดอะไรแล้ว

 

6.แสดงว่าการที่เราไปต่างประเทศมาเยอะทำให้เกิดการมองย้อนกลับมาที่ประเทศเราแล้วตั้งคำถาม

ผมมองย้อนกลับมายังตัวเองทั้งในเชิงปัจเจกบุคคลและในเชิงสังคมที่เราอยู่ แล้วมันทำให้เราเห็นหลายอย่าง
ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่มีโอกาสออกไปหลายๆ ที่ทั่วโลก แน่นอนว่ากรอบความคิดเราก็จำกัดแค่อะไรผิดอะไรถูก
ในสังคมที่เราโดนปลูกฝังมา ซึ่งการเปิดโลกนี้มันก็เกิดขึ้นได้แค่เอาตัวเราไปเผชิญกับมัน
ไปเชื่อมต่อกับคนที่เราไม่คิดว่าจะได้เจอมาก่อน ทำให้เส้นแบ่งขาวดำน้อยลง พื้นที่ความเข้าใจมีมากขึ้น
แล้วความเข้าใจเป็นขั้นตอนแรกที่นำไปสู่การแก้ปัญหา

 

 

7.จากที่คุณสิงห์ไปทำสารคดีต่างประเทศ เคยคิดมั้ยว่าอยากจะทำสารคดีเชิงนี้ในไทยบ้าง

ทำครับ แต่ประเด็นคงต่างกัน อย่างเรื่องที่ผมอยากทำมากคือเรื่องที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ถ้าทำ
ก็ต้องทำให้ลึกที่สุดไปเลยและคงต้องใช้เวลา แล้วปัญหาของการทำเรื่องสามจังหวัดชายแดนคือ ผมทำเรื่องประเทศอื่นแล้ว
รัฐบาลเขาไม่มายุ่งกับผม (หัวเราะ) แต่ถ้าทำเรื่องไทย รัฐบาลไทยมายุ่งกับผมแน่นอน
พอลงพื้นที่ก็ต้องเจอคนหลายพรรคหลายพวก ฉะนั้นถ้าทำก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง แต่คอนเทนต์ที่ได้ก็ต้องเรียล
และมีเบื้องลึกบางอย่างให้คนดู ส่วนในระยะยาวเราอยากทำอะไรที่มันใกล้บ้านมากขึ้น แต่ก็ต้องระมัดระวังรอบคอบ
รวมไปถึงคงความถึงลูกถึงคนไว้เหมือนเดิมซึ่งก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน อีกประเด็นที่อยากทำมากคือเรื่องเด็กช่างกล
อยากให้เข้าใจวัฒนธรรมของเขา อยากนำเสนอและไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แล้วเราต้องไปฝังตัวเป็นเดือนๆ
งานสารคดีเป็นงานที่ต้องใช้เวลาอยู่พอตัว

 

8.ในฐานะที่เป็นคนสัมภาษณ์และถ่ายทอดเรื่องราว มีความยากง่ายอย่างไรยิ่งในฐานะที่ได้เป็นสื่อด้วย

ความยากอยู่ที่การเข้าไปในนั้นด้วยส่วนหนึ่ง มันก็แล้วแต่โจทย์หรือพื้นที่ ถ้ามีเวลาเยอะก็ทำได้
แต่บางพื้นที่อย่างพื้นที่สงคราม แค่เดินไปซื้อน้ำก็เป็นคอนเทนต์ได้แล้วเพราะคนดูเขาไม่รู้
ว่าถ้าอยู่ในพื้นที่แบบนี้แล้วจะหาน้ำดื่มยังไง แต่ในไทยคือบางเรื่องเขารู้อยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องที่ทำก็ต้องมีความลึกเข้าไปอีก
แต่ถ้าประเทศไหนที่มีเรื่องว้าวอยู่แล้ว ก็ทำได้ทุกด้านเลยไม่ว่าจะลึกหรือตื้น

 

9.แรงบันดาลใจในการทำรายการในตอนนี้

เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลักเลย เพราะว่าอย่างเรื่องสงครามเนี่ย ปัญหาคือพอทำไปเรื่อยๆ แล้วเราพบทางตัน
เราทำอะไรเกี่ยวกับมันไม่ได้มากขนาดนั้น ได้แค่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในระยะสั้น เชิงอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย
หรือการรักษาทางการแพทย์ แต่เราหยุดมันไม่ได้เลย เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลของประเทศนั้นๆ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้
และทำให้ทุกประเด็นเป็นเรื่องเล็กไปเลยคือเรื่อง Climate Change ถ้าไม่แก้เรื่องนี้กัน มันไม่ใช่แค่ประเทศไทย
แต่จะเป็นทั้งโลกที่แย่หมด เราจะพยายามใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีเพื่อดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเท่าที่ทำได้

 

10.ข้อดีที่ได้จากการทำสารคดีและข้อเสียจากการไปทำสารคดี

ข้อดีคือการเชื่อมตัวเราเข้ากับพื้นที่และประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แล้วเมื่อเราเชื่อมต่อเสร็จ
ก็ค่อยส่งต่อข้อมูล แล้วการเชื่อมต่อตอนแรกเนี่ย เราต้องอินก่อน พอเราอินปุ๊บก็จะสามารถพูดได้โดยมีอารมณ์ร่วม
เพราะคนเราต้องการแรงผลักดันครับ แล้วการเดินทางทำให้ผมเจอแรงผลักดันพวกนี้ค่อนข้างเยอะเพราะเราเห็นจริงๆ
ส่วนข้อเสียนั้นผมคิดว่ามันไม่เชิง แต่แค่เกิดความกังวลเพราะเราเห็นปัญหามากมายเหลือเกิน
เลยมีสองทางเลือกว่าจะช่างมัน หรือเลือกมาสักหนึ่งหรือสองเรื่องแล้วลงมือทำอะไรกับมันสักอย่าง
ไม่มั่นใจว่ามันเป็นข้อเสียมั้ย แต่กลายเป็นว่าบางปัญหาที่ไกลตัวมันดูน่าวิตกสำหรับเรา
เรื่องที่คนอื่นวิตกเราก็ไม่รู้สึกอะไรขนาดนั้น ลำดับความสำคัญเราต่างจากคนอื่น
เพราะประสบการณ์ที่เราเติบโตมามันต่างจากคนอื่นพอตัว

