เหรียญ - ภัครดา บวรธีรภัค ผู้กำกับศิลป์อนิเมะทีวี Gunma-chan

“เหรียญ – ภัครดา บวรธีรภัค” ผู้กำกับศิลป์ อนิเมะทีวี “Gunma-chan” ซีซั่น 2

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา ทีวีอนิเมะเรื่องราวของเจ้าม้าสุดแสนน่ารัก มาสคอตประจำจังหวัดกุนมะอย่าง “กุนมะจัง” (ぐんまちゃん, Gunma-chan) ซีซั่น 2 ได้ฤกษ์ลงจอโทรทัศน์หลากหลายช่องของญี่ปุ่น อาทิ BS ฟูจิ, TOKYO MX, กุนมะทีวี และช่องอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อย

อนิเมะเล่าเรื่องชีวิตประจำวันแสนสนุกของกุนมะจังและผองเพื่อน ผ่านสถานที่ที่สวยงามและการแทรกวัฒนธรรมที่น่าสนใจของจังหวัดกุนมะไปในตัว ถือเป็นอนิเมะทีวีสำหรับเด็กที่ผู้ใหญ่อย่างเราก็ดูได้อย่างเพลิดเพลิน และที่สำคัญคือ ผู้กำกับศิลป์อนิเมะเรื่องนี้เป็นคนไทยด้วย! กุนมะจังจึงถือเป็นอนิเมะที่น่าสนใจมากขึ้นอีกขั้น

ครั้งนี้ ดาโกะเลยชวน คุณเหรียญ – ภัครดา บวรธีรภัค ผู้รับหน้าที่เป็น “ผู้กำกับศิลป์” กุนมะจัง ซีซั่น 2 มาร่วมพูดคุยกัน และเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่าเธอจะเป็นอีกคนที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในวงการอนิเมะญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน

"เหรียญ - ภัครดา บวรธีรภัค" ผู้กำกับศิลป์ อนิเมะทีวี "กุนมะจัง" (Gunma-chan) ซีซั่น 2


เริ่มต้นความฝันกับการเป็นแอนิเมเตอร์


- ในตอนที่รู้ตัวว่าความฝันของตนคือการเป็นแอนิเมเตอร์ เริ่มต้นความฝันกับการเป็นแอนิเมเตอร์อย่างไร

เราเติบโตมากับการดูการ์ตูนญี่ปุ่นผ่านช่อง 9 การ์ตูนเหมือนหลาย ๆ คน ตอนที่รู้ตัวว่าอยากทำงานเกี่ยวกับแอนิเมเตอร์ เลยลองหาข้อมูลว่าควรเรียนต่อด้านไหน แต่คณะที่มีเรียนแอนิเมชั่นในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นการเรียนสร้างแอนิเมชั่น 3D ซึ่งไม่ตรงกับความสนใจของเราที่สนใจแอนิเมชั่นแบบ 2D เราจึงเริ่มต้นด้วยการเรียนสายฟิล์มก่อน โดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT)

ก่อนจะเดินทางมาเรียนต่อที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกสั้น ๆ ว่า “เซ็มมง” (専門) โดยเข้าเรียนที่ Nihon Kogakuin ที่คามาตะ โตเกียว อีก 2 ปี ซึ่งระหว่างที่เรียนอยู่ก็มีโอกาสได้เรียนรู้งานหลาย ๆ สาย แล้วค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบงานแอนิเมเตอร์มากขนาดนั้น ชอบการลงสีและการใช้กราฟิกมากกว่า

ช่วงที่ต้องหางานก่อนเรียนจบจึงตัดสินใจที่จะเลือกทำงานด้านฉาก เราใช้เวลาในการหางานเกือบปี เริ่มต้นจากการดูอนิเมะว่าเรื่องไหนบ้างที่เราชื่นชอบงานฉากของเขา จดรายชื่อบริษัทที่วาด ที่ทำฉากเหล่านั้น แล้วหาข้อมูลเพิ่มเติม ส่งอีเมลสอบถามว่าบริษัทนั้น ๆ รับพนักงานต่างชาติหรือไม่ ก่อนจะส่ง Portfolio เข้าไป จนมีโอกาสได้เข้าสัมภาษณ์งานกับบริษัทผู้สร้างฉากประมาณ 2-3 ที่ และได้เข้าทำงานที่ Bihou, Inc. ในที่สุด

