Hanafuda (花札) – ไพ่ดอกไม้ เกมการ์ด และการ์ตูนญี่ปุ่น
hanafuda
หากจะให้นึกถึงดอกไม้แบบเร็ว ๆ ล่ะก็ เรามักจะนึกถึงภาพของดอกไม้ริมทางกลับบ้าน มันประหลาดมากที่เมื่อถึงห้วงจังหวะหนึ่ง ในกอหญ้าที่ใครหลายคนหลงลืมมักปรากฏดอกไม้ที่ชวนให้เราหยุดมองเสมอ และในฐานะของผู้ที่เรียนจบสังคมวิทยามา สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้แก่เราได้ไม่ต่างกัน คือความสามารถของมนุษย์ญี่ปุ่นในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมให้จุดประกายและเบ่งบานขึ้นใหม่อีกครั้งได้อย่างงดงามในสังคมสมัยใหม่นั่นเอง ✿
ในบทความนี้ จึงอยากจะชวนผู้อ่านทุกคนมาพิจารณาปรากฏการณ์แสนใกล้ตัว เริ่มต้นจากมังงะชื่อดังอย่างดาบพิฆาตอสูร ที่จะนำเราไปสู่โลกแห่งไพ่ดอกไม้ เกมการ์ดต้นกำเนิดบริษัทเกมส์ชื่อดัง และความสวยงามของการถ่ายทอดวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่นกันค่ะ
ต่างหูของทันจิโร่ – ประหลาดแต่ก็คุ้นตาจัง
กระแสความโด่งดังของดาบพิฆาตอสูรในญี่ปุ่นมาแรงเสียจนหันไปทางไหนก็คงเจอแต่ภาพโปสเตอร์และสินค้าต่าง ๆ มากมายวางจำหน่าย หรือตกแต่งอยู่ตามกระเป๋าของนักเรียนญี่ปุ่นเป็นแน่ จุดเด่นสำคัญนอกจากแพทเทิร์นเครื่องแต่งกายของตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งที่เด่นสะดุดตาอีกหนึ่งอย่างก็คือ “ต่างหู” หรือในภาษาญี่ปุ่นคือ mimikazari (耳飾り)ของตัวละครเอก ทันจิโร่ คามาโดะ ที่ผู้ใหญ่ญี่ปุ่นหลายคนคงคุ้นเคย หรือเด็ก ๆ ที่เคยดู Summer Wars คงร้อง อ๋อ~ เพราะมีหน้าตาคล้ายกับไพ่ดอกไม้ที่มีชื่อว่า “ฮานะฟุดะ” ใบที่ชื่อว่า susuki ni tsuki (ススキに月)นั่นเอง อ.โคโยฮารุอาจจะได้แรงบันดาลมาจากไพ่นี้ก็เป็นได้
รูปภาพ : https://kimetsu.com/comics
จุดกำเนิดของฮานะฟุดะ – เกมการ์ดที่ไม่ยอมจำนนและนินเทนโด
ย้อนเวลากลับไปในสมัยเมจิ (ค.ศ.1868 – 1912) ช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกกำลังไหลทะลักเข้ามาสู่ญี่ปุ่น ณ เวลานั้น การเล่นพนันจำพวกไพ่ทั้งหลายถูกสั่งห้ามและเป็นเรื่องผิดกฎหมาย กล่าวกันว่าในยุคสมัยนั้น ชาวญี่ปุ่นต่างก็สร้างสรรค์เกมไพ่ใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ก็ถูกสั่งห้ามครั้งแล้วครั้งเล่า จนเมื่อ ฟุซาจิโระ ยามาอุจิ (山内 房治郎) ได้คิดค้นชุดไพ่ 48 ใบ ที่นำเสนอภาพตัวแทนดอกไม้ประจำแต่ละเดือนของญี่ปุ่นขึ้นมา ทำให้ไพ่ได้รับความนิยมอย่างลับ ๆ จนกระทั่งญี่ปุ่นยกเลิกคำสั่งห้าม ฟุซาจิโระ ยามาอุจิ จึงได้ก่อตั้งร้านขายเกมการ์ดฮานะฟุดะ ขึ้นในปี ค.ศ.1889 (ปีเมจิที่ 22) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “นินเทนโด คอปปาอิ” (任天堂骨牌) และกลายเป็นจุดกำเนิดของบริษัทนินเทนโด (任天堂) บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน
ฮานะฟุดะ มาจากคำว่า “ฮานะ” (ดอกไม้) รวมกับ “ฟุดะ” (ไพ่) ประกอบด้วยไพ่จำนวน 48 ใบ แบ่งออกเป็น 12 กอง กองละ 4 ใบ โดยแต่ละกองมีภาพดอกไม้ (และต้นไม้) ที่ถูกใช้เป็นตัวแทนของเดือนทั้ง 12 เดือน ฮานะฟุดะ ได้รับอิทธิพลมาจากไพ่ของชาวโปรตุเกส ที่มีชื่อว่า ไพ่อุนซุน (天正かるた) ในสมัยอะซึจิ-โมโมยามะ (安土・桃山時代 ค.ศ.1568 – 1600)
ตัวแทนดอกไม้ (และต้นไม้) ทั้ง 12 เดือน ได้แก่
