แผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติที่เป็นเรื่องปกติของคนญี่ปุ่น
earthquake in japan
วันนี้ (11 มีนาคม) ถือเป็นวันครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 9.1 และเกิดสึนามิถล่มชายฝั่งภูมิภาคโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่นจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คน และหากย้อนไปยังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาซึ่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.3 นั้น ยังเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อนอีกด้วย
*รูปประกอบ : https://zeronum.wordpress.com
เมื่อดูสถิติแผ่นดินไหวตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในศตวรรษที่ 21 ญี่ปุ่นประสบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในระดับที่เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหลายต่อหลายครั้ง เช่น
ค.ศ.2004 ขนาด 6.9 ที่จังหวัดนีงาตะ
ค.ศ.2008 ขนาด 6.9 ที่จังหวัดอิวาเตะ
ค.ศ.2016 ขนาด 7.0 ที่จังหวัดคุมาโมโตะ
ค.ศ.2018 ขนาด 6.6 ที่จังหวัดฮอกไกโด
จะเห็นได้ว่าแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศญี่ปุ่น ที่คนญี่ปุ่นจะต้องประสบทุกปี ตั้งแต่แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่รู้สึกได้แต่ไม่สร้างความเสียหาย จนถึงแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก
–รูปประกอบ : earthquake.usgs.gov (ข้อมูลปี ค.ศ.2016)
ตามสถิติแล้ว จำนวนแผ่นดินไหวขนาดต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น มีค่าเฉลี่ยต่อปีดังนี้
5.0 – 5.9 เกิด 140 ครั้ง
6.0 – 6.9 เกิด 17 ครั้ง
7.0 – 7.9 เกิด 3 ครั้ง
8.0 ขึ้นไป เกิด 2 ครั้งต่อทศวรรษ
90% ของแผ่นดินไหวทั่วโลก เกิดขึ้นที่แนววงแหวนแห่งไฟ
คำถามคือ ทำไมญี่ปุ่นถึงเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยมาก ในขณะที่ประเทศไทยนั้นแทบไม่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเลย และนานครั้งที่จะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเทียบเท่าของญี่ปุ่น
สาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นประสบกับแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง เพราะที่ตั้งของประเทศอยู่บนแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลกถึง 4 แผ่น คือ
1. แผ่นอเมริกาเหนือ (North American Plate) ครอบคลุมตั้งแต่เกาะฮอกไกโด จนถึงตอนกลางของเกาะฮอนชู
2. แผ่นยูเรเชีย (Eurasian Plate) ครอบคลุมตั้งแต่ตอนกลางเกาะฮอนชู จนถึงเกาะคิวชู
3. แผ่นฟิลิปปินส์ (Philippines Plate) ครอบคลุมบริเวณทะเลทางใต้ของญี่ปุ่น
4. แผ่นแปซิฟิก (Pacific Plate) ครอบคลุมทะเลด้านตะวันออกของญี่ปุ่น
/รูปประกอบ : weathernews.jp
นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็ยังตั้งอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) หรือบริเวณรอยต่อเปลือกโลกรอบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ไล่ตั้งแต่นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อลาสกา ไปจนถึงชิลี ซึ่ง 90% ของแผ่นดินไหวทั่วโลก เกิดขึ้นที่แนววงแหวนแห่งไฟทั้งหมด
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบกับแผ่นดินไหวบ่อยครั้งและมีขนาดรุนแรง เพราะว่าแผ่นเปลือกโลกทั้ง 4 แผ่นของญี่ปุ่น เป็นแบบเคลื่อนที่เข้าหากัน (Convergent plate boundary) กล่าวคือ แผ่นเปลือกโลกส่วนมหาสมุทร (ฟิลิปปินส์ และแปซิฟิก) มุดตัวเข้าหาแผ่นทวีป (ยูเรเชีย และอเมริกาเหนือ)
จากรอยเลื่อนชนิดนี้ ทำให้แผ่นเปลือกโลกปะทะกันตลอดเวลา จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งกว่ารอยเลื่อนชนิดอื่น รวมถึงมีโอกาสเกิด Megathrust Earthquake หรือแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างความรุนแรงระดับ 8.0 ขึ้นไป และหากจุดเกิดแผ่นดินไหวอยู่ใต้มหาสมุทร ก็จะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่มชายฝั่งได้
*รูปประกอบ : www.thoughtco.com
ทำนายโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ล่วงหน้า 30 ปี และประกาศแจ้งทุก ๆ ปี
ถ้าดูรอยเลื่อนเปลือกโลกที่ส่งผลต่อประเทศญี่ปุ่นจะเป็นแนวรอยเลื่อนตลอดชายฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นจุดที่แผ่นแปซิฟิกกับฟิลิปปินส์มุดตัวเข้าหาแผ่นยูเรเชียกับอเมริกาเหนือ โดยมีรอยเลื่อนสำคัญ 3 แห่งดังนี้
1. รอยเลื่อนญี่ปุ่น (Japan Trench, 日本海溝) ตั้งอยู่ในแนวชายฝั่งตะวันออกของเกาะฮอนชู ตั้งแต่จังหวัดอิวาเตะจนถึงจังหวัดชิบะ เป็นรอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในปี ค.ศ.2011
2. รอยเลื่อนนันไค (Nankai Trough, 南海トラフ) ตั้งอยู่ตอนใต้ของเกาะฮอนชู ตั้งแต่จังหวัดชิซุโอกะจนถึงเกาะคิวชู มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่บอกถึงแผ่นดินไหวในบริเวณนี้ทุก ๆ ช่วง 100 ปี โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1946
3. รอยเลื่อนซากามิ (Sagami Trough, 相模トラフ) เป็นรอยเลื่อนที่อยู่ตอนใต้ของจังหวัดคานากาวะ โตเกียว และชิบะ เนื่องจากที่ตั้งของรอยเลื่อนอยู่ใกล้กับกรุงโตเกียวมาก หากเกิดแผ่นดินไหวตรงจุดนี้จะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ดังเช่นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คันโตในปี ค.ศ.1923 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 140,000 คน
นอกจากนี้ก็ยังมีรอยเลื่อนเล็ก ๆ อีกจำนวนมากทั่วญี่ปุ่น ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก – ขนาดกลางอยู่ประปราย
อย่างไรก็ตาม บริเวณชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น ตั้งแต่โตเกียว โยโกฮาม่า นาโกย่า โอซาก้า โกเบ และเซนได ทำให้เวลาที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จากรอยเลื่อนทั้ง 3 แห่งนี้ จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
จากความเสี่ยงนี้เอง ทำให้นักธรณีวิทยาทำนายโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีขนาดมากกว่า 7.0 หรือมากกว่า 6 ตามมาตราชินโดะ (Shindo, 震度) ในช่วง 30 ปีข้างหน้าตามภูมิภาคต่าง ๆ และจะประกาศทุก ๆ ปี เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าวได้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้
+รูปประกอบ : geo-front.co.jp (ข้อมูลปี ค.ศ.2018)
เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นสามารถเกิดภัยธรรมชาติได้ตลอดเวลา ทำให้มีการฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติทุกปีตามเมืองและชุมชนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด
ดังที่เห็นว่าเวลาเกิดข่าวแผ่นดินไหวในประเทศอื่น ๆ ที่ความรุนแรงใกล้เคียงกัน มักจะมีรายงานผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลายร้อยหลายพันคน แต่เมื่อเกิดที่ญี่ปุ่นตัวเลขผู้เสียชีวิตจะมีน้อยกว่าหรือไม่มีเลย เป็นเพราะคนญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอยู่เสมอ ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยกว่าประเทศอื่นนั่นเอง
earthquake in japan
อ้างอิง
www.jma.go.jp/jma/kishou/know/faq/faq7.html
www.jishin.go.jp/main/yogo/e.htm
www.thoughtco.com/convergent-plate-boundaries-3866818
“อย่ากลัวความพ่ายแพ้ เพราะความพ่ายแพ้ทำให้เราได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราขาดไป” คลิก
“ขอได้ไหม รอยเท้าของลูกสาวที่ตายไป” คลิก
“YOASOBI ศิลปินคู่ผู้สร้างโลกแห่งเสียงเพลงจากตัวหนังสือในนิยาย” คลิก