ตัวอย่างผลงานที่คุณเหรียญ – ภัครดา บวรธีรภัค มีส่วนร่วมในการวาดฉาก

- แน่นอนว่ากิตติศัพท์ของวงการแอนิเมเตอร์ญี่ปุ่นนั้นว่ากันว่าต้องทำงานหนักมาก ๆ 

วงการแอนิเมชั่นจะแบ่งออกเป็นหลากหลายสายงาน เช่น ตัดต่อ วาดฉาก วาดตัวละคร ฯลฯ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกเรียนสายแอนิเมเตอร์เพราะมีโอกาสในการเติบโตไกล สามารถเป็นผู้กำกับชื่อดังอย่าง มาโกโตะ ชินไค ได้ แต่งานตัดต่อหรือวาดฉากนั้น เติบโตสูงสุดก็คงจะเป็นตำแหน่งผู้กำกับตัดต่อหรือผู้กำกับศิลป์

และก่อนที่จะเริ่มเข้ามาทำงานสายนี้ เราเองก็ได้ยินคำข่มขู่มาแล้วมากมาย ทั้งงานที่หนักมากและเงินเดือนที่ค่อนข้างน้อย ซึ่งพอได้มาทำจริงก็พบว่า งานหนักมากจริง ๆ และ เงินเดือนก็ค่อนข้างน้อยจริง ๆ บางตำแหน่งเงินเดือนเริ่มต้นคือน้อยกว่าตำแหน่งอื่น ๆ ในสายงานเดียวกันอีกด้วย

งานวาดฉากเองเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะความเป็นครีเอเตอร์และความเป็นศิลปินประกอบกัน แต่ละบริษัทจะมีลายเส้นเป็นของตัวเองอยู่ ตอนที่เริ่มทำงานแรก ๆ เราเองก็ต้องต่อสู้กับตัวเองค่อนข้างหนัก ถามตัวเองอยู่ตลอดว่าจะพัฒนาไปได้ไกลขนาดไหน

ตัวเหรียญเองก็ไม่ได้เป็นคนที่เก่งมาก ช่วง 3 ปีแรกได้วาดเฉพาะฉากง่าย ๆ ไม่ต้องตีเปอร์สเปคทีฟเยอะ โดนติอยู่บ่อย ๆ เรื่องการเลือกใช้สี เช่น ทำไมสีท้องฟ้าสกปรกจัง ทำไมสีท้องฟ้า สีใบไม้ ไม่เหมือนท้องฟ้า ใบไม้ที่ญี่ปุ่นเลย ฯลฯ เพราะฉะนั้นนอกจากการพัฒนาทักษะการวาดแล้ว เราก็ต้องศึกษาข้อมูลลักษณะภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ต้องหาข้อมูลต้นไม้หรือพืชพันธุ์ในญี่ปุ่นเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานด้วยเช่นกัน

"กุนมะจัง" (ぐんまちゃん, Gunma-chan) ซีซั่น 2


โอกาสในการเป็น “ผู้กำกับศิลป์” ที่เข้ามาพร้อมกับเรื่อง Gunma-chan


- ช่วยเล่าความเป็นมาเป็นไปของการได้มาเป็นผู้กำกับศิลป์ อนิเมะทีวี กุนมะจัง ซีซั่น 2 หน่อย

สำหรับงานสายฉากนั้น การจะขึ้นเป็นผู้กำกับศิลป์ได้ต้องใช้ประสบการณ์และระยะเวลา โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลากว่า 5 ปีกว่าจะได้ขึ้นมารับหน้าที่นี้ ตอนช่วงปีแรกจนถึงปีที่ 5 เหรียญเองก็รับหน้าที่วาดฉากทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นฉากอนิเมะเรื่อง ดิจิมอน, เกะเกะเกะโนะคิทาโร่, โยไควอทช์ ฯลฯ เป็นช่วงที่บริษัทจะให้เราได้ลองช่วยงานและเรียนรู้งานหลาย ๆ แบบ

