KOI KOI เกมผู้เล่น 2 คนที่ใช้ไพ่ดอกไม้ (ฮานะฟุดะ)
ก่อนหน้านี้ ดาโกะเคยนำเสนอเรื่องราวของไพ่ดอกไม้ (ฮานะฟุดะ) ไปแล้ว ครั้งนี้เราจึงขอนำเสนอเกมยอดนิยมในกลุ่มคนญี่ปุ่นที่ใช้ไพ่ดอกไม้ในการเล่นที่เรียกว่า “เกมโค่ย โค่ย” (こいこい, KOI KOI) กันบ้าง จะมีวิธีการเล่นอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย!
เกมโค่ย โค่ย เป็นเกมผู้เล่น 2 คนที่ใช้ไพ่ดอกไม้ (ฮานะฟุดะ) ในการเล่นที่ได้รับความนิยมที่สุด นอกเหนือจากเกมโค่ยโค่ย ก็ยังมีเกมฮานะอาวะเซ (花合わせ, Hana-Awase) ที่มีจำนวนผู้เล่น 3 หรือ 4 คน เป็นเกมที่ต่อยอดมาจากโค่ยโค่ย แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่า
คำว่า “โค่ย โค่ย” แปลว่า “มา มา” เป็นคำหลักของเกมที่ผู้เล่นจะต้องพูดเพื่อกำหนดแนวทางของเกม ผู้เล่นจะพูดคำว่าโค่ยโค่ยในอารมณ์ที่สื่อได้ประมาณว่า มาเลย จัดมา ต่อๆ (ถ้ามีโอกาสได้พูดในเกมจะเป็นช่วงที่ตัดสินใจยากมาก ฮาาา) และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่าผู้เล่นจะเสียคะแนนทั้งหมดหรือได้คะแนนคูณสอง
ไพ่ดอกไม้ (ฮานะฟุดะ)
ฮานะฟุดะ เป็นไพ่เซต 48 ใบ แบ่งออกเป็น 12 กอง กองละ 4 ใบ โดยแต่ละกองมีภาพดอกไม้ (และต้นไม้) เป็นตัวแทนของเดือน 12 เดือน
กติกาการเล่น
โดยปกติหนึ่งเกมจะเล่นประมาณ 6 หรือ 12 รอบ ผู้เล่นจะต้องเก็บคะแนนในแต่ละรอบด้วยการประกอบไพ่ให้ได้ยะคุ (役) และเมื่อสิ้นสุดเกม ผู้ที่ได้คะแนนรวมทั้งหมดสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ
*ยะคุ (役) คือ เซตของไพ่จำนวน 2 – 10 ใบ ที่มีคะแนนกำกับ
1. ผู้เล่นเลือกไพ่คนละหนึ่งใบเพื่อกำหนดผู้เริ่ม คนที่ได้ไพ่อันดับเดือนต้นกว่าจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เรียกว่า “โอยะ” (親) ฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “โคะ” (子)
2. โอยะต้องจั่วไพ่แจกทีละ 2 ใบ ให้ฝ่ายตรงข้าม กองกลาง และตนเอง กองละ 8 ใบ
3. โอยะเริ่มเกมโดยการจับคู่ไพ่บนมือกับไพ่บนกระดาน โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นไพ่เดือนเดียวกันเท่านั้น เมื่อจับคู่ได้ ให้เก็บไพ่คู่นั้นขึ้นมา
4. แล้วจั่วไพ่จากกองขึ้นมาหนึ่งใบวางลงกระดาน หากสามารถจับคู่ได้อีก เราจะได้ไพ่คู่นั้น หากจับคู่ไม่ได้ให้จบตา
5. หรือ ถ้าไม่มีไพ่ในมือที่สามารถจับคู่ได้เลยตั้งแต่เริ่มตา ให้เลือกไพ่หนึ่งใบบนมือวางลงกระดาน แล้วจบตา
6. ฝ่ายตรงข้ามจับคู่และดำเนินเกมด้วยขั้นตอนเดียวกัน
7. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเก็บไพ่ขึ้นมาจนสามารถประกอบยะคุได้ ฝ่ายนั้นจะมีสิทธิ์ประกาศว่าจะ “โค่ย โค่ย” หรือไม่
8. ถ้าเลือกที่จะไม่โค่ยโค่ย จะเป็นการจบตาและผู้ที่ประกอบยะคุจะได้คะแนนไปในรอบนั้น หลังจากนั้นให้เริ่มเกมรอบที่ 2
9. ถ้าเลือกที่จะโค่ยโค่ย เกมดำเนินต่อ ทำให้ผู้เล่นสามารถสะสมคะแนนจากการเก็บเซตไปได้เรื่อย ๆ แต่มีเงื่อนไขคือ ถ้าฝ่ายตรงข้ามประกอบยะคุได้หลังจากมีการประกาศโค่ยโค่ย ฝ่ายนั้นจะได้คะแนนตามยะคุ x 2 ส่วนผู้เล่นที่ประกาศโค่ยโค่ยจะเสียคะแนนที่สะสมมาทั้งหมด และจบตา
10. รวมคะแนนในหนึ่งรอบ แล้วบันทึกไว้
11. เล่นจนครบ 6 – 12 รอบ และรวมคะแนนทั้งหมดเพื่อหาผู้ชนะ
การนับคะแนน และ ยะคุ (役)
โค่ยโค่ย มีความพิเศษคือการประกอบยะคุเพื่อเก็บคะแนน หรือในเกมจะเรียกว่า มง (文) ผู้เล่นจะต้องหากลเม็ดในการวางไพ่และเก็บไพ่เพื่อขัดขวางการประกอบยะคุของฝ่ายตรงข้าม อีกทั้งยังต้องคาดเดาถึงความเป็นไปได้ในการประกอบยะคุเพื่อให้การ “โค่ยโค่ย” ของตนนั้นไม่ได้เป็นการทำให้ตนพ่ายแพ้เสียเอง
ยะคุ มีคะแนนและหน้าตา ดังนี้
คะแนนพิเศษ มีเงื่อนไขคือ
– หากคะแนนรวมของผู้เล่นในตานั้น มากกว่า 7 คะแนน ผู้เล่นจะได้คะแนนคูณสอง
– หากผู้เล่นประกอบยะคุได้หลังจากฝ่ายตรงข้าม โค่ยโค่ย ผู้เล่นได้คะแนนคูณสอง
มาดูตัวอย่างการเล่นกันเถอะ!
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ มีใครยังงงอยู่ไหมเอ่ย? ถ้ายังงงอยู่คงต้องลองหาฮานะฟุดะมาเล่นกันแล้วล่ะ (ฮา)
Illustration : カナ