ซากุระ (Sakura) และเบญจมาศ (Kiku) ดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่น

ซากุระ (Sakura) และเบญจมาศ (Kiku) ดอกไม้อันเป็นที่รักของประชาชน

kiku


ญี่ปุ่นมีดอกไม้ประจำชาติด้วยกัน 2 ชนิด!


“ปีที่แล้วฉันไม่มีโอกาสที่จะหยิบเอาหนังสือเดินทางเล่มสีแดงหน้าปกรูปดอกเบญจมาศออกมาจากลิ้นชักเลย
ถึงแม้จะอยากพกมันเพื่อเดินทางไปชมดอกราชพฤกษ์ที่เมืองไทยมากเหลือเกินก็ตาม”

ในการเริ่มต้นของปีนี้ ฉันอยากเอ่ยถึงดอกไม้ประจำชาติของทั้งญี่ปุ่นและไทยค่ะ “เบญจมาศ” หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “คิคุ” ดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น และ “ราชพฤกษ์” หรือคูน (Golden Shower) ดอกไม้ประจำชาติของไทยนั่นเอง

รู้สึกเหมือนจะได้ยินเสียงจากผู้อ่านบางคนพูดว่า “อ้าว ซากุระไม่ใช่เหรอ?” ใช่ค่ะ! ซากุระก็เป็นดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน แต่เรามีด้วยกัน 2 ชนิด และขอเพิ่มเติมอีกนิดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีการกำหนดดอกไม้ประจำชาติอย่างเป็นทางการ ไม่เหมือนกับเพลงชาติและธงชาติญี่ปุ่นซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้เมื่อปี ค.ศ.1999 ดังนั้นดอกไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้จึงนับได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่นที่เป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีอันยาวนาน ส่วนดอกราชพฤกษ์ของเมืองไทยนั้น ทางรัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2544 ค่ะ


ดอกไม้อันเป็นที่รักและสัญลักษณ์ของประเทศ


“ดอกไม้ประจำชาติ” คืออะไร เมื่อเปิดพจนานุกรมภาษาญี่ปุ่น (โคจิเอ็น) ฉันก็พบคำตอบว่าดอกไม้ประจำชาติ หรือ “คก-ขะ” (国花)” ในภาษาญี่ปุ่น หมายความว่า “ดอกไม้อันเป็นที่รักของประชาชน และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของประเทศด้วย ได้แก่ ซากุระและเบญจมาศ”


ซากุระ ดอกไม้อันเป็นที่รักมายาวนานกว่า 1,200 ปี


เป็นที่ทราบกันดีว่าซากุระจะบานในช่วงประมาณเดือนมีนาคมถึงเมษายน เมื่อซากุระเริ่มบาน คนญี่ปุ่นจะรวมตัวสังสรรค์กันใต้ต้นไม้ เพื่อทำกิจกรรมที่เรียกว่า “ฮานามิ” ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมประจำฤดูใบไม้ผลิ ในตำนานกล่าวไว้ว่าจักรพรรดิซากะซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 52 ทรงจัดงานชื่นชมซากุระในบริเวณวัดชินเซ็นเอ็นที่เกียวโตเมื่อปี ค.ศ.812 ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของ “ฮานามิ”

ในช่วงแรกนั้นจะมีเฉพาะคนชั้นสูงเท่านั้นที่จัดกิจกรรมนี้ แต่ต่อมากลุ่มคนทั่วไปก็สามารถชื่นชมซากุระได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงกลางสมัยเอโดะ (ปี ค.ศ.1681 – ค.ศ.1780) รัฐบาลโทกุงาวะ ท่านโชกุนโยชิมุเนะได้ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นซากุระบริเวณโดยรอบเมืองเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน ว่ากันว่านี่เป็นกลยุทธ์ที่เอาใจชาวบ้านเพื่อให้หายเครียดกับนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวดต่อชาวบ้านในช่วงนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ซากุระก็ได้กลายเป็นดอกไม้อันเป็นที่รักของคนญี่ปุ่นสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ซากุระ (Sakura) และเบญจมาศ (Kiku) ดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่น