พอเข้าช่วงปีที่ 5 ช่วงที่เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ควรจะไปต่อกับสายอาชีพนี้ดีไหม?” เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้วาดเฉพาะฉากอนิเมะหรือการ์ตูนเด็ก ๆ ฉากง่าย ๆ ในขณะที่เพื่อนร่วมงานที่เข้ามาพร้อมกันได้วาดฉากยาก ๆ ฉากอลังการแล้ว พอเปรียบเทียบแบบนั้นเลยทำให้เรารู้สึกท้อและคิดที่จะเลิกทำอยู่เหมือนกัน

กุนมะจัง (Gunma-chan)

แต่ระหว่างนั้น งานเรื่องกุนมะจังก็เข้ามาที่บริษัทพอดี สำหรับเหรียญเองที่ชอบงานกราฟิก งานออกแบบเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เลยทำให้วาดฉากที่เป็นฉากในจินตนาการได้ดี และทางเจ้านายเห็นว่าเราทำส่วนนี้ได้ดี น่าจะเหมาะกับงานเรื่องกุนมะจังที่มีโอกาสได้ใช้กราฟิกในการออกแบบฉากเยอะ เราเลยมีโอกาสได้เข้ามาวาดฉากเรื่องกุนมะจัง (Gunma-chan) ซีซั่น 1 ตั้งแต่ตอนที่ 5 เป็นต้นมา

จากโอกาสครั้งนั้น เราเลยตัดสินใจทำงานสายนี้ต่อ โดยตอนที่รับช่วงงานนี้มา เราใช้วิธีอิงจากงานเดิมแล้วพัฒนาให้ดีขึ้น และพอทำไปเรื่อย ๆ เราเริ่มรู้สึกสนุกเลยใส่นู่นี่นั่นเพิ่มลงไป ก่อนที่จะมีการทำซีซั่น 2 ต่อในเวลาถัดมา

- มีความแตกต่างอย่างไรบ้างระหว่างการเป็น ทีมงานวาดฉาก กับการเป็น ผู้กำกับศิลป์

ตอนที่รับหน้าที่เป็นทีมงานวาดฉาก เราเองแทบไม่ต้องคิดมากเรื่องตารางเวลางาน เพราะช่วงที่เริ่มออนแอร์ ตารางในการทำงานนั้นจะทำกันแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เช่น สัปดาห์นี้เราวาดฉากตอนที่ 1 ส่งต่อไปทำเป็นแอนิเมชั่น สัปดาห์ต่อไปต้องวาดฉากตอนที่ 2 ระหว่างนั้นก็ต้องปรับแก้ฉากที่ 1 ที่ถูกสั่งแก้ไปด้วย จุดที่เราต้องโฟกัส คือ การวาดให้ตรงตามที่ผู้กำกับศิลป์บรีฟมา และส่งงานที่เราต้องรับผิดชอบให้ตรงตามกำหนดพอ

แต่พอได้มาเป็นผู้กำกับศิลป์ สิ่งแรกที่แตกต่างเลย คือ การเข้าประชุมกับคนญี่ปุ่นจากบริษัทอื่น ๆ ซึ่งตอนที่เราเข้ามารับหน้าที่นี้เป็นช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดหนัก ทำให้ต้องประชุมผ่านช่องทางออนไลน์แทน เลยต้องยิ่งพยายามให้มากขึ้น เพราะต้องฟังบรีฟให้เข้าใจ ต้องจดรายละเอียดนอกเหนือสตอรี่บอร์ดให้ครบ

ก่อนจะดูตารางงานทั้งหมดของซีซั่นนั้น แล้วนำมาจัดสรรตารางงานของทีมต่อ ต้องรับ-ส่งงาน ต้องแก้ไข ต้องบริหารจัดการหลาย ๆ ด้าน ทำให้ต้องใช้ทักษะในการบริหารจัดการ ทั้งการจัดการเรื่องเวลา เรื่องคน เรื่องการสื่อสารค่อนข้างมาก เพื่อให้ทีมมองเห็นงานในทิศทางเดียวกัน และทำงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนดนั่นเอง