 

 

11.มีสถานที่ไหนที่ไปทำแล้วไม่อินกับมันบ้าง

มีบ้างครับ ในเชิงที่ไม่ได้โหดหรือไม่สนุกเท่าที่คิดไว้ เช่น ตอนเราข้ามซาฮาร่า ตอนแรกนึกว่าจะเป็นมหากาพย์
เพราะไปตั้งหนึ่งเดือน แต่สุดท้ายชีวิตของเราส่วนใหญ่อยู่บนรถ เห็นแต่ทราย ซึ่งช่วยไม่ได้
เพราะต้องใช้รถเพื่อข้ามทะเลทราย แล้วก็ไม่ได้ลำบากเท่าที่คิดเพราะมีไวไฟ มีโรงแรมให้แวะตลอด
เลยแทนที่จะเสนอความลำบากเชิงเส้นทาง เราหันไปเสนอเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือภูมิศาสตร์ที่เจอแทน

 

11.เดินทางบ่อยแบบนี้ ต้องรับมือกับความยากลำบาก ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ
อยากทราบว่าเมื่อทำงานเสร็จแล้วดูแลตัวเองยังไง

ก็พักเหมือนคนอื่นนั่นแหละ แต่อาจต่างกันตรงที่คนอื่นคือไปเที่ยว แต่ผมคืออยู่บ้าน (หัวเราะ) ไม่ไปไหนแล้ว
เพราะการเดินทางเป็นเรื่องเหนื่อย การพักคือการได้อยู่นิ่งๆ นั่งสมาธิ เล่นดนตรี หรือออกกำลังกายอยู่ในซอยแถวบ้าน
วิธีการดูแลอีกอย่างคือเราเรียนรู้ที่จะปล่อยมันไป บางทีเจออะไรไม่ดีมากๆ เราก็ห่อเหี่ยว คิดว่าทำไมโลกมันโหดร้ายแบบนี้
แต่พอเจอบ่อยๆ ก็ต้องเรียนรู้ให้วางมันไว้ ดูว่าเราทำอะไรได้โดยที่อย่าเอามันมาใส่ใจเยอะ ซึ่งผมก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง
ส่วนตัวไม่ได้ทนทุกข์เพราะสิ่งที่เราวิ่งหามาตลอดชีวิตคืองานที่มีความหมาย ถึงจะเหนื่อยแต่เติมเต็มจิตใจเรา
มันไม่ใช่ความสุขเหมือนตอนกินอาหารหรือไปเที่ยว แต่อิ่มใจที่เราทำเต็มที่ในทุกวัน แต่ก็กลัวว่าถ้าทำหนักไปจะเบิร์นเอาต์อีก
เลยไปๆ หยุดๆ พยายามบาลานซ์ให้ได้

 

12.ช่วยกล่าวโปรโมทโปรเจกต์ที่กำลังจะทำ

เดือนตุลาคมนี้จะมีหนังสือเล่มใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในเล่มที่ภูมิใจที่สุด ชื่อ “เถื่อน 100” โดยทำกับ a book
ซึ่งเป็นภาคต่อจาก “เถื่อน 7” และ “เถื่อน 8” ถ้าเทียบเป็นนักดนตรีเนี่ย เถื่อน 100 ก็คือเทปรวมมิตร
ที่เอาดนตรีมารีมิกซ์ใหม่ กลับมาดูความทรงจำตลอด 11 ปีที่ผ่านมา แล้วก็มองมันในแง่มุมใหม่ของตัวเราในปัจจุบัน
มี 100 ภาพ 100 เรื่องราว รวบรวมวัตถุดิบนานมากตั้ง 11 ปี จะเริ่มขายในงานหนังสือวันที่ 2-13 ตุลาคมนี้
ที่บูทส์ a book ผมไปเซ็นหนังสือในวันที่ 5-6 แล้วก็วันที่ 13 ตอนบ่ายสอง เปิดตัวหนังสือ “เถื่อน 100”
วันที่ 12 ตอนบ่ายสองเหมือนกันที่เวทีกลาง หลังจากจบงานใครสนใจอยากซื้อก็สั่งได้ที่ godaypoets.com
แล้วเดี๋ยวจะมีวางขายตามร้านหนังสือทั่วไป แฟนๆ รายการสามารถหาซื้อกันได้
ส่วนรายการจะกลับมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป แต่จะมีคอนเทนต์อะไรบ้าง ก็ต้องรอเปิดตัว เถื่อน channel
ตอนนี้ทีมงานปรุงกันอยู่ว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหน แต่หลักๆ คงมุ่งในเรื่อง Climate Change
และอาจแตะเรื่องความขัดแย้งระหว่างนานาชาติบ้าง ปลายปีก็มีจัดนิทรรศการร่วมกับ UNHCR
ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยครับ

 

 

 

ติดตามเรื่องราวของเขาเพิ่มเติมได้ที่
FB: wannasingh prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) / IG: wannasingh

views