RYOKAN GUIDE เกร็ดความรู้สุดน่ารัก

RYOKAN GUIDE เกร็ดความรู้สุดน่ารักโดย KAI RYOKANS

บ่อน้ำร้อน ยูกาตะ ห้องเสื่อทาทามิ ชุดอาหารไคเซกิ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะได้พบ ได้สัมผัส ได้ชิม เมื่อเข้าพักที่เรียวกัง ที่พักแบบดั้งเดิมสไตล์ญี่ปุ่น ที่ซึ่ง “ไค เรียวกัง” (KAI Ryokans) เรียวกังในเครือ Hoshino Resorts ได้จัดทำข้อมูลสุดแสนน่ารักแนะนำเกร็ดความรู้น่ารัก ๆ เกี่ยวกับเรียวกัง หรือ “RYOKAN GUIDE” ขึ้นมาได้อย่างน่าคลิก น่าอ่าน

RYOKAN GUIDE เกร็ดความรู้สุดน่ารัก

ภายในเว็บไซต์จะมีเกร็ดความรู้พร้อมภาพวาดประกอบสุดน่ารักที่แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ ออนเซ็น ชุดอาหารไคเซกิ และชาเขียว ซึ่งแต่ละหมวดก็จะมีเกร็ดความรู้น่าสนใจหมวดละ 3 เรื่อง จะมีเกร็ดอะไรบ้าง เรามาเริ่มกันที่หมวดออนเซ็นกันเลย!

RYOKAN GUIDE เกร็ดความรู้สุดน่ารัก

ก่อนจะลงแช่บ่อน้ำร้อน คุณควรจะราดน้ำอุ่น ๆ หรือขั้นตอนที่เรียกว่า “คาเค-ยุ” (kake-yu) ลงบนส่วนไหนของร่างกายกันนะ?

คำตอบก็คือ ควรราดบริเวณเหนือข้อเท้าล่ะ!

ขั้นตอน “คาเค-ยุ” เป็นขั้นตอนที่ช่วยปรับร่างกายให้เข้ากับอุณหภูมิของน้ำร้อน และป้องกันการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิตอย่างกะทันหัน ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นราดน้ำอุ่น ๆ บริเวณเท้าและข้อเท้าก่อน แล้วจึงค่อยไล่ขึ้นไปบริเวณหัวเข่า สะโพก แขน ไหล่ และหน้าอก โดยควรราดประมาณ 10 – 20 ถ้วยเพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อม และไม่จำเป็นต้องราดลงบนศีรษะ

เวลาโดยเฉลี่ยนในการแช่น้ำร้อน?

คำตอบคือ 10 นาที แม้ว่าคุณจะอยากแช่น้ำร้อนนานกว่านั้นก็ตาม แต่ระยะเวลาที่เหมาะสมก็คือ 10 นาที เพราะการแช่นน้ำร้อนนานเกินไปอาจจะทำให้ร่างกายของคุณรู้สึกเครียด ค่อย ๆ แช่ตัวของคุณลงไปในบ่อน้ำร้อน และหายใจเข้าลึก ๆ เมื่อลงไปถึงระดับเอว และเมื่อไหล่ของคุณอยู่ใต้น้ำก็ให้หายใจเข้าลึก ๆ อีกครั้ง จะทำให้ร่างกายผ่อนคลายได้ดีมากขึ้น

สิ่งที่ควรทำหลังจากขึ้นจากบ่อน้ำร้อน?

คำตอบคือ ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะในออนเซ็นนั้นเต็มไปด้วยแร่ธาตุที่มีประโยชน์มากมาย และสิ่งเหล่านี้จะสูญเสียไปเมื่อคุณล้างมันออก ขอแนะนำให้คุณค่อย ๆ เช็ดตัวให้แห้งอย่างเบามือ เพื่อให้แร่ธาตุยังคงเกาะอยู่บนผิวให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีผิวบอบบางก็ควรอาบน้ำล้างตัวจะดีกว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้หรือผดผื่น

RYOKAN GUIDE เกร็ดความรู้สุดน่ารัก

ที่ไคเรียวกังเสิร์ฟชุดอาหารไคเซกิแบบไหนกันนะ?

คำตอบก็คือ “สาเก ไคเซกิ” (Sake Kaiseki)

ชุดอาหารไคเซกิของญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนั้นโฟกัสที่มื้ออาหารที่มีหลากหลายคอร์ส แต่ประเภทหนึ่งจะเสิร์ฟพร้อมชา ส่วนอีกประเภทจะเสิร์ฟพร้อมสาเกแบบดั้งเดิม ที่ไคเรียวกังนั้นจะเสิร์ฟพร้อมสาเก โดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้าพักได้รับประสบการณ์ที่เพลิดเพลินไปกับการจับคู่อาหารรสเลิศกับเหล้าสาเกญี่ปุ่นได้อย่างลงตัวนั่นเอง

ถ้าในชุดมีเสิร์ฟถ้วยที่มาพร้อมฝาปิด เมื่อเปิดแล้วควรทำอย่างไร?

คำตอบคือ ควรวางฝาแบบหงาย

เมื่อเปิดฝาถ้วยหรือชามอาหารแล้ว ตามมารยาทควรหงายฝาและวางไว้ทางด้านขวามือของตนเอง และเมื่อรับประทานสิ่งที่อยู่ในถ้วยดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย ให้ปิดฝากลับดังเดิม อย่าวางฝาหงายลงในถ้วยเด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้ลวดลายบนฝาเป็นรอยหรือถูกขีดข่วนได้

สาเกตัวใดที่ทำจากข้าวที่ถูกขัดสีสูงที่สุด?

คำตอบคือ ไดกินโจ (Daiginjo)

สาเกญี่ปุ่นมีรสชาติและกลิ่นที่หลากหลายซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราส่วนการขัดข้าว สาเกที่ข้าวถูกขัดสีออกจนเหลือ 50% หรือน้อยกว่าจากขนาดเดิม เรียก “ไดกินโจ” (Daiginjo) สาเกที่ถูกขัดสีจนเหลือ 60% หรือน้อยกว่าจากขนาดเดิม เรียก “กินโจ” (Ginjo) และสาเกที่มีอัตราส่วนการสีข้าว 70% หรือน้อยกว่าจัดอยู่ในประเภท “ฮนโจโซะ” (Honjozo) ส่วนสาเกที่ถือเป็นสาเกบริสุทธิ์ที่เรียกว่า “จุนไม” (Junmai) นั้นเป็นการหมักข้าวกับน้ำล้วน ๆ ไม่มีการเติมแอลกอฮอล์ลงไป

RYOKAN GUIDE เกร็ดความรู้สุดน่ารัก

น้ำที่เหมาะกับการชงชาญี่ปุ่นมากที่สุด?

น้ำอ่อน หรือน้ำแร่แบบอ่อน

กล่าวกันว่าชาที่มีคุณภาพนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำที่ใช้ต้มด้วย เพราะน้ำที่กระด้างเกินไปจะไม่สามารถดึงเอารสชาติที่ละเอียดอ่อนอออกมาจากใบชาได้ เพราะฉะนั้นหากใช้น้ำประปาในการชงชาควรนำน้ำประปามาต้มก่อนประมาณ 2 – 3 นาทีเพื่อลดความกระด้างของน้ำลงและช่วยให้ชามีรสชาติที่เพอร์เฟ็คมากขึ้น

ต้องใช้น้ำอุณหภูมิเท่าไรในการทำเซ็นฉะ?

คำตอบคือ อุณหภูมิ 70 – 80 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่เหมาะสำหรับการชงชานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สำหรับเซ็นฉะนั้นควรอยู่ที่ 70 – 80 องศาเซลเซียส ส่วนเกียวคุโระเหมาะกับน้ำอุณหภูมิต่ำประมาณ 50 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูง 100 องศาเซลเซียสเหมาะกับชาคั่วอย่างเก็นไมฉะและโฮจิฉะ เพราะฉะนั้นหากจะชงชาเกียวคุโระหรือเซ็นฉะควรทิ้งให้น้ำมีอุณหภูมิเย็นลงก่อน

วิธีที่เหมาะสมในการเสิร์ฟชาคือ?

เทจนหยดสุดท้าย รสชาติอูมามิของชาจะดียิ่งขึ้นหลังจากถ้วยแรก หากเขย่ากาน้ำชาประมาณ 2 – 3 ครั้งก็จะช่วยให้ถ้วยที่สอง สาม และถ้วยสุดท้ายอร่อยมากยิ่งขึ้น! ดังนั้น อย่าเหลือชาไว้ในกานะ!

เป็นเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจและน่ารักมาก ๆ ใครที่อยากเห็นแบบเต็ม ๆ ก็เข้าไปดูต่อกันได้ทาง

www.hoshinoresorts.com/sp/kaitabi20s/ryokanguide

เรื่อง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์


Kumano sanzan 3 ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์คลิก
ญี่ปุ่น เรียบง่ายมาก่อนกาลคลิก

views