มกราคม : ต้นสน (松・まつ)
กุมภาพันธ์ : ดอกเหมย (梅・うめ)
มีนาคม : ดอกซากุระ (桜・さくら)
เมษายน : ดอกวิสทีเรีย (青藤・あおふじ)
พฤษภาคม : ดอกไอริส (菖蒲・あやめ)
มิถุนายน : ดอกโบตั๋น (牡丹・ぼたん)
กรกฎาคม : ดอกอาคาฮางิ (赤萩・あかはぎ)
สิงหาคม : หญ้าแพมพัส (ススキ)
กันยายน : ดอกเบญจมาศ (菊・きく)
ตุลาคม : ใบเมเปิ้ล (紅葉・もみじ)
พฤศจิกายน : ต้นหลิว (柳・やなぎ)
ธันวาคม : ดอกเพาว์โลเนีย (桐・きり)
รูปภาพ : https://iphoneac.com/summerwars2.html
วัฒนธรรมการทัศนา – การเบ่งบานของเมล็ดพันธุ์แห่งวัฒนธรรมญี่ปุ่น
วัฒนธรรมคือสิ่งที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกาลเวลา บางสิ่งก็ถูกหลงลืมหายไป บางอย่างก็ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ หยิบขึ้นมาเรียนรู้ และดำรงอยู่ข้ามกาลเวลาอย่างเป็นเอกลักษณ์ ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่มักจะมีกระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่แสนพิเศษ หนึ่งในนั้น คือการถ่ายถอดผ่านวัฒนธรรมการทัศนา หรือ วัฒนธรรมทางสายตา (Visual Culture) ที่เป็นทั้งการเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นภาพ และการสร้างวัฒนธรรมการอ่านมังงะและดูอนิเมะ
ประเทศญี่ปุ่นไม่มีข้อจำกัดในการดัดแปลงการนำเสนอวัฒนธรรมประเพณีของตน การใส่รายละเอียดทางวัฒนธรรมแม้เพียงเล็กน้อย เช่น ต่างหูของตัวละครเอก เพียงเท่านี้ก็สามารถจุดประกายความสนใจแก่เด็ก ๆ ซึ่งเกมที่เป็นที่นิยมที่สุดของฮานะฟุดะ คือ โค่ย โค่ย (こいこい)คุณแม่ท่านหนึ่งได้แชร์เรื่องราวผ่านทวิตเตอร์ให้ได้อ่านกันว่า “ตอนนี้ที่บ้านกำลังชอบเล่นฮานะฟุดะกันมาก ถึงจะมีคู่มือมาให้ด้วย แต่ให้คุณตาสอน เล่นเป็นเร็วกว่ามาก” พร้อมแฮชแท็ก #鬼滅の刃 #花札の耳飾り นอกจากเกมโค่ยโค่ยจะได้รับความสนใจใหม่อีกครั้ง ฮานะฟุดะก็ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นสิ่งใหม่ ๆ เช่น ต่างหู อีกด้วย
รูปภาพ : https://twitter.com/heiheima5126
รูปภาพ : https://booth.pm/ja/items/1994001
การดัดแปลงและการถ่ายทอดวัฒนธรรมของญี่ปุ่นแบบนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าหลงใหลมาก ๆ มองดูแล้วเหมือนเป็นการโรยเมล็ดพันธุ์แห่งอดีตไว้ รอวันที่จะเบ่งบานให้คนรุ่นหลังกลับมาชื่นชม นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมภายในประเทศแล้ว มังงะและอนิเมะยังเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศอีกด้วย ผู้ที่กำลังอ่านบทความนี้ก็กำลังนั่งอยู่ในกระแสนี้เหมือนกันนะ รู้ตัวหรือเปล่า? ตอนนี้ดอกไม้แห่งฮานะฟุดะได้เบ่งบานในใจของทุกคนหรือยังคะ อยากไปลองหามาเล่นกันบ้างรึเปล่า อิอิ
อ้างอิง
https://www.nintendo.co.jp/corporate/history/index.html
https://www.nintendo.co.jp/others/hanafuda_kabufuda/howtoplay/index.html
https://japanplayingcardmuseum.com/2-1-2-1-tenshocarta-figure-picture/
“Before our spring 10 จุดน่าไปยามเมื่อดอกไม้บาน” คลิก
“สดใส ปกป้องและอันตราย ดอกไม้แห่งโลกอนิเมะ” คลิก
“INSIDE A BOOK : ยามซากุระร่วงโรย” คลิก
“ซากุระและเบญจมาศ ดอกไม้อันเป็นที่รักของประชาชน” คลิก
“3 บทเพลงภาษาดอกไม้ บทเพลงภาษาญี่ปุ่นที่ว่าด้วยเรื่องซากุระ” คลิก