และที่สำคัญคือ การเชื่อใจคนในทีม เพราะหากเราไม่เชื่อใจคนในทีม เราจะยังมีความรู้สึกว่าทีมฉันทำงานไม่ได้แน่ ทำเองดีกว่า ซึ่งก็จะส่งผลกระทบทั้งต่อเราเองที่ต้องทำงานหนักขึ้น และต่อทีมที่อาจจะไม่สามารถเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของพวกเขาได้เลย ตำแหน่งผู้กำกับศิลป์จึงยากว่าที่เราคิดไว้

"กุนมะจัง" (ぐんまちゃん, Gunma-chan) ซีซั่น 2

- ประสบการณ์ที่ได้จากการเป็นผู้กำกับศิลป์ ระหว่างการทำอนิเมะ กุนมะจัง ซีซั่น 2 

เหรียญเองถือได้ว่าเป็นผู้กำกับศิลป์คนไทยคนแรกในวงการนี้ ถึงจะเป็นอนิเมะที่ใช้ลายเส้นค่อนข้างง่าย แต่เราก็มีความภาคภูมิใจกับสิ่งที่เราได้ทำ เพราะถึงแม้จะดูง่าย แต่ที่จริงขั้นตอนในการสร้างสรรค์ให้ออกมาเป็นอนิเมะที่ดูได้ง่าย ๆ แบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เช่น ต้องวาดฉากให้มีข้อมูลไม่เยอะ ให้ไม่เด่นกว่าตัวละคร ซึ่งมันเป็นการทำงานให้ออกมาดูมินิมอล ทั้ง ๆ ที่รายละเอียดไม่มินิมอล ต้องกางทุกฉากออกมาดูทั้งหมด เพื่อดูความสมูทของงาน มีฉากไหนที่ดูล้นดูเยอะมากกว่าฉากอื่น ๆ ก็ต้องปรับแก้ และต้องเรียนรู้ดูงานอื่นเยอะ ๆ เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้ในงานเราด้วยเช่นกัน

หรืออย่างตอนที่ต้องรับผิดชอบวาดฉากคนเดียวทั้งตอนในตอนซีซั่น 1 ก็ต้องนึกถึงคนอื่นด้วยเหมือนกัน ว่าถ้าเราวาดต้นไม้แบบนี้ วาดใบไม้แบบนี้ คนที่มารับหน้าที่วาดฉากในตอนอื่น ๆ จะวาดแบบที่เราวาดได้ด้วยไหม ใช้สีเยอะไปรึเปล่า รายละเอียดยิบย่อยต่าง ๆ มากมายที่เราต้องใส่ใจ เพื่อให้งานที่ออกมาลงตัวมากที่สุด

แล้วพอซีซั่น 2 เราได้รับอิสระในการทำงานมากขึ้น มีโอกาสได้ใส่รายละเอียดบางอย่างลงไปในฉากมากขึ้น เช่น การเลือกใช้สีที่ทำให้ปราสาทในเรื่องดูขลัง ดูหรูมากขึ้น แล้วฉากนั้นได้รับคำชมจากผู้กำกับตอนนั้นด้วย ก็ทำให้เรารู้สึกภูมิใจมากนะ เพราะเป็นการได้รับคำชมจากผู้กำกับชาวญี่ปุ่น ซึ่งแสดงว่าผลงานที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นก็ดีไม่ใช่น้อย (หัวเราะ)

สิ่งนี้ต้องขอบคุณเจ้านายญี่ปุ่นที่เคยให้คำแนะนำเราไว้ว่า เวลาที่ทำงานกับผู้กำกับคนไหนก็ตาม นอกจากที่ต้องรู้ว่าเขาหรือเธอคนนั้นเป็นใครแล้ว ต้องศึกษาข้อมูล ลักษณะนิสัยของคนคนนั้นด้วย เพื่อที่เราจะสามารถสร้างสรรค์งานออกมาให้ตรงใจหรือสร้างความประทับใจในผลงานของเราได้มากขึ้น

