100日後に死ぬワニ การ์ตูนสี่ช่องที่สร้างกระแสจนติดเทรนด์อันดับ 1 บนโลกทวิตเตอร์
หลังจากปล่อยตอนจบไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา การ์ตูนสี่ช่อง ที่เขียนโดยยูกิ คิคุจิ (Yuuki Kikuchi) เรื่อง 100日後に死ぬワニหรือแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “จระเข้ที่จะตายในอีก 100 วัน” ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายบนโลกออนไลน์ เกี่ยวกับการประกาศการวางจำหน่ายสินค้ามากมาย รวมทั้งการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าแบบ Pop-up Shop ที่ LOFT สาขาชิบุยะ นาโกย่า และโอซาก้า ทันทีหลังจากการ์ตูนจบได้เพียง 2 ชั่วโมง ว่าบริษัทเอเจนซี่อย่างเดนท์สุ (Dentsu) มีส่วนร่วมด้วยกับการทำการตลาดในครั้งนี้
“จระเข้ที่จะตายในอีก 100 วัน” เป็นเรื่องราวของจระเข้ตัวหนึ่งที่ถูกถ่ายทอดเรื่องราวผ่านทวิตเตอร์ และเปิดเรื่องโดยการบอกว่าจระเข้ตัวนี้จะตายในอีก 100 วัน เรื่องราวถูกโพสท์วันละ 1 ตอน จำนวน 100 ตอน โดยนับถอยหลังเรื่อยๆ ในแต่ละวัน
ทำไมถึงมีประเด็นดราม่า?!
หลังจากการทวิตแจ้งข่าวว่าจะมีสินค้าคาแรคเตอร์วางจำหน่าย หลายคนบนโลกทวิตเตอร์คนตีความว่าบริษัทเดนท์สุมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำตลาดในครั้งนี้ บ้างก็ว่าสินค้าที่วางจำหน่ายจดทะเบียนภายใต้บริษัท Baysica Inc. ซึ่งเป็นบริษัทลูกขอเดนท์สุ บ้างก็ว่าโปรดิวเซอร์ของเดนท์สุมีส่วนในการตั้งชื่อการ์ตูนเรื่องนี้
บ้างก็ว่าพวกเขาอิงจากเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเกิดขึ้น อย่างกรณี Frozen 2 ที่มีนักวาดการ์ตูนหลายๆ คนวาดเกี่ยวกับ Frozen 2 และโพสท์ผ่านแอคเคาน์ของพวกเขาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก่อนที่สุดท้ายแล้วจะมีชาวทวิตฯ จับได้ว่าเป็นการทำการตลาดแบบแอบแฝง (Stealth Marketing) โดยการว่าจ้างจากเดนท์สุ ให้ทำการวาดเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าว ก่อนที่ Walt Disney ประเทศญี่ปุ่นจะออกมาทวิตขอโทษกับเหตุการณ์ดังกล่าวในช่วงเวลาต่อมา
และอีกเหตุผลคือเมื่อปีค.ศ.2018 เดนท์สุได้มีการตั้งองค์กร Dentsu Japanimation Studio (DJS) ที่คอยดูแลการสร้างภาพลักษณ์และการตลาดให้กับบริษัทผู้ผลิตแอนิเมชั่นในประเทศญี่ปุ่นขึ้นมา หลายคนจึงคาดการณ์ว่าผลงานการ์ตูนสี่ช่องเรื่องนี้ ก็น่าจะดูแลโดยเดนท์สุด้วยเช่นกัน
แล้วการที่เดนท์สุมาเกี่ยวข้องนั้น ทำไมชาวทวิตฯจะต้องดราม่าด้วย?
ที่ดราม่ากัน ก็น่าจะมาจากการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื้อฉาวที่ทำให้เดนท์สุ กลายเป็นบริษัทที่ติดอยู่ในลิสท์รายชื่อ Black Company (อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Black Company ต่อ: คลิก) นั่นคือการบีบให้ทำงานล่วงเวลา และการข่มเหงรังแกในที่ทำงาน (Power Harassment) จนทำให้พนักงานฝ่ายดูแลโฆษณาออนไลน์ของบริษัทเดนท์สุกระโดดตึกฆ่าตัวตายนั่นเอง
เมื่อมีการเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว จึงทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ว่าบริษัทอย่างเดนท์สุ ทำไมกล้าทำอะไรอย่างการ์ตูนเกี่ยวกับความสำคัญของการมีชีวิตอยู่แบบนี้ด้วยเหรอ ในเมื่อเป็นบริษัทที่มีพนักงานเคยฆ่าตัวตายเพราะงานหนัก ฯลฯ ความคิดเห็นต่างๆ นานาเหล่านี้โหมหนักบนโลกทวิตเตอร์จนทำให้หน้าไทม์ไลน์ของชาวทวิตฯที่ญี่ปุ่นหลายๆ คนลุกเป็นไฟกันเลยทีเดียว
แล้วเดนท์สุเกี่ยวข้องด้วยจริงหรือ?
หลังจากกระแสดราม่าได้เริ่มต้นขึ้น ยังไม่มีใครที่สามารถชี้แจงรายละเอียดที่แน่ชัดได้ ในส่วนของคุณยูกิ คิคุจิ ในวันที่ 22 มีนาคม เขาได้ทวิตขอบคุณผู้ติดตามที่ให้ความสนใจในการ์ตูนของเขา “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้วาดในสิ่งที่ผมอยากจะวาด และผมจะสร้างสรรค์ผลงานต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นหากคุณสนใจ โปรดติดตามด้วยนะครับ”
พร้อมทั้งได้ทวิตอีกว่า “อีกครั้ง ผมเริ่มต้นวาดการ์ตูนเรื่องนี้ด้วยตัวของผมเอง…” ซึ่งข้อความเหล่านี้อาจจะมีนัยยะเพื่อสื่อว่าเขาสร้างสรรค์ผลงานนี้ขึ้นมาด้วยตัวของเขาเอง และบริษัทเดนท์สุไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรืออาจจะไม่มีนัยยะสำคัญอะไรแฝงไว้เลยก็ได้เช่นกัน
เว็บไซต์ DIAMOND online ได้เขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้ถึง “3 เหตุผลว่าทำไม การ์ตูนเรื่อง จระเข้ที่จะตายในอีก 100 วัน จึงไม่น่าจะเป็นโปรเจ็คของทางเดนท์สุ” โดยทางเว็บไซต์ได้เขียนอธิบายเหตุผล 3 ข้อ ดังนี้
1) เจ้าจระเข้ เริ่มต้นจากการให้อ่านฟรี
การ์ตูนเรื่องนี้เริ่มตอนแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2019 หากเป็นโปรเจ็คที่หวังทำการตลาดตั้งแต่เริ่มต้นนั้น การให้อ่านได้ฟรีทั้งหมดจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น การทำการตลาดแบบ ฟรีเมียม (Freemium -フリーミアム) มักจะเป็นในลักษณะเช่น เกมที่สามารถเล่นได้ฟรี แต่ถ้าอยากได้ไอเท็มที่มีพลัง จะต้องเสียเงินซื้อ หรือในกรณีของมังงะ ก็เช่นกัน จะเป็นในลักษณะ อ่านตอนแรกได้ฟรี แต่ตอนต่อไปต้องเสียเงินอ่าน เป็นต้น
ถึงในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2020 จะมีการประกาศทางทวิตเตอร์เรื่องจำหน่ายสติ๊กเกอร์ไลน์ก็เถอะ แต่เขาจำหน่ายภายใต้ชื่อของเขาเอง และเขาทำสติ๊กเกอร์ไลน์จำหน่ายมาก่อนหน้านี้แล้วกว่า 28 ผลงาน
ส่วนประเด็นเรื่องเครื่องหมายการค้าที่เขาได้จดไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2020 ร่วมกับบริษัท Baysica Inc. ผู้จัดจำหน่ายสินค้า ที่ถือว่าเป็นบริษัทในเครือของเดนท์สุนั้น ถ้าเดนท์สุมีส่วนเกี่ยวข้องจริง ก็น่าสงสัยว่าทำไมสติ๊กเกอร์ไลน์จึงจำหน่ายภายใต้ชื่อผู้วาดเอง และการจดเครื่องหมายการค้านั้น ทำไมจึงเกิดขึ้นระหว่างการโพสท์การ์ตูนผ่านทางทวิตเตอร์
2) มีหลักฐานที่ทำให้ดูเหมือนว่าเดนท์สุไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง
การทำงานของบริษัทเอเจนซี่ที่มีช่องทางประชาสัมพันธ์ในมือครบทุกช่องทางอย่างเดนท์สุนั้น การทำการประชาสัมพันธ์มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันเป็นลำดับในทุกๆ ช่องทาง คือ การเริ่มต้นด้วยการเปิดตัวมังงะ หลังจากนั้นทำเป็นการ์ตูนอะนิเมะ พร้อมกับการขายสินค้าผ่านทางโทรทัศน์ไปพร้อมๆ กัน แล้วสุดท้ายก็ปล่อยเป็นภาพยนตร์ แต่แปลกที่การ์ตูนเรื่องนี้ไม่มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโทรทัศน์เลยด้วยซ้ำ
แถมลำดับการประชาสัมพันธ์ยังไม่ได้เป็นไปตามลำดับที่ควรจะเป็น การ์ตูนเรื่องนี้ เริ่มจากประกาศเรื่องสินค้า ก่อนจะเริ่มประกาศว่าจะถูกตีพิมพ์เป็นมังงะด้วยซ้ำ
3) การสร้าง “อคติไม่พึงประสงค์” (Unfavorable Bias)
มีการใช้คำศัพท์ “อคติไม่พึงประสงค์” (Unfavorable Bias) บนโลกออนไลน์ เพื่ออธิบายถึงลักษณะที่ผู้ใช้งานคิดว่าข้อมูลทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นของฟรี การพัฒนาข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นธุรกิจ โดยไม่มีการเว้นระยะจึงสามารถสร้างอคติต่อธุรกิจนั้นๆ ได้
การประกาศเรื่องจำหน่ายสินค้าหลังจากจระเข้ตายได้เพียง 2 ชั่วโมงนั้น จึงเหมือนเป็นการทรยศคนอ่านที่กำลังคิดถึงเรื่องการตายของจระเข้อยู่ การสร้างอคติในลักษณะนี้จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้หากเดนท์สุเป็นผู้ดูแล
จากเหตุผลทั้ง 3 ข้อ จึงเป็นไปได้ว่าเดนท์สุไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ์ตูนสี่ช่องเรื่องนี้
แต่ไม่ว่าเดนท์สุจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ การสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ผู้คนสามารถสนุกไปกับเรื่องราวที่นำเสนอได้แบบฟรีๆ ตั้งแต่ต้นจนจบนั้น เราคงตอบขอบคุณนักวาดอย่างคุณยูกิ คิคุจิ ที่ได้แบ่งปันเรื่องราวของคุณจระเข้ให้ผู้อ่านอย่างเราได้ร่วมรู้สึกและร่วมลุ้นไปพร้อมๆ กันตลอด 100 วันที่ผ่านมา
ในส่วนของเรื่องการต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ ทั้งในเชิงของการทำสินค้าจำหน่าย การตีพิมพ์เป็นมังงะ เรามองว่าเป็นสิทธิของผู้วาดที่จะต่อยอดผลงานของเขาเพื่อให้เกิดเป็นรายได้ อาจจะผิดจังหวะในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ไปสักหน่อย แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นสิทธิของคนที่พึงพอใจจะซื้อหรือไม่ซื้ออยู่ดี
ติดตามผลงานเรื่อง “จระเข้ที่จะตายในอีก 100 วัน” หรือติดตามผลงานของคิคุจิซังได้ทาง
Website / Twitter / Official Twitter / Facebook / Instagram / Youtube
แหล่งที่มาของข้อมูล
1. https://diamond.jp
2. https://note.com
3. https://mimicjapan.blogspot.com
เรื่อง: ทัศวีร์ เจริญบุรีรัตน์