ว่าด้วยเรื่องหนังสยองขวัญญี่ปุ่น

What we talk about when We talk about Japanese Horror Film


หากพูดถึงหนังสยองขวัญ (Horror Film) ที่น่ากลัวชวนให้ขนหัวลุกขนแขนชูชัน ก็ไม่พ้นหนังสยองขวัญสัญชาติญี่ปุ่น
ทั้ง Ju-on (2002) The Grudge (2004) หรือเรื่องสยองขวัญสั่นประสาทที่มาพร้อมกับการสืบหาต้นตอในเชิงสารคดี
น่าตื่นเต้นอย่าง Noroi: The Curse (2005) ล้วนสร้างความประทับใจในระดับเวิลด์ไวด์ จนหนังสยองขวัญญี่ปุ่นหลาย
เรื่องกลายเป็นวัตถุดิบให้ชาวต่างชาตินำไปรีเมค หรือได้แรงบันดาลใจไปทำหนังสยองขวัญในกรอบวัฒนธรรมของพวก
เขาไปเสียอย่างนั้น สามารถพูดได้เต็มปากว่าความเป็น “Horror” ของชาติญี่ปุ่นนั้นไม่ธรรมดา มีความพิเศษและมีความ-
เจ๋งมากเลยทีเดียว

 

แล้วจุดเริ่มต้นของหนังสยองขวัญญี่ปุ่นมาจากไหน? ขออนุญาตเล่าให้ฟังคร่าวๆ ก็แล้วกัน

 

หากเกิดคำถามนี้ขึ้นมาก็อาจต้องย้อนกลับไปอีกว่า เรื่องสยองขวัญของญี่ปุ่นแต่ “แรกเริ่ม” มันเป็นอย่างไร สิ่งแรกๆ
ที่เอ็นเตอร์เทนมนุษย์ ก็คือ “เรื่องเล่า” ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น คุณยายเล่าเรื่องผีสางเทวดาให้ลูกฟัง ลูกก็นำไปเล่าให้
หลานฟังต่อ ต่อมาบางเรื่องอาจได้พัฒนาเป็นละครเวที หรือบทประพันธ์ขับร้อง จนกระทั่งถึงจุดที่มีเทคโนโลยีสร้าง
ภาพยนตร์ การสร้างหนังแต่ละเรื่องในอดีตก็ต้องใช้สิ่งที่กรอบวัฒนธรรมเรื่องเล่ามอบให้มาตั้งแต่อดีต บ่มเพาะหลอม-
รวมความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้อย่างตำนานปรัมปราจนเกิดเป็นสื่อเชิงสร้างสรรค์อย่างภาพยนตร์
ขึ้นมา

แท้จริงแล้ว เรื่องสยองขวัญญี่ปุ่นนั้นก็มาจากตำนวนปรัมปราหรือเรื่องเล่าที่ส่งทอดปากต่อปากจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีก
รุ่น (มุขปาฐะ) เหมือนเราที่ได้ยินตำนานผีเปรต กระหัง หรือกระสือ นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังได้รับอิทธิพลความเชื่อเรื่องศาส-
นาอย่างลัทธิชินโตด้วย เรื่องเล่าเหล่านี้มาตั้งแต่ในสมัยก่อนการเข้ามาของวิทยาศาสตร์ ฉะนั้นผีหรือปีศาจของญี่ปุ่นก็
ทำหน้าที่เป็นเหมือนเหตุผลว่าทำไมภัยพิบัติต่างๆ ในสังคมจึงเกิดขึ้น และควรทำอย่างไรความเสียหายจะส่งผลน้อยสุดต่อ
ชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมืองที่อาศัยอยู่กับเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ในขณะนั้นไม่สามารถให้เหตุผลได้

หนังสยองขวัญของญี่ปุ่นได้อิทธิพลในหลายๆ ด้าน อย่างอิทธิพลแรกเลยคือ “Kai-dan” แปลตรงตัวว่าเรื่องราวแปลก
ประหลาดที่ส่งทอดเล่าปากต่อปากจากรุ่นสู่รุ่น อาจเป็นนิทานคติสอนใจก็ได้ มีทั้งภูต ผี ปีศาจเป็นส่วนประกอบของเรื่อง
อิทธิพลอย่างที่สองนั้นมาจากการแสดงคาบูกิและละครโน โดยมีการเล่าถึงผีและปีศาจ คาบูกินี้ส่งอิทธิพลต่อหนังสยอง-
ขวัญเป็นอย่างมากและมีหลักฐานด้วยว่าหนังญี่ปุ่นที่มีการบันทึกไว้เรื่องแรกก็คือวิดีโอบันทึกการแสดงคาบูกิใน ค.ศ.1899
โดยมีฉากต่อสู้ระหว่างซามูไรและปีศาจภูเขา

 

ต่อมา Tales of Ugetsu (1953) เป็นภาพยนตร์ที่คนทั่วไปกล่าวว่าเป็นหนังสยองขวัญเรื่องแรกของประเทศญี่ปุ่น โดย
แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวตของชาวญี่ปุ่นกับเรื่องเหนือธรรมชาติ ถึงแม้เรื่องนี้ไม่ได้จงใจสร้างขึ้นมาเพื่อมอบความกลัวให้
แก่ผู้ชม ทว่ากลายเป็นหนังต้นแบบสำหรับหนังสยองขวัญญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ทั้งบรรยากาศอันน่าสยดสยองและหลอก-
หลอนได้อิทธิพลมาจากหนังสยองขวัญโกธิคจากตะวันตก โดยในเรื่องก็มีผีสาวผมยาวที่สุดแสนจะเป็นต้นตำรับผีญี่ปุ่น
อีกด้วย

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องสยองขวัญของญี่ปุ่นอีกอย่างหนึ่งคือวัตถุดิบในตอนแรกนั้นมาจากบันทึกของชายชาวไอริช
ชื่อ Lafcadio Hearn หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า Koizumi Yakumo เขาเป็นทั้งนักเขียน นักแปล และคุณครูผู้นำเสนอวัฒน-
ธรรมและวรรณกรรมของประเทศญี่ปุ่นแก่ชาวตะวันตก เขาได้จดบันทึกเรื่องน่าขนหัวลุกที่คนทั่วไปมองว่ามันมากกว่า
เรื่องราวของเด็ก หรือบทละครต่างๆ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ขณะที่เขาใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นก็ได้รวมเรื่องซีรีส์
เกี่ยวกับโยไค (หรือ ปีศาจ) และตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1904 มีชื่อว่า Kwaidan: Stories and Studies of Strange Things
หลังจากนั้นหลายสิบปี อุตสาหกรรมหนังสยองขวัญของญี่ปุ่นก็เกิดขึ้น ช่วงแรกนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับเหนือ
ธรรมชาติ มีวิญญาณร้ายอาฆาตแค้น แต่ต่อมา ความกลัวกลับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะ
เหตุการณ์ใหญ่โตอย่างสงครามโลก โดย Gojira (1954) The H-Man (1958) และ The Human Vapor (1960)
ก็สอดแทรกด้วยความกลัวระเบิดนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี ที่มีผลทำให้คนป่วยหรือมีลักษณะน่ากลัวจนเหมือน
กลายเป็นปีศาจ หรือเป็นภัยต่อชีวิต สร้างความฉิบหายต่อคนอื่นจนเกิดความเจ็บปวดหรือถึงแก่ความตาย หรือในช่วง
กลางของปี 1960s ก็ยังมีเรื่องสยองขวัญซึ่งเกี่ยวกับสงครามอยู่ เช่น Onibaba กำกับโดย Kaneto Shindo
ในปี ค.ศ. 1964 เรื่องราวมีอยู่ว่า มีหญิงม่ายกับแม่สามีที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสงคราม เอาชีวิตรอดโดยการล่อลวงเหล่า
ทหารไปสู่ความตายเพื่อขายสิ่งของของพวกเขาเหล่านั้นเพื่อหาอาหาร สุดท้ายแล้วหน้ากากสงครามของเหยื่อรายสุด-
ท้ายปฏิเสธที่จะมีโชคชะตาไม่ต่างจากของอื่นๆ จึงนำพาความฉิบหายมาสู่หญิงม่ายและแม่ผัว

 

ในปีถัดมาผู้กำกับชื่อ Masaki Kobayashi ก็สร้างหนังสยองขวัญชื่อ Kwaidan ซึ่งเลือกเรื่องราวมาจากผลงานของ
Hearn ที่เรากล่าวไปตอนต้น หนังเรื่องนี้ได้รางวัล Special Jury Prize ในเทศกาลภาพยนต์เมืองคานส์ในปีเดียวกัน
ผู้กำกับผู้มีฝีมือคนนี้ก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลในการกำกับหนังสยองขวัญ หากจะให้ลองเปรียบเทียบหนังสยองขวัญญี่-
ปุ่นในยุคแรกโดยฝีมือของผู้กำกับคนนี้ ความกลัวที่เราได้รับจะเป็นความกลัวที่สะสมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดไคลแม็กซ์
หรือความกลัวที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ไม่ปรากฏในเรื่อง แต่ทำให้เราหลอนเมื่อนึกถึงมันแม้ว่าหนังจะจบไปแล้ว (ความกลัว
ประเภท Terror) ต่างจากหนังสยองขวัญสัญชาติอเมริกันที่จะใช้เทคนิก Jump-Scare คือทำให้เราตกใจด้วยซาวด์-
เอฟเฟค และการแสดงออกทางสีหน้าหรือร่างกายของนักแสดงมากกว่าการทำให้เรากลัวด้วยบรรยากาศที่จับต้องไม่ได้