เบญจมาศ สัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ญี่ปุ่น


ดอกเบญจมาศ หรือ “คิคุ” (菊, Kiku) ถือว่าเป็นดอกไม้แห่งฤดูใบไม้ร่วง ปัจจุบันมีหลากสี หลายสายพันธุ์มากกว่า 6,000 ชนิด มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนในสมัยนาระ (ปี ค.ศ.710 – ค.ศ.784) และตามความเชื่อโบราณ เบญจมาศถือว่าเป็นดอกไม้มงคล รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของ “ความอายุยืน” เพราะมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร

ญี่ปุ่นมีประเพณีดั้งเดิมที่เรียกว่า “คิคุ โนะ เซ็คคุ” (Kiku no Sekku, 菊の節句) จัดขึ้นในวันที่ 9 กันยายนเพื่อขอพรให้อายุยืนยาวและขับไล่สิ่งเลวร้ายต่างๆ โดยดื่มสาเกที่โรยด้วยกลีบดอกเบญจมาศ และมีตำนานกล่าวไว้ว่าจักรพรรดิโกโทบะซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 82 ทรงรักเบญจมาศเป็นอย่างมาก จึงใช้รูปของดอกเบญจมาศเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แล้วได้มีการสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนเมื่อปี ค.ศ.1869 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้กำหนดให้รูปเบญจมาศ “จูโระคุโย ยาเอะ โอโมเตะ คิคุ” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “จูโระคุ ยาเอะกิคุ” (Juroku Yaegiku, 十六葉八重表菊) เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

และเมื่อปี ค.ศ. 1920 มีการประชุมระดับนานาชาติกำหนดให้หนังสือเดินทางของแต่ละประเทศต้องมีการลงสัญลักษณ์ประจำประเทศนั้นๆ ดังนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นจึงใช้รูปดอกเบญจมาศ “จูโระคุ ฮิโตเอะ โอโมเตะ คิคุ” (Juroku Hitoe Omotegiku, 十六一重表菊) เป็นสัญลักษณ์ประจำประเทศซึ่งถูกออกแบบให้คล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ โดยปรับเปลี่ยนกลีบซ้อนๆ ให้เหลือแค่ชั้นเดียว 16 กลีบ ดังนั้น หนังสือเดินทางของฉันจึงมีรูปดอกเบญจมาศสีทองอยู่บนหน้าปกค่ะ

ซากุระ (Sakura) และเบญจมาศ (Kiku) ดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่น


และรู้ไหมว่าดอกไม้ประจำชาติเหล่านี้คนญี่ปุ่นทุกคนต่างพากันพกพาเป็นประจำทุกวันด้วย เพราะธนบัตร 1,000 เยนและเหรียญ 100 เยนนั้นมีรูปซากุระ และเหรียญ 50 เยนมีรูปเบญจมาศอยู่ยังไงล่ะ ลองสังเกตดูนะคะ!


“ซากุระบาน” หมายความว่า “สอบเข้าได้”


ในภาษาญี่ปุ่นมีคำที่เกี่ยวกับซากุระซึ่งคนไทยอาจจะไม่รู้ ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี จะมีการจัดสอบเข้าโรงเรียนทุกระดับรวมทั้งระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศด้วย ขณะนี้คงมีนักเรียนที่ตั้งใจอ่านหนังสืออยู่ โดยมีคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย คอยส่งกำลังใจให้และตั้งตารอคอยข่าวดีว่า “ซากุระบาน” หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ซากุระ ซาคุ” (サクラサク)เพราะคำนี้นอกจากมีความหมายตามตัวว่าซากุระบานแล้ว ยังมีความหมายอีกอย่างว่า “สอบเข้าได้” อีกด้วย

สมัยก่อนที่ไม่ได้มีการประกาศหมายเลขผู้ที่สอบเข้าได้ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างในสมัยนี้ “โทรเลข” หรือ “เด็นโพ” (電報) จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ให้นักเรียนจะทราบผลการสอบเข้า เมื่อสอบเข้าได้ก็ส่งคำสั้นๆ ว่า “ซากุระ ซาคุ” ถ้าสอบตกก็ส่งคำว่า “ซากุระ ชิรุ” (ซากุระร่วง) ซึ่งว่ากันว่านักศึกษามหาวิยาลัยวาเซดะที่เป็นผู้ส่งโทรเลข เมื่อเห็นซากุระบานแล้วได้ใช้ไหวพริบส่งคำนี้แทนที่จะส่งคำว่า “โกคะคุ”(สอบผ่าน) หรือ “ฟุโกคะคุ” (สอบตก) หลังจากนั้นเป็นต้นมา “ซากุระ ซาคุ” จึงกลายเป็นคำที่เป็นที่นิยมใช้ต่อๆ กันมาจนถึงปัจจุบันที่แม้ว่าจะเป็นยุคอินเตอร์เน็ตแล้วก็ตาม