และสำหรับทีมงานหลัก ๆ ที่ดูแลงานฉากเรื่อง กุนมะจัง ซีซั่น 2 มีทั้งหมด 3 คน คือ เหรียญ และน้อง ๆ ทีมงานที่อยู่ไทยอีก 2 คน หลายคนอาจจะมองว่าการทำงานกับคนไทยด้วยกันน่าจะทำให้การสื่อสารสะดวกหรือง่ายมากขึ้น แต่จริง ๆ ก็ยังมีปัญหาในการสื่อสารกันอยู่ อาจจะด้วยเพราะประสบการณ์และมุมมองแบบญี่ปุ่นกับไทยที่แตกต่างกัน ทำให้งานบางชิ้นต้องแก้กันหลายรอบ บางครั้งเราเลยใช้วิธีพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นไป เพื่อให้ล่ามฝั่งไทยแปลเป็นไทยแล้วอธิบายให้น้อง ๆ ฟังแทน เพราะคำญี่ปุ่นบางคำมันไม่มีคำภาษาไทยที่ใช้อธิบายคำนั้น ๆ ได้เข้าใจง่ายมากพอ

นอกจากนั้น เรื่องการนอนหรือพักผ่อนให้เพียงพอก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอ เหรียญคิดว่าเราจะไม่สามารถตัดสินใจอะไรดี ๆ ได้ จะวางแนวทางไปทางไหน จะให้น้องในทีมวาดอะไรดี ถ้าเราเบลอ เราก็จะไม่สามารถสั่งงานได้ดี เพราะฉะนั้นการพักผ่อนให้เพียงพอจึงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ


ความใฝ่ฝันสูงสุดในสายอาชีพนี้


- มีอนิเมะหรือแอนิเมชั่นแนวไหนที่ใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นนักวาดฉากหรือกำกับศิลป์เป็นพิเศษไหม

ตอนแรก ๆ เราชอบงานแบบ เรียลลิสติก (Realistic) แต่พอได้ทำงานมาเรื่อย ๆ และมีโอกาสได้มาทำเรื่องกุนมะจังเลยเริ่มรู้สึกว่าอยากทำงานที่มีการผสมผสานงานกราฟิกร่วมด้วย อย่างงานสไตล์อนิเมะเรื่อง Cyberpunk ที่ Bihou ดูแลอยู่ที่มีความญี่ปุ่นผสมตะวันตก อยากทำงานแนวนี้ แต่ถ้าพูดถึงเนื้อหาของอนิเมะ อยากทำแนวที่เกี่ยวกับชีวิต ดูแล้วรู้สึกว่าให้อะไรกับการใช้ชีวิตมากกว่าความสนุก

- แล้วความใฝ่ฝันสูงสุดในสายอาชีพนี้ล่ะ

สำหรับงานด้านผู้กำกับศิลป์ ถ้าเรามีโอกาสก็อยากจะทำต่อไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็พยายามพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้านเพิ่มเติม ทักษะการวาดอาจจะยังสู้เด็กญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะบางคนคือเริ่มเรียนการวาดอนิเมะโดยเฉพาะมาตั้งแต่ชั้นมัธยม เราก็ต้องมองหาทักษะด้านอื่น ๆ นำมาเสริมความแข็งแกร่งของเราเพิ่มเติม อย่างทักษะการ PR ผลงาน เป็นต้น แต่สักวันถ้ามีโอกาสก็อยากจะมีผลงานอนิเมะเป็นของตัวเอง อยากทำงานอนิเมะเรื่องยาวร่วมกับผู้กำกับที่เราไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นคนญี่ปุ่นหรือคนไทย อยากสร้างอนิเมะที่เป็นฝีมือคนไทยล้วน ๆ สักเรื่อง อยากให้อนิเมะและภาพยนตร์มาบรรจบกันตรงกลางได้ แบบที่ผู้กำกับภาพยนตร์ก็สามารถนำอนิเมะไปใช้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสรรค์งานได้เช่นกัน