เมื่อถึงช่วง 60s-80s ก็มีการสร้างสรรค์หนังสยองขวัญในรูปแบบอื่นมากขึ้น อย่างการเอาไปผสมลักษณะภาพยนตร์
แบบคอมเมดี้ หรือนำเรื่องสยองขวัญมาผสมกับ Pinky Violence ที่มีฉากโป๊เปลือยหรือมีเนื้อหาด้านเพศ ต่อมาอุต-
สาหกรรมหนังสยองขวัญในญี่ปุ่นก็ชวนแหวะมากขึ้นเพราะเริ่มมีฉากเลือดสาดเลือดพุ่ง เช่น The Guinea Pig Series
(1985-1989) ที่มีฉากจิ้มท้องกันอย่างโจ่งแจ้ง เลือดทะลัก ไส้ไหลกันจะจะจนเดือดร้อนผู้กำกับต้องเดินทางไปยังศาล
เพื่อบอกว่าหนังเรื่องนี้ไม่มีใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจริงๆ มันแค่ดูเหมือนจริงเฉยๆ!

 

การเข้ามาของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็มีอิทธิพลต่อปมหนังสยองขวัญเช่นเดียวกัน และทำให้เกิด Cyperpunk Body
Horror film ชื่อ Tetsuo: The Iron Man (1989) ที่ตัวละครนำส่วนประกอบจากเครื่องยนต์โลหะมาผสมกับร่างกายจน
กลายเป็นปีศาจ ซึ่งก็แสดงความกลัวของมนุษย์ที่มีต่อการเข้ามาของเครื่องยนต์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจนทำให้
มนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์นั่นเอง

 

จนกระทั่งปี 90s ก็มีคำว่า J-Horror ปรากฏขึ้น แล้วเป็นช่วงที่ Ringu (1998) ได้ออกฉายและโด่งดังเป็นอย่างมากจน
ต่างประเทศซื้อลิขสิทธิ์นำไปทำรีเมค โดยเรื่องนี้ดึงการเล่าเรื่องสยองขวัญแบบญี่ปุ่นให้กลับไปสู่วิถีเก่าก็คือเรื่องเหนือ
ธรรมชาติ มีวิญญาณร้ายอาฆาตแค้นและรังควานคนเป็น ทว่ามีส่วนประกอบหลายอย่างที่คงความเป็นสมัยใหม่ไว้
และการบูมของหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ทุกวันนี้คนยังติดภาพวิญญาณอาฆาตผู้หญิงในชุดขาว ผมเผ้ายาวปิดหน้าปิดตา
ผิวขาวซีด คลานแถ่ดๆ บนพื้นท่าทางพิลึกปนสยอง และทุกวันนี้คนก็ยังมีการผลิตซ้ำผีในเชิงนี้อยู่ จะผ่านไปกี่ปี
ผีที่ทำให้เราตกใจและดึงบรรยากาศเก่าๆ มาให้เราได้ก็คือผีผู้หญิงชุดขาวผมยาวนี่แหละ

หากสังเกตลักษณะของการพัฒนาเรื่องสยองขวัญในยุคแรก ก็ไม่ต่างจากการกำเนิดหนังสยองขวัญของชาติอื่นเท่าไรนัก
เพราะมันวนเวียนอยู่กับเรื่องตำนานความเชื่อหรือศาสนา บางเรื่องอาจไม่ใช่เรื่องผีโดยสิ้นเชิงโดยการนำไปผสมรวมกับ
สิ่งอื่น จนทำให้คนกลายเป็น “สิ่งอื่น” เช่นเดียวกัน

ความสยองขวัญไม่จำเป็นต้องมาพร้อมผีวิญญาณ แค่มาในรูปแบบของสิ่งที่เราไม่คุ้นชิน เราไม่สามารถหาเหตุผลให้มันได้
รวมถึงมีภัยต่อเรา แค่นี้ก็เข้าข่ายความสยองขวัญแล้ว

 


ที่มา:
https://journal.rikumo.com/journal/paaff/a-brief-history-of-japanese-horror
https://publicdomainreview.org/collection/kwaidan-stories-and-studies-of-strange-things-1904
https://www.bfi.org.uk/news-opinion/news-bfi/features/five-reasons-tetsuo-iron-man
https://www.youtube.com/watch?v=GZFS0TaqxAA
https://www.youtube.com/watch?v=C8Z3DYtUP0E (Ugetsu)
https://www.youtube.com/watch?v=sknsvtX68yw (Onibaba)
https://www.youtube.com/watch?v=XG5mvupo9Wc (Kwaidan)
https://www.youtube.com/watch?v=ShJvheZHXdI (Tetsuo: The Iron Man)
https://www.youtube.com/watch?v=m4iODTbUn1A (Ring)

 

views