กับหนังสือ “ผม แมว และการเดินทางของเรา (旅猫リポー)


The Travelling Cat Chronicles”


หลายคนอาจจะเคยเห็นข้อมูลภาพยนตร์ และหนังสือชื่อเดียวกันเนี้มาบ้างแล้ว โดยเนื้อเรื่องว่าด้วยการเดินทางของสองชีวิต ระหว่างซาโตรุ ตัวละครหลักในเล่ม และแมวชื่อนานะ พากันออกเดินทางผ่านสถานที่ต่างๆ  พร้อมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวัฒนธรรม รวมทั้งอาหารของชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีความน่าสนใจและแฝงไว้ด้วยข้อคิดมากมาย บางทีการได้ออกเดินทางไปกับเรื่องราวในหนังสือ อาจจะเพิ่มอรรถรสในการดูภาพยนตร์ได้เหมือนกันนะ

旅猫リポー

ข้อมูลหนังสือและภาพยนตร์
สร้างจากผลงานต้นฉบับนิยายชื่อ The Travelling Cat Chronicle ของ คุณฮิโระ อาริคาว่า นักเขียนชื่อดัง  กับเรื่องราวสุดซึ้ง ที่จะมาทำให้หลายๆ คน รวมไปถึงคนรักแมวอบอุ่นหัวใจ ปัจจุบันนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 16 ภาษาแล้ว และในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ได้แมวอัจฉริยะอย่างนานะมาร่วมแสดง อีกทั้งยังได้ คุณฮิโระ เจ้าของนิยาย มาร่วมเขียนเรื่องราวการเดินทางของนานะ และซาโตรุในแต่ละวันอีกด้วย
ในส่วนของภาพยนตร์นั้น มีนักแสดงนำคือ  ฟุคุชิ  โซตะ นักแสดงที่เล่นได้อย่างสมบทบาท ไม่ว่าได้รับบทในละคร หรือภาพยนตร์เรื่องใด เขาก็ทำออกมาได้ดีทุกครั้ง โดยครั้งนี้เขามารับบท ‘ซาโตรุ’ หนุ่มผู้รักสัตว์ซึ่งมีจิตใจอ่อนโยน นอกจากนี้ยังมีตัวละครหลักอย่างเจ้าแมวแมว ‘นานะ’ เอง ก็เคยแสดงในภาพยนตร์เกี่ยวกับแมวมาก่อนหน้านี้แล้ว  ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้จะมาพูดถึงสายใยลึกซึ้งของคนกับแมว โดยผ่านตัวละครซาโตรุกับนานะ ที่จะมาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสนิทสนม และคุณจะนึกถึงใครบางคนที่สำคัญต่อคุณอย่างแน่นอน



ออกเดินทางไปพร้อมกับตัวละคร

 

1. วัดคินคะคุจิ
ออกเดินทางไปกับตัวละครที่แรกคือที่วัดทอง ตั้งอยู่ในจ.เกียวโต เนื่องจากที่วัดนี้จะมีอาคารหลักเป็นสีทองเกือบทั้งหลัง ตั้งโดดเด่นอยู่กลางน้ำทำให้เกิดเป็นเงาสะท้อนกับผืนน้ำจนเกิดเป็นภาพที่สวยงาม กลายเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองเกียวโต ในหนังสือได้ถูกบรรยายว่าเป็นวัดที่เปล่งประกายโดดเด่นแตกต่างจากวัดทั่วไปที่เคยเห็น และเป็นสถานที่ที่ซาโตรุกับโคสุเกะ เพื่อนสมัยประถมศึกษา ไปทัศนศึกษากัน


2.ซัปโปโร
การเดินทางของตัวละคร ที่ต้องนั่งเรือข้ามฟากไปยังเกาะฮอกไกโด ระหว่างทางได้พบกับม้า กวาง ผลโรแวนสีแดงก่ำ ต้นหญ้าซุซุกิ และดอกเซทากะอาวาดาจิโซสีเหลือง กับดอกเบญจมาศป่าสีม่วงมากมาย และหิมะซึ่งตกปกคลุมพื้นที่อย่างหนักในช่วงฤดูหนาว ไม่เหมือนในโตเกียวที่ไม่กี่วันก็ละลาย

3.โคคุระ 
เป็นเมืองหนึ่งในคิตะคิวชู ตามชื่อคิตะคิวชูตั้งอยู่ทางเหนือสุดของภูมิภาคคิวชู จ.ฟุกุโอกะ นั่นเอง ในเรื่องบรรยายว่าเป็นเมืองที่ซาโตรุ เอาแมวตัวก่อนไปฝากไว้กับญาติที่เมืองนี้ ตอนที่ซาโตรุกับเพื่อนมัธยมต้นไปทัศนศึกษากันที่ฟุกุโอกะ



4. เทนจิน
เทนจินเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ ในเมืองฮากาตะ จ.ฟุกุโอกะ มีบริษัท อาคารสำนักงาน รวมทั้งร้านค้าต่างๆ มากมาย ทั้งยังเป็นย่านช้อปปิ้งสำคัญ เพราะมีร้านค้าแฟชั่น ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าแบรนด์เนมต่างๆ  สถานที่นี้ถูกพูดถึงในนิยาย เพราะเพื่อนของซาโตรุอ้างว่าอยากจะไปกินนากาฮามะราเมนที่ย่านเทนจิน


อิ่มท้องด้วยเมนูขึ้นชื่อ

 

1.เยื่อแมนเทิลของหอยเชลล์  

คือเยื่อที่ปกคลุมตัวสัตว์จำพวกหอย หรือหมึกชนิดต่างๆ ในที่นี้ คือเยื่อแมนเทิลในหอยเชลล์ที่คนญี่ปุ่นนิยมนำมากินกัน

2.นากาฮามะราเมน
ราเมนชื่อดังของคิวชู ที่มีเอกลักษณ์คือเส้นหมี่เส้นเล็กที่ถูกต้มจนเหนียวนุ่ม ในเรื่องระบุว่าเป็นราเมนแถวย่านเทนจิน ซึ่งเป็นย่านช็อปปิ้งสำคัญของจ.ฟุกุโอกะ

3.มากุโร่
คือปลาทูน่าตัวใหญ่ ขนาดตัวเต็มที่จะมีน้ำหนักกว่า 200 กิโลกรัมขึ้นไป คนญี่ปุ่นนิยมนำมากินในรูปแบบปลาดิบมากที่สุด ขณะที่ส่วนท้องของเนื้อมากุโร่ เรียกว่า โทโร่ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ โอโทโร่ และ ชูโทโร่ เป็นที่นิยมมากเช่นกัน

4.ซุปโมจิ / อาหารชุดโอเซจิ
ชาวญี่ปุ่นนิยมกินซุปโมจิกันในวันขึ้นปีใหม่ ในเรื่องบรรยายไว้ว่าสูตรของคุณน้าซาโตรุนั้นจะใส่มันภูเขา ถั่วหวาน และแครอท คนญี่ปุ่นนิยมกินซุปนี้พร้อมกับอาหารชุดโอเซจิในวันขึ้นปีใหม่


วัฒนธรรมสไตล์ญี่ปุ่นในเรื่อง

 

1.คัปปะ
สัตว์ในจินตนาการของญี่ปุ่น มักปรากฏตัวในนิทานปรัมปรา มีลักษณะเหมือนคนผสมกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มองผิวเผินแล้วเหมือนกบ ด้านหลังมีกระดองเหมือนเต่า ส่วนกลางศีรษะมีจานแบนราบ นิสัยซุกซน ชอบแกล้งดึงสัตว์อื่นลงไปในน้ำ ซึ่งในเรื่องซาโตรุว่ายน้ำเก่ง ชอบดำลงไปในน้ำ แล้วโผล่ขึ้นมาหยอกล้อนักเรียนคนอื่น จนถูกเรียกว่าคัปปะไปโดยปริยาย

2.ตุ๊กตาไม้โคเคชิ
สำหรับโคเคชิ หรือตุ๊กตาไม้โบราณที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปลายสมัยเอโดะนี้ มีลักษณะลำตัวเป็นทรงกระบอก ไร้แขนขา และมีหัวกลมโต ต่อมามีความเชื่อเกี่ยวกับตุ๊กตาโคเคชิว่า สามารถช่วยอำนวยพรให้เด็กๆ สุขภาพแข็งแรง ทั้งยังเป็นเครื่องราง ช่วยปกป้องบ้านจากไฟไหม้ ใช้ขับไล่ภูตผี และช่วยบันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ ชาวญี่ปุ่นจึงนิยมซื้อโคเคชิเป็นของขวัญ เพื่อใช้สื่อถึงมิตรภาพระหว่างผู้ให้กับผู้รับนั่นเอง ในเรื่องมีการซื้อกระดาษซับมันที่มีรูปตุ๊กตาไม้โคเคชิมอบให้กัน

3.แมวกวัก
แมวกวักถือเป็นสัตว์นำโชคของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในเรื่องโคสุเกะกับซาโตรุหาซื้อของฝาก  ขณะไปทัศนศึกษา โดยหนึ่งในของฝากให้พ่อ คือพวงกุญแจแมวกวักแบกธง ซึ่งมีข้อความในธงหลายแบบให้เลือกซื้อ ทั้ง “การค้ารุ่งเรือง” “สุขภาพแข็งแรง” “เดินทางปลอดภัย” และ “ความสงบสุขในครอบครัว”



4. เกมโอเทลโล่
คือหมากกระดานชนิดหนึ่ง เวลาเล่นใช้ตัวหมากสีขาวและดำมีลักษณะคล้ายหมากล้อม ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกราวปี ค.ศ. 1880 ต่อมาราวปี ค.ศ. 1970 โกโร่ ฮาเซกาว่า ชาวญี่ปุ่นมีการปรับเปลี่ยนกฎกติกาใหม่ และตั้งชื่อเป็น “โอเทลโล่” ตามชื่อละครจากบทประพันธ์ของ วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ ซึ่งในเรื่อง เจ้าแมวนานะขู่ว่า ถ้าอีกฝ่ายเข้ามาจะข่วนหน้าทั้งแนวนอนและแนวตั้งให้เป็นตารางจนเล่นโอเทลโล่ได้เลย


The Travelling Cat Chronicles   ผมแมวและการเดินทางของเรา
ในเวอร์ชั่นของนักอ่าน สามารถหาซื้อได้ใน้รานหนังสือทั่วประเทศ เขียนโดย ฮิโระ อาริคาว่า  / แปลโดย ปิยะวรรณ  ทรัพย์สำรวม / จำนวนหน้า 360 หน้า / ราคา 379 บาท /  สำนักพิมพ์ Maