No Working After Hours! กับการส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นลดการทำงานล่วงเวลา
การทำงานของคนญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่นจนเหมือนเป็นเรื่องปกติของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปแล้ว อย่างไรก็ตามการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายและชีวิตส่วนตัวด้วยเช่นกัน ในระยะหลัง สังคมญี่ปุ่นจึงได้เริ่มตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และต้องการที่จะปฏิรูปบรรยากาศการทำงานให้เป็นมิตรกับพนักงานมากขึ้นเช่นกัน
ซีรีส์เรื่อง “No Working After Hours!” หรือชื่อภาษาญี่ปุ่น “Watashi, Teiji de Kaerimasu” (わたし、定時で帰ります。) คือซีรีส์ที่มีเนื้อหาซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ จากการทำงานหนักแบบหามรุ่งหามค่ำ รวมถึงทัศนคติต่อการทำงานผ่านตัวละครต่าง ๆ ถือเป็นการส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ตรงตามชื่อเรื่องได้เป็นอย่างดี
คำเตือน : บทความนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ (spoil) ของเรื่องนี้
เพราะทำงานจนร่างกายพัง จึงตัดสินใจที่จะไม่ทำโอทีอีก
ซีรีส์เรื่องนี้เล่าผ่านชีวิตของฮิกาชิยามะ ยูอิ สาวออฟฟิศวัย 32 ปี ผู้ที่เลิกงานตรงเวลาตอน 6 โมงเย็นเสมอ โดยไม่สนใจว่าเพื่อนร่วมงานจะลุกออกจากโต๊ะหรือไม่ ซึ่งการกระทำนี้ถือว่าแหกธรรมเนียมปฏิบัติของญี่ปุ่นอย่างชัดเจนคือ ลูกน้องจะไม่กลับบ้านจนกว่าหัวหน้าจะกลับก่อน
ส่วนสาเหตุที่ยูอิเลิกงานตรงเวลาเสมอ เป็นเพราะประสบการณ์ในอดีตที่เธอก็เคยทำโอทีกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือนโดยไม่มีวันหยุดเลย จนร่างกายล้าและเกิดอุบัติเหตุเข้าขั้นโคม่า ทำให้หลังจากนั้นยูอิตัดสินใจที่จะไม่ทำงานกับบริษัทที่บังคับทำโอทีอีกต่อไป จนเธอได้ร่วมงานกับบริษัท Net Heroes ที่มีนโยบายนี้ และเลิกงานตรงเวลามาโดยตลอด
ความสัมพันธ์ในครอบครัวพัง เพราะบ้างานจนไม่สนคนรอบตัว
อีกสาเหตุหนึ่งที่ยูอิไม่ทำงานล่วงเวลาคือ เพื่อจะได้มีเวลาสำหรับคนรอบตัวมากขึ้น ยูอิเคยหมั้นกับทาเนดะ โคทาโร่ และมีแผนที่จะแต่งงานกันแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกรากันไป เพราะว่าโคทาโร่บ้างานจนไม่สนใจแฟนตัวเอง ชนิดที่วันหนึ่งเขานอนสลบที่ประตูบ้าน จนยูอิช็อกกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า
