
การยอมรับ LGBTQ ในละครกระแสหลักของประเทศแสนขี้อายอย่างญี่ปุ่น
มีคนบอกว่า ถ้าอยากรู้จักและเรียนรู้วัฒนธรรมประเทศใด ให้ลองดูละคร อ่านหนังสือ รับสื่อต่าง ๆ ของประเทศนั้นดูสิ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต สังคม เรื่องทั่ว ไป เราสามารถเห็นและเรียนรู้ได้จากสื่อเหล่านี้ทั้งนั้น สำหรับช่วงนี้ที่กระแสซีรีส์วายและการเล่าเรื่องราวความรักของ LGBTQ กำลังดังไปทั่วทั้งเอเชีย แล้วที่ญี่ปุ่นจะเป็นยังไงกันบ้างนะ
กระแสซีรีส์วายและกลุ่มสาววายทั้งหลายกำลังเติบโตกันเป็นดอกเห็ดในบ้านเราและหลายประเทศในเอเชีย แต่ทุกคนรู้ไหมครับว่า Y ที่ว่าเนี่ย มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน? ถ้าจะให้ผมเล่าง่าย ๆ “Y” มาจากคำที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกัน โดยหลัก ๆ เริ่มมากจากคำว่า “Yaoi” (やおい) อ่านว่า ยาโออิ หรือยาโอ้ย ที่หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย และคำว่า “Yuri” (百合) อ่านว่า ยูริ ที่เป็นความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับผู้หญิง ทั้งสองคำนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในการจัดหมวดหมู่มังงะและอนิเมะ เพราะทั้งสองคำขึ้นต้นด้วยตัว Y เหมือนกัน หากได้ยินคำว่า “วาย” ก็จะสามารถเข้าใจได้ทันทีว่าต้องมีความสัมพันธ์ของตัวละครชายชายหรือหญิงหญิง
และถึงแม้ญี่ปุ่นจะเริ่มใช้คำใหม่แล้วอย่าง BL (ビーエル) ที่ย่อมาจาก Boy’s Love (บอยส์เลิฟ) แต่คำว่า “วาย” ก็ยังคงฮิตติดปากอยู่ดี แต่รู้หรือไม่ว่า ในขณะที่บ้านเรา ไต้หวัน และจีน ซีรีส์วายได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ประเทศต้นกำเนิดศัพท์คำว่า “วาย” นั้นกลับเหนียมอาย ค่อย ๆ เริ่มเปิดเรื่องพวกนี้ในสื่อกระแสหลักอย่างในละครในช่วงหลังมานี้เองนะ
แม้เราจะเห็นการ์ตูนญี่ปุ่นมากมายที่เป็นแนววาย ไม่ว่าจะในรูปแบบโดจินชิ (มังงะฝีมือนักวาดมือสมัครเล่น) หรือการ์ตูนดัง ๆ ที่มีการสอดแทรกตัวละครที่มีความสัมพันธ์แบบวายมาช้านาน อย่างการ์ตูนของ CLAMP ที่มีความสัมพันธ์ชวนจิ้น ชช ในแทบทุกเรื่อง แต่ถ้าสังเกตดี ๆ ในสื่อกระแสหลักอย่างหนังและละครญี่ปุ่น กลับไม่ค่อยจะกล้าพูดถึงคู่รัก ชช หรือ ญญ มากนัก มักเลี่ยงไปเล่นในหัวข้ออื่น ๆ มากกว่า ทั้ง ๆ ที่มังงะวายก็มีฐานผู้อ่านไม่ใช่น้อย ๆ ประเทศญี่ปุ่นจึงดูเหมือนเป็นหนุ่มน้อยขี้อายที่ไม่กล้าเปิดเผยตัวออกมาในที่สาธารณะอย่างไรอย่างนั้น จนเราอดรู้สึกไม่ได้ว่าคนญี่ปุ่นเองแม้จะกล้านำเสนอสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่ในเรื่องเพศวิถีกลับเลือกที่จะปิดตัวเองและกดการแสดงออกไว้ภายใน อาจจะด้วยขนบหรือกระแสสังคมก็เป็นได้
แต่แล้วเมื่อกระแสประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายเริ่มผลิตซีรีส์วายออกมาเป็นจำนวนมาก และได้การตอบรับเป็นอย่างดี สังคมโลกเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ในที่สุดหนุ่มน้อยแสนขี้อายอย่างญี่ปุ่น ก็เริ่มเผยตัวออกมาทีละน้อย ถึงจะมีแทรกกลิ่นอายของความวายมาในบางเรื่อง แต่เรื่องแรกที่ผมสังเกตว่า ปลุกกระแสซีรีส์วายในประเทศญี่ปุ่นอย่างหนักคือ Ossan’s Love (ค.ศ.2018) ซีรีส์แนววายที่เล่าเรื่องของหนุ่มออฟฟิศผู้เข้าสังคมไม่เก่งแต่แล้วจู่ ๆ ก็เนื้อหอมขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผล
รูปประกอบ : www.tv-asahi.co.jp/ossanslove
แถมสองคนที่มาพัวพันกลับเป็นเจ้านายหน้าหนวดรุ่นลุงที่มีภรรยาอยู่แล้ว และเพื่อนร่วมงามหนุ่มสุดฮอต เรื่องราวของชายสูงวัยที่พึ่งมาค้นพบตัวเองและไล่จีบหนุ่มน้อยจึงเริ่มต้นขึ้น เรื่องราวถูกถ่ายทอดออกมาในแนวตลกปนอบอุ่น จนผมอดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ประเทศไทยเราเมื่อหลายปีก่อนก็เริ่มเล่าเรื่องของ LGBTQ ขึ้นมาในหนังด้วยวิธีนี้เหมือนกัน ถ้าไม่เศร้า ก็ต้องเป็นหนังตลก ก่อนจะค่อย ๆ ให้การยอมรับมากขึ้นแล้วพัฒนามาสู่สื่อกระแสหลัก ที่สามารถเล่าเรื่องราวความรักของเพศเดียวกันได้ตรง ๆ ในภายหลัง
หลังจากนั้นซีรีส์วายของญี่ปุ่นค่อย ๆ เริ่มพัฒนาเรื่อยมา ถึงแม้จะไม่ได้มีเยอะมากนัก แต่ก็มีเรื่องใหม่ ๆ ออกมาให้ได้ดูกันอยู่เรื่อย ๆ อย่างเรื่องที่น่าจะมีคนไทยหลายคนพอรู้จักมาก่อนหน้านี้ “What Did You Eat Yesterday?” (ค.ศ.2019) ที่ดัดแปลงมาจากมังงะซึ่งมีฉบับแปลวางขายในไทยในชื่อ “เมื่อวานเจ๊ทานอะไร?” ด้วย (วาดโดย Fumi Yoshinaga)
รูปประกอบ : www.tv-tokyo.co.jp/kinounanitabeta
จวบจนเรื่องล่าสุดที่โด่งดังเป็นพลุแตกในช่วงนี้อย่าง “Cherry Magic! Thirty Years of Virginity Can Make You a Wizard?!” (ค.ศ.2020) ซีรีส์ที่พัฒนามาจากมังงะอีกเรื่องหนึ่ง เล่าถึงหนุ่มที่ยังซิงมาจนอายุ 30 แล้วได้พลังพิเศษที่สามารถอ่านใจคนอื่นได้ จนได้มารู้ว่าเพื่อนร่วมงามรูปหล่อแสนเพอร์เฟกต์แอบชอบตัวเองอยู่ กลายเป็นละครรักอบอุ่นให้สาววายได้จิ้น ได้ฟินกันจนจิกหมอนกันอย่างเพลิดเพลิน แต่ถึงอย่างไร ญี่ปุ่นก็ยังคงรักษาความขี้อายตามแบบฉบับที่ผมว่ามาอยู่ดี เมื่อทั้งเรื่องเป็นเรื่องความสัมพันธ์แบบใส ๆ ไม่มีฉากเซอร์วิสหรือแม้แต่จูบจริงจังเลย
แม้ว่าละครกระแสหลักในญี่ปุ่นจะยังมีไม่มากนัก แต่เราก็เริ่มได้เห็นแล้วว่า ความเหนียมอายไม่กล้าเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของกลุ่ม LGBTQ ที่ญี่ปุ่นนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ หนุ่มขี้อายอย่างประเทศญี่ปุ่นยังต้องใช้เวลาอีกสักพักในการเปิดตัวอย่างไม่เคอะเขิน และเทรนด์ที่วัฒนธรรมเหล่านี้จะค่อย ๆกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้นก็น่าจะค่อย ๆ พัฒนาต่อไปได้อีก เหมือนกับหลาย ๆ ที่ คล้าย ๆ กับในบ้านเรา คล้าย ๆ กับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย หนทางของ LGBTQ จะยังคงดำเนินต่อไป และไม่ช้าผู้คนจะเข้าใจว่าความรักไม่ว่าจะระหว่างเพศไหน ความรักก็คือความรัก
รูปประกอบ : www.tv-tokyo.co.jp/cherimaho
เรื่องโดย Go Went Korn
คนบ้าที่อยู่นิ่งไม่ค่อยจะเป็น ชอบแบกกล้องออกไปหาที่กิน ที่เที่ยวตลอดเวลา แต่ก็กล้ามาบ่นว่าอ้วนอยู่ทุกวัน
แถมเอาเวลาที่ควรจะนอน มาเผากับเกม มังงะ และซีรีส์ จนขอบตาคล้ำน่าจับไปขังในสวนสัตว์
(แต่ก็คงแหกกรงออกไปเที่ยวอีกอยู่ดี)
“Followers: ความรับผิดชอบที่มาพร้อมชื่อเสียง” คลิก
“บทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เหลือไว้ในการจากไปของเขาและเธอ” คลิก