เราต่างอยู่ในกระแสป๊อบคัลเจอร์ (Pop Culture)

ที่สุดแล้ว เราต่างอยู่ในกระแสป๊อบคัลเจอร์ (Pop Culture) ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

Pop Culture

ต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเกาหลีนั้นจัดจ้านในย่านซีรีส์อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในบ้านเรานั้น ละครเกาหลี หรือที่นิยมเรียกว่าซีรีส์เกาหลี (K-drama) นั้นได้กลายเป็นเสาหลักของทางเลือกความบันเทิงในบ้านเราไปแล้ว สิบกว่าปีมานี้ไม่ใครก็ใครต้องผ่านหูผ่านตากันมาสักเรื่องสองเรื่อง หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่สนใจเลยก็ยังน่าจะได้เห็นได้ยินกันบ้าง ส่วนคนที่บริโภคความบันเทิงหนักหน่วง น่าจะถูกรุกคืบเวลานอนจากซีรีส์เกาหลีกันไม่น้อย

คลื่นเกาหลี (Korean Wave) หรือ Hallyu กระหน่ำทั่วโลกตั้งแต่ราว ๆ ก่อนปี ค.ศ.2000 และยังคงซัดหลายระลอกต่อเนื่อง มีการพูดถึง K-pop อย่างกว้างขวาง ซึ่งหลายครั้งที่มีการเอ่ยถึง K-pop, K-drama ก็มักจะมีการเอ่ยถึง J-pop พ่วงด้วย หรือแม้ในทางกลับกัน โดยเฉพาะจากมุมโลกตะวันตกที่ห่างไกลจากเอเชียตะวันออก บางคนแยกไม่ออกจริง ๆ ว่าต่างกันอย่างไร อันไหนของใครกันแน่ รวมทั้งยังอาจมีความสับสนระหว่าง K-pop กับ J-pop ซึ่งเป็นเทรนด์ที่อยู่มาก่อนหน้านั้นนานพอสมควร

กระแสญี่ปุ่นอย่าง เจ-ป๊อป (J-pop) มีบทบาทอยู่นานมาก อย่างไทยเราเองตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 เรื่อยมาก็อยู่ท่ามกลางสินค้าและวัฒนธรรมญี่ปุ่น อย่างละคร ‘โอชิน’ ก็ได้สร้างปรากฏการณ์อย่างยิ่งใหญ่มาแล้ว และยังมีการ์ตูนมากมายทั้งแบบมังงะและอนิเมะที่ครองใจและหล่อเลี้ยงคนเจนเอ็กซ์ เจนวาย ตลอดการเจริญวัยมา

เราต่างอยู่ในกระแสป๊อบคัลเจอร์ (Pop Culture)

จนอีกครั้งมีละครสร้างปรากฏการณ์อย่าง ‘รักนี้ชั่วนิรันดร์’ และ ‘แดจังกึม’ และตามมาด้วยขบวนซีรีส์เกาหลีอีกมากมาย ซึ่งเป็นผลจากการทุ่มเทระดับนโยบายประเทศของเกาหลีที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเป็นระบบ จนถึงยุคสตรีมมิ่งนี้ ซีรีส์เกาหลีจึงเป็นตัวเล่นหลัก

และหากติดตามซีรีส์เกาหลีกันมาก็จะรู้ว่าหลายเรื่องนั้นสร้างมาจาก webtoon ที่ได้รับความนิยม ซึ่งเว็บตูนหรือการ์ตูนภาพในรูปแบบออนไลน์นั้นพัฒนามาจากมันฮวา (manhwa) ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นยาวนาน 35 ปี และเป็นช่วงเวลาที่มีการถ่ายเทวัฒนธรรมแก่กันอย่างมาก ตามวิถีธรรมชาติของวัฒธรรมที่เลื่อนไหลไปสู่กันเสมอ รวมทั้งมังงะ ที่ต่อมาพัฒนาเป็นมันฮวาของเกาหลีนั่นเอง

เราต่างอยู่ในกระแสป๊อบคัลเจอร์ (Pop Culture)

ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการเคลมว่าซีรีส์เกาหลีที่โด่งดังนั้นเพราะได้รับอิทธิพลจากมังงะของญี่ปุ่น หรืออะไรเป็นรากฐานของอะไร เพื่อเรียกร้องหาความดีความชอบหรือความเกลียดชังแต่อย่างใด แต่ต้องการสื่อว่าวัฒนธรรมนั้นมันส่งผ่านและไหลไปตลอดเวลาอย่างแท้จริง และบางทีมันก็ยากที่จะบอกว่าใครเริ่มก่อน ใครมีอิทธิพลต่อใคร เพราะก็มีทั้งความเหมือนและยังมีเอกลักษณ์ของตัวเองในเวลาเดียวกัน และมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้วัฒนธรรมหนึ่ง ๆ เติบโตแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน

และนี่คือป๊อบคัลเจอร์ไง ที่ทำให้ทุกคนอินไปกับสิ่งเดียวกันในห้วงเวลาเดียวกันได้ง่ายที่สุด ทุกคนชื่นชอบป๊อบคัลเจอร์เพราะความป๊อบ ไม่ว่าจะมาจากไหน

และเราต่างอยู่ในกระแสป๊อบคัลเจอร์เดียวกัน


เมื่อศิลปินพังค์ร็อคผันตัวเป็นช่างจัดดอกไม้คลิก
ญี่ปุ่น เรียบง่ายมาก่อนกาลคลิก

views