-มีอะไรที่อยากบอกหรือแนะนำคนที่สนใจสายอาชีพนี้ไหม

ตั้งแต่ที่เหรียญเริ่มทำเพจ มีหลายคนที่ส่งข้อความมาบอกว่าเหรียญโชคดีจังที่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านี้ที่ญี่ปุ่น เขาเองไม่มีโอกาสแบบนี้ ไม่ว่าจะด้วยฐานะหรือเรื่องอื่น ๆ ซึ่งเหรียญมองว่าปัจจุบันนี้มันมีช่องทาง มีโอกาสมากขึ้น ถึงแม้มันจะยากลำบาก ถึงแม้คนรอบข้างจะบอกว่าความฝันที่เราฝันอยู่นั้นมันไม่มีทางเป็นจริงได้ก็ตาม แต่มันยังมีช่องทางอยู่นะ เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะทำจริง ๆ ก็ต้องอาศัยพลังกายพลังใจที่มากพอ ต้องเชื่อมั่นให้มากพอ เพื่อทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาให้ได้

แล้วพอทำความฝันให้เป็นจริงขึ้นมาได้แล้วนั้น ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความฝันในความเป็นจริงนั้นให้ได้เช่นกัน จะทำความฝันนั้นไปได้เรื่อย ๆ ยังไงโดยที่สุขภาพกายสุขภาพจิตไม่พัง เพราะการที่ตัดสินใจมาอยู่ในวงการแอนิเมเตอร์ญี่ปุ่นแล้ว บางครั้งเราแทบไม่มีโอกาสให้ตัวเองได้รู้สึก Burn Out รู้สึกหมดไฟ หรือรู้สึกไม่มีแรงได้เลย เพราะมันต้องทำงาน ต้องวาดอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักตัวเองให้มากพอ ต้องรู้ว่าจะทำยังไงให้ตัวเองสามารถคลายความเครียดลงได้ในวันนี้ แล้วพรุ่งนี้เช้าสามารถตื่นไปทำงานได้ต่อ ทักษะก็สำคัญ แต่สุขภาพจิตก็สำคัญเช่นกัน

เราเองก็เคยมีช่วงเวลาแบบนั้นที่กลับห้องมาร้องไห้ทุกวัน รู้สึกว่าก้าวช้ากว่าคนอื่น รู้สึกว่าคนอื่นเก่งกว่า ทักษะภาษาก็ไม่ดี ตอนที่ตัดสินใจมาเรียนหรือสมัครงานที่นี่ คนรอบตัวเราก็พูดกับเราเหมือนกันว่าทำอะไรเกินตัว เป็นช่วงที่ท้อเหมือนกัน แต่เราตัดสินใจที่จะเชื่อมั่นในตัวเอง ทำแล้วต้องทำให้สุด ต้องไปให้สุด ต้องไปต่อให้ได้

แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กดดันตัวเองมากเกินไป ปล่อยให้ตัวเองได้หยุดพักบ้าง เราเองไม่ใช่คนที่ฝึกวาดรูปทุกวัน เพราะเราเชื่อว่าการที่วาดไปเรื่อย ทั้งที่ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักเป้าหมายตัวเอง สุดท้ายแล้วเราก็จะวนอยู่ที่เดิม เพราะฉะนั้นพอมีเวลาว่างหลังเลิกงานเราก็จะวางงานลง เรื่องงานของวันพรุ่งนี้ก็ให้เราในวันพรุ่งนี้เป็นคนจัดการ 

"เหรียญ - ภัครดา บวรธีรภัค" ผู้กำกับศิลป์ อนิเมะทีวี "Gunma-chan" ซีซั่น 2

พยายามอยู่กับปัจจุบัน มองภาพกว้าง ๆ ในอนาคตได้ แต่ไม่กดดันตัวเองมากเกินไป เพราะถ้าเราได้พยายามกับทุกวันในปัจจุบันมากพอแล้ว ถึงอนาคตจะไม่ประสบความสำเร็จกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่อย่างน้อยเราก็จะไม่รู้สึกเสียใจที่ในอดีตเราไม่ได้ไม่พยายาม

อีกอย่างคือ เรารู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนอยากประสบความสำเร็จเร็ว ๆ ทุกคนพยายามแข่งขันกับเวลา ต้องอายุน้อยร้อยล้านให้ได้ ซึ่งเราเองก็เคยหลุดเข้าไปในกระแสนั้นเหมือนกัน พอไม่ทำงาน ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้พัฒนาตัวเอง แล้วรู้สึกไม่ Productive จนวันหนึ่งเราก็คิดได้ว่ามันไม่จำเป็นที่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้นี่นา 5-6 วันที่ผ่านมา เราก็พยายามทำงานอย่างเต็มที่มากพอแล้ว ถ้าวันหยุดหนึ่งวัน เราจะเอาไปใช้ดูหนังที่อยากดู จะไปกินอาหารที่อยากกิน ไปเดินเล่นในที่ที่อยากไป หรือจะนอนเฉย ๆ ทั้งวัน ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดกับตัวเอง

คนเราล้วนมีจังหวะชีวิตเป็นของตัวเอง ตอนที่เกิดมาก็ใช่ว่าทุกคนจะเริ่มพูดได้พร้อมกัน เดินได้พร้อมกัน เพราะฉะนั้นเรื่องความสำเร็จในชีวิตเราก็ไม่จำเป็นต้องไปกำหนดไว้ว่าจะต้องประสบความสำเร็จให้ได้ก่อนอายุ 30 ปี อะไรแบบนั้น ค่อย ๆ ใช้ชีวิตของตัวเอง ค่อย ๆ เดินไปตามจังหวะชีวิตที่ตัวเราเองสบายใจ แบบนั้นดีกว่า


อนิเมะที่ทำให้ได้รู้จัก ได้เรียนรู้ และได้อินกับการท่องเที่ยวจังหวัดกุนมะมากยิ่งขึ้น


-สุดท้ายนี้ พอมีโอกาสได้ทำมาอนิเมะเรื่อง “กุนมะจัง” (ぐんまちゃん, Gunma-chan) แล้ว คิดว่าเสน่ห์ของกุนมะจังคืออะไร

ต้องบอกตามตรงเลยว่าตอนแรกเหรียญเองก็ไม่รู้จักกุนมะจัง กุนมะจังคือตัวอะไร คือมาสคอตของจังหวัดไหน ไม่เคยรู้ข้อมูลเหล่านี้มาก่อน (หัวเราะ) ก่อนจะได้รับบรีฟมาว่ากุนมะจังคือมาสคอตประจำจังหวัดกุนมะ เราเลยศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมาสคอตตัวนี้ได้รับการปรับและพัฒนามาเรื่อย ๆ จนเป็นแบบทุกวันนี้ที่มีความกลม ๆ น่ารัก ซึ่งเรามองว่าเป็นเสน่ห์ของกุนมะจัง

แล้วยิ่งมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวที่จังหวัดกุนมะก็ยิ่งรู้สึกอินมากขึ้นไปอีก รู้สึกว่า “ดีจัง” ที่มีการทำอนิเมะเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแบบนี้ ซึ่งตอนที่ไปกุนมะก็รู้แค่ว่าเป็นจังหวัดที่มีออนเซ็น อยู่ใกล้โตเกียว เดินทางสะดวกสบาย รู้แค่นั้นเลย แต่พอได้ไปเที่ยวก็ทำให้เราได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกุนมะเยอะเลย เยอะจนตอนนี้เพจของเหรียญแทบจะกลายเป็นเพจท่องเที่ยวกุนมะไปแล้ว (หัวเราะ) 

จังหวัดกุนมะเป็นจังหวัดที่มีเมืองออนเซ็น มีลานสกีชื่อดัง มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเยอะ และอาหารก็อร่อย ที่เราไปมาอย่าง คุซัทสึ ออนเซ็น ก็ถือเป็นเมืองออนเซ็นเล็ก ๆ ที่มีความน่ารัก มีกิจกรรมมากมาย และมีของกินให้ได้ลองกินเยอะ ถือเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การพักผ่อนระยะสั้นมาก ๆ เพราะฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็อยากให้ทุกคนได้ดูอนิเมะทีวีเรื่องนี้ และมีโอกาสได้ลองไปเที่ยวจังหวัดกุนมะกัน

ติดตามคุณเหรียญ – ภัครดา บวรธีรภัค ได้ทาง
www.facebook.com/pakartwork

ติดตามความน่ารักของอนิเมะเรื่อง กุนมะจัง ซีซั่น 2 ได้ทาง
https://gunmachan-official.jp/animation


อ่าน “Kusatsu Onsen: ออนเซ็นชื่อดังของญี่ปุ่น!คลิก
Palcall Tsumagoi Resort by Active Lifeคลิก

views