Queer Eye : We’re in JAPAN!

Queer Eye : We’re in JAPAN!

เรียนรู้ญี่ปุ่นผ่านรายการเมคโอเวอร์สุดแซ่บ

ถ้าใครที่เคยดูรายการ Queer Eye มาแล้วในซีซั่นก่อน ๆ ก็อาจคุ้นเคยกับ the “Fab 5” หรือชาว LGBTQ+ 5 คนซึ่งมีหน้าที่ต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เพียงรูปลักษณ์ของผู้ที่ได้รับเลือก แต่ยังปรับไลฟ์สไตล์ ความคิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นใจ การเอาใจใส่ตัวเอง หรือแม้กระทั่งใส่ใจคนอื่น แถมยังจัดบ้านให้ใหม่ให้พวกเขาอีกด้วย!

โดยในทีมนี้จะมี คาราโม่ – ฝ่ายวัฒนธรรม โจนาธาน – ฝ่ายทรงผม บ๊อบบี้ – ฝ่ายออกแบบ แอนโทนี่ – ฝ่ายอาหาร และไวน์ แทน – ฝ่ายแฟชั่น และยังมีพิธีกรร่วมสุดพิเศษอย่าง กิโกะ มิซูฮาระ แฟชั่นไอคอนและนางแบบที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

การได้เจอการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมของ the “Fab 5” กับ “ญี่ปุ่น” นับว่าเป็นเรื่องที่สุดแสนจะน่าตื่นเต้น และยังทำให้เราได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมผ่านเลนส์ของทุกคนในรายการนี้ด้วยเช่นกัน

Queer Eye : We’re in JAPAN! เรียนรู้ญี่ปุ่นผ่านรายการเมคโอเวอร์สุดแซ่บ

พูดเลยว่าหากใครที่ยังไม่เคยดู Queer Eye: We’re in JAPAN! ก็ยังไม่สายที่จะเปิด Netflix แล้วลองดูสักตอนสองตอน เพราะความจริงแล้วยังมีอะไรมากมายในประเทศญี่ปุ่นที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน หรือแม้กระทั่งรู้แล้ว ก็ไม่เท่ากับได้ยินจากปากของผู้คนในรายการซึ่งสะท้อนความเป็น “ญี่ปุ่น” ที่สามารถดึงดูดเราให้เกิดความอยากรู้และนำไปสู่เข้าใจ รวมถึงได้ขบคิดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งหลายด้วยว่าแท้จริงแล้ว ประเด็นเหล่านั้นค่อนข้างเข้าถึงเราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม

และขณะเดียวกันเอง the “Fab 5” ก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นไปพร้อมกับเราเช่นกัน เช่น การปรับแต่งบ้านในประเทศญี่ปุ่นซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่นับว่าพื้นที่ในห้องทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องมีประโยชน์ใช้สอยให้ได้มากที่สุด เพราะบ้านญี่ปุ่นที่เราเห็นหรือโดยทั่วไปนั้นมีขนาดเล็ก เลยเป็นอะไรที่ท้าทายมากสำหรับฝ่ายออกแบบ เรียนรู้วิธีการทำอาหารที่ใครหลายคนน่าจะคุ้นลิ้นกันอย่างยากิโทริหรือโอมุไรซ์ และการจัดดอกไม้อิเคะบานะซึ่งเป็นการจัดดอกไม้ตามสไตล์วัฒนธรรมญี่ปุ่น

Queer Eye : We’re in JAPAN! เรียนรู้ญี่ปุ่นผ่านรายการเมคโอเวอร์สุดแซ่บ

ในขณะที่ the “Fab 5” ได้ช่วยเหลือคนเหล่านั้น ขณะเดียวกันพวกเขาทั้ง 5 คนก็ได้เปิดโลกเกี่ยวกับความยากลำบากที่คนญี่ปุ่นเผชิญ

บทความนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่เปิดประเด็นเรื่องความเป็นผู้หญิงในญี่ปุ่น เริ่มด้วยพยาบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เธอได้อุทิศพื้นที่ในบ้านให้กลายเป็นที่พักกายและใจสำหรับผู้ป่วยจนกว่าพวกเขาจะหมดลมหายใจ โดยที่เธอเองก็รู้ว่าในขณะที่อุทิศตัวตนเพื่อดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ เธอได้ลืมให้ค่าตัวเองไป ประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ผู้หญิงยอม “ละทิ้งความเป็นผู้หญิง” (女を捨てる, onna-wo-suteru) เมื่อมีความรับผิดชอบหรือมีภาระอะไรสักอย่าง รู้สึกกดดันกับการแต่งตัวที่ต้องเป็นไปตาม “กรอบ” ซึ่งมันเป็นเรื่องที่สังคมไม่ค่อยเปิดรับ

ผู้หญิงญี่ปุ่นหลายคนไม่ได้มีหุ่นที่ตรงกับขนบ “ความเป็นหญิง” ทำให้เกิดการยอมละทิ้งการเป็นผู้หญิง หรือคนรอบตัวไม่ค่อยชอบการแต่งตัวสีฉูดฉาดเลยทำให้เราไม่สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้หมด ความมั่นใจโดนบั่นทอน สุดท้ายเราก็หลงลืมชีวิตของตัวเองไป และเดินตามทางที่คนอื่นคาดหวังไปเสียอย่างงั้น

Queer Eye : We’re in JAPAN! เรียนรู้ญี่ปุ่นผ่านรายการเมคโอเวอร์สุดแซ่บ

กิโกะเอ่ยในรายการว่า “ผู้หญิงญี่ปุ่นมักจะคิดว่าถ้าบางอย่างไม่เข้ากับแฟชั่นของคนส่วนมาก มันก็เหมือนเราละทิ้งความเป็นผู้หญิงไปแล้ว” อย่างการแต่งกายที่แปลกตา เพราะคนญี่ปุ่นไม่ชอบความแตกต่าง หรือการมีหุ่นแบบอุดมคติ (Ideal body) ที่ต้องผอมจึงจะถือว่าสวย และมันนับว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับเราเลย แต่ก็ทำให้แอบอึ้งสำหรับประเด็นที่ว่าคนญี่ปุ่นไม่ชอบความแตกต่างเพราะในเรื่องแฟชั่นญี่ปุ่นก็ไม่เป็นรองใครในโลก ดังนั้นมันเลยเกิดคำถามขึ้นว่าเราเข้าใจความเป็นญี่ปุ่นจริง ๆ หรือไม่ หรือที่จริงแล้วมันเกิดความยากลำบากบางอย่างในโลกแฟชั่นที่พวกเขาก็พยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และพยายามทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาเพื่อคนรุ่นใหม่ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีความอนุรักษ์นิยม (Conservative) ที่คนญี่ปุ่นส่วนมากยังยึดถือเอาไว้ เช่น การแสดงตัวตนออกมาว่าเป็นชาว LGBTQ+ ทั้งที่ในญี่ปุ่นมีย่านหนึ่งชื่อ “นิโจเมะ” เป็นเขตคอมมูนิตี้เกย์ที่ใหญ่ที่สุดในโตเกียว และยังมีบาร์ซึ่งอ้าแขนรับชาวเควียร์ซึ่งร้านเปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1966 อีกด้วย แต่ถึงแม้ว่ามันจะเริ่มต้นตอนไหนก็ตาม สังคมญี่ปุ่นก็ยังไม่เปิดรับการเป็นเกย์อย่างเต็มที่ บางคนที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้วยังไม่เข้าใจเลยด้วยว่าการเป็นเกย์คืออะไร และยังเกิดความคิดที่ว่าการเป็นเควียร์ในญี่ปุ่นถือว่าผิดหลักศีลธรรม

ในรายการจะมีตอนที่พระญี่ปุ่นชื่อ โคโดะ นิชิมูระ ซึ่งเป็นเมคอัพอาร์ตติสต์มาช่วยแนะนำและให้กำลังใจผู้ต้องการความช่วยเหลือ นอกจากนี้ เรายังได้รู้อีกว่าไม่นานมานี้ก็มีการถกเถียงถึงการเป็นเกย์ในสื่อข่าวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามเปิดเผยตัวตน หรือ Coming Out ก็ยังนับว่าเรื่องลำบากใจอยู่ดี

Queer Eye : We’re in JAPAN! เรียนรู้ญี่ปุ่นผ่านรายการเมคโอเวอร์สุดแซ่บ

นอกจากสองประเด็นใหญ่ดังกล่าว วัฒนธรรมการกลั่นแกล้ง (Bullying) ในประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หรือแม้กระทั่งในประเทศเราเองก็เกิดพฤติธรรมดังกล่าวในสถาบันการศึกษา โดยที่มันส่งผลถึงสภาพจิตใจของคนที่เผชิญกับความทุกข์ในปัจจุบัน ทั้งความไม่มั่นใจในการสวมใส่เสื้อผ้า ความเศร้าที่ไม่สามารถแสดงออกมาเป็นคำพูดได้ การเก็บตัวหรือเก็บงำความรู้สึกบางอย่างที่คนญี่ปุ่นต้องแบกรับและเผชิญซึ่งเขาไม่รู้วิธีการแสดงออก หรือเลือกที่จะไม่แสดงออกเพราะเหตุผลบางประการที่เราไม่สามารถหยั่งรู้ได้

สิ่งหนึ่งที่เราพบว่ามันช่างใกล้เคียงกับวัฒนธรรมไทยคือสังคมครอบครัวในประเทศญี่ปุ่นไม่มีวัฒนธรรมการกอดหรือการบอกรักลูก ผู้คนมักจะเก็บความรู้สึกมากมายในใจ ไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือคนในครอบครัวเพราะคิดว่าพวกเขาแบกรับได้ จึงกลายเป็นว่าแทนที่จะมีครอบครัวซัพพอร์ต กลายเป็นว่าเหมือนเราอยู่ตัวเดียวบนโลก เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้? และสิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือมันควรเกิดซ้ำอีกหรือไม่? อีกสิ่งหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นไม่นิยมทำก็คือการไปหาความช่วยเหลือจากนักจิตบำบัดเมื่อสภาพจิตใจเรารับไม่ไหว ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับยุคสมัยแห่งความสิ้นหวังที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่

Queer Eye : We’re in JAPAN! เรียนรู้ญี่ปุ่นผ่านรายการเมคโอเวอร์สุดแซ่บ

Queer Eye : We’re in JAPAN! เรียนรู้ญี่ปุ่นผ่านรายการเมคโอเวอร์สุดแซ่บ

ทางเดียวที่คุณจะรู้ว่ามีทางออกอย่างไรก็คือไปดู Queer Eye: We’re in JAPAN! เท่านั้น (ไม่สปอยล์หรอกว่าแต่ละตอนนั้นมีเส้นทางและจบอย่างไร) และสิ่งที่เราพูดถึงนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในรายการ และเป็นส่วนที่เราอยากหยิบยกขึ้นมาให้เหล่านักอ่านทั้งหลายที่อุตส่าห์เลื่อนหน้าจออ่านมาจนถึงตรงนี้ได้ลองคิดดูว่ามีวัฒนธรรมญี่ปุ่นอะไรที่เราคิดไม่ถึงอีกบ้าง

รายการนี้นับว่าช่วยเปิดหูเปิดตาให้คนทั่วโลกได้เห็นปัญหาที่คนญี่ปุ่นกำลังเผชิญ และการก้าวข้ามผ่านมันเท่าที่จะทำได้

แล้วคุณล่ะคิดอย่างไร?


Followers: ความรับผิดชอบที่มาพร้อมชื่อเสียงคลิก
Romance Doll: ความปกปิด และความเปิดเปลือยคลิก

views