ดอกเบญจมาศเป็นดอกไม้ที่ใช้แสดงความเคารพบรรพบรุษ


จากการจัดอันดับยอดขายของตลาดดอกไม้ญี่ปุ่น ดอกเบญจมาศเป็นดอกไม้ที่ขายได้เป็นอันดับ 1 ในญี่ปุ่น โดยถือเป็นสัดส่วนประมาณ 40% จากบรรดาดอกไม้ทั้งหมด และจังหวัดไอจิถือเป็นแหล่งปลูกเบญจมาศที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น เหตุผลที่เป็นที่นิยมก็เพราะว่าดอกเบญจมาศจะบานได้นานถึง 2 – 3 สัปดาห์ คนญี่ปุ่นจึงนิยมนำไปไหว้บรรพรุษที่สุสาน นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในการตกแต่งงานศพด้วย ดังนั้นเมื่อคนญี่ปุ่นพูดถึงเบญจมาศ มักจะนึกถึงพิธีในทางศาสนาพุทธค่ะ


“ซากุระจัง” มีมากกว่า “คิคุจัง”


ได้มีการสำรวจภาพลักษณ์ของดอกไม้ทั้งสองชนิดสำหรับใช้ในการตั้งชื่อลูกสาวของคนญี่ปุ่น ซึ่งพ่อแม่ชาวญี่ปุ่นมักเลือกตั้งชื่อลูกสาวของตนด้วยชื่อดอกไม้ที่น่ารักๆ โดยหวังว่าลูกสาวจะเติบโตเป็นสาวสวยน่ารักเหมือนดอกไม้นั่นเอง และจากผลการสำรวจในการตั้งชื่อลูกของบริษัทประกันชีวิต “เมจิยาซุดะ” พบว่าในรัชสมัยเฮเซ ระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ.1989 ถึง ค.ศ.2018 ชื่อ “ซากุระ” (さくら) ติดอันดับหนึ่งถึง 4 ครั้ง (ปีค.ศ.2000, 2001, 2004, 2010) แต่ชื่อ “คิคุ” ไม่เคยติดอันดับใน 100 เลยแม้แต่ครั้งเดียว

แม้ว่าภาพลักษณ์ของดอกไม้ทั้งสองชนิดนี้จะแตกต่างกัน โดยเฉพาะลักษณะการบานที่เห็นได้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามดอกไม้ทั้งสองชนิดนี้ก็เป็นดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่นที่สำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะคนญี่ปุ่น บอกตรงๆ ว่าเราไม่เคยคิดถึงคำว่า “ดอกไม้ประจำชาติ” เลย แต่เราชื่นชมเวลาดอกซากุระบานสะพรั่งด้วยความสวยงาม และเมื่อสังเกตเห็นรูปเบญจมาศบนหน้าปกหนังสือเดินทางทุกครั้งก็เกิดความภูมิใจในความเป็นคนญี่ปุ่น สำหรับผู้อ่านคนไทยล่ะคะ เมื่อเห็นดอกราชพฤกษ์ รู้สึกอย่างไรบ้างคะ

ซากุระ (Sakura) และเบญจมาศ (Kiku) ดอกไม้ประจำชาติญี่ปุ่น

อ้างอิง
外務省外交資料 Q&A パスポート関係
農林水産省 統計情報 花き生産出荷統計
明治安田生命 名前ランキング

Cover Illustration : Ma-een


“Before our spring 10 จุดน่าไปยามเมื่อดอกไม้บาน” คลิก
“สดใส ปกป้องและอันตราย ดอกไม้แห่งโลกอนิเมะ” คลิก
“INSIDE A BOOK : ยามซากุระร่วงโรย” คลิก

views