และเมื่อเธอถามว่า “ระหว่างการทำงาน กับการแต่งงาน อะไรสำคัญกว่า” โคทาโร่ตอบกลับมาตรง ๆ ว่า “งาน” นี่จึงเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ยูอิเลิกรากับโคทาโร่ และไม่ใช่แค่คู่หมั้นอย่างโคทาโร่เท่านั้น ยูอิก็ยังมีพ่อที่บ้างานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัวอีกเช่นกัน ทำให้เธอรับรู้ว่าการทำงานหนักไม่เคยส่งผลดีกับใคร ทั้งกับตัวเองและกับคนอื่น นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่ยูอิตัดสินใจไม่ทำโอทีเช่นกัน และมองหาคู่ครองที่มีเวลาให้กับคนรักมากขึ้น จนยูอิได้แฟนใหม่ที่มอบเวลาให้กับเธอได้ในเวลาต่อมา
ทำงานหนัก เพื่อให้คนรอบข้างยอมรับ
ตลอดเนื้อเรื่องทั้ง 10 ตอน ได้สะท้อนถึงแนวคิดของตัวละครต่าง ๆ ในบริษัท Net Heroes ต่อการทำงาน สาเหตุที่พวกเขาเลือกที่จะทำโอที แม้ว่าบริษัทจะไม่บังคับให้ทำแล้ว เป็นเพราะทัศนคติต่อการทำงานที่ต้องการให้คนอื่นยอมรับว่าเป็นคนทำงานเก่ง โดยจะขอยกตัวอย่างเป็นเคสของแต่ละตัวละคร ดังนี้
มิทานิ คาเนโกะ Director ที่เพิ่งเข้าร่วมงานกับ Net Heroes จากการควบรวมกิจการ เธอเป็นคนจริงจังกับการทำงานมาก ชนิดที่ไม่เคยลาหยุดเลยตั้งแต่ชั้นประถม จนกระทั่งทำงานแล้ว จนเธอมองพฤติกรรมเลิกงานตรงเวลาของยูอิว่าแปลกประหลาด
มิทานิคิดว่าการทุ่มเททำงานโดยไม่หยุดพักก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน เพราะตอนอยู่บริษัทเก่าเธอถูกรุ่นพี่ดุว่าบ่อยครั้ง แต่เพราะโหมทำงานหนักเกินไปโดยไม่พักผ่อนจนล้มป่วยลง เธอจึงเริ่มหยุดพักและเลิกงานตรงเวลา จากคำแนะนำของยูอิ
อาสุมะ โทรุ เป็น Front-end Engineer เขียนโค้ดให้กับเว็บไซต์ เขาใช้ชีวิตที่แทบจะกินนอนอยู่ในบริษัทเลย เพราะเขาคิดว่าตัวเองไม่มีความฝัน ไม่มีเป้าหมายในชีวิต กลับบ้านไปก็ไม่รู้จะทำอะไร ทำให้การทำงานเป็นสิ่งเดียวที่ยังหล่อเลี้ยงเขาต่อไปได้
หรือแม้แต่ทาเนดะ โคทาโร่ ที่ย้ายมาทำงานที่เดียวกับยูอิ คู่หมั้นเก่า เขาก็ยังไม่ทิ้งนิสัยบ้างานของตัวเอง ยังคงทำโอทีหามรุ่งหามค่ำเหมือนเดิม เพราะเขามีความเชื่อว่า “ถ้าทุ่มเทชีวิตกับการทำงาน ก็จะชนะอุปสรรคได้ทุกอย่าง”
แต่เพราะพฤติกรรมแบบนี้จึงทำให้เกิดค่านิยมผิด ๆ ต่อลูกน้องในบริษัทที่คิดว่าการทำงานหนักแบบไม่หยุดพักเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม หรือเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกัน โดยที่ไม่รู้ถึงเบื้องหลังว่าพวกเขาต้องแลกมากับสุขภาพที่แย่ลงจนล้มป่วยได้ แบบที่ยูอิกับมิทานิที่ได้ผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว
“อย่าทุ่มเทชีวิตให้กับบริษัท แต่จงสนุกกับชีวิตซะ!”
นี่คือคำพูดของประธานบริษัท Net Heroes ที่พูดกับพนักงานใหม่ และทำให้ยูอิมีอิสระในการทำงาน จะเลิกงานตรงเวลาก็ได้ ลาหยุดตอนไหนก็ได้ และเมื่อเลิกงานตรงเวลาแล้วยูอิก็สามารถไปดื่มเบียร์ลดราคาก่อน 18.10 น. ที่ร้านอาหารจีนได้ทุกวัน
วันหนึ่งยูอิก็พบว่าลูกค้าที่เคยมากินด้วยกันประจำ ปัจจุบันไม่มาอีกแล้ว เพราะเขาตายจากการทำงานหนัก หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียก “คาโรชิ” (過労死) มันจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สอนเราว่า พนักงานบริษัทถึงตายไปก็ยังหาคนใหม่มาแทนได้ แต่เรามีได้แค่ชีวิตเดียว ถ้าตายไปแล้วก็ไม่มีใครมาทดแทนได้อีก
และชีวิตคนไม่ได้มีแค่การทำงานอย่างเดียว แต่ละคนก็มีความชอบและเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกัน การพักผ่อนไปทำงานอดิเรกที่ตัวเองสนใจ หรือไปเข้าคอร์สเรียนพัฒนาตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเก่งขึ้น และเติมเต็ม “ชีวิต” ให้สมบูรณ์และมีความสุขได้ รวมถึงยังได้ไอเดียใหม่ ๆ ที่จะมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อีกด้วย
โลกเปลี่ยนไป วัฒนธรรมการทำงานต้องเปลี่ยนตามเพื่อให้รับกับคนรุ่นใหม่
วัฒนธรรมการทำงานหนักโดยเฉพาะในญี่ปุ่น เป็นผลพวงมาจากยุคฟื้นฟูประเทศหลังแพ้สงครามโลก ทำให้การฟังคำสั่งผู้ที่อาวุโสกว่า และการทุ่มเทชีวิตไปกับการทำงาน จึงเป็นหนทางที่จะช่วยให้ประเทศกลับมาเจริญได้ และทำให้ในช่วงทศวรรษ 1960 – 1970 ญี่ปุ่นพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก บริษัทต่าง ๆ มีรายได้มากพอที่จะเลี้ยงดูพนักงานและครอบครัวไปตลอดชีวิต ทำให้ค่านิยมการทำงานหนักเพื่อที่จะมีตำแหน่งสูง ๆ รายได้มั่นคงเป็นสิ่งที่เห็นผลได้ในยุคดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ทศวรรษ 1990 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ขนาดของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลง ขณะที่เทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การทำงานหนัก ไม่ได้การันตีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกต่อไป ลักษณะการทำงานที่ปฏิบัติกันมากว่า 50 – 60 ปีจึงใช้ไม่ได้ในยุคนี้อีก ในระยะหลังสังคมญี่ปุ่นเริ่มตระหนักถึงผลเสียจากการทำงานหนักจนร่างกายล้มป่วยหรือเสียชีวิต และพยายามที่จะลดชั่วโมงทำงานมาโดยตลอด
ซีรีส์เรื่องนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานในญี่ปุ่น กระตุ้นให้บริษัทต่าง ๆ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่เป็นมิตร และสร้าง Work-life balance ให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ ดังที่เริ่มเห็นข่าวบริษัทญี่ปุ่นออกนโยบายให้คนลาหยุดได้อิสระมากขึ้น หรือปรับการทำงานเป็น 4 วันต่อสัปดาห์
ตัวอย่างประกาศของบริษัทที่ปรับตัวโดยให้พนักงานลาหยุดได้มากขึ้น เช่น บริษัท Mark-on Co., Ltd. ที่ให้วันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2021 เป็นวันหยุดบริษัท เนื่องในโอกาสที่เกม Monster Hunter Rise วางจำหน่าย เพื่อให้พนักงานกลับบ้านไปเล่นเกม
社員がこの日に休暇を取る人が多数いるのでまとめて休みにした。 pic.twitter.com/yF5VgEOD9t
— JackMasaki (@JackMasaki) March 23, 2021
หรือบริษัท Hiroro inc. ที่คุณ Shizen Tsurumi อนุญาตให้พนักงานที่โศกเศร้าจากการที่ไอดอลที่พวกเขาหรือเธอชื่นชอบ ประกาศแต่งงานหรือประกาศจบการศึกษา ลาหยุดเพื่อไปทำใจได้ โดยหากไอดอลที่เป็นคามิโอชิ (ชอบมากที่สุด) ประกาศจบการศึกษา พนักงานสามารถลาหยุดได้ 10 วัน และโอชิคนอื่นสามารถลาหยุดได้ 3 วัน
社員の推しの卒業が決まってしまったため、弊社の勤務規定に慶弔休暇の項目が追加されました。 pic.twitter.com/s8owdfcSOn
— itaru9(株式会社ひろろ社長) (@itaru9Z) March 8, 2021
“Followers : ความรับผิดชอบที่มาพร้อมชื่อเสียง” คลิก
“เมื่อศิลปินพังค์ร็อคผันตัวเป็นช่างจัดดอกไม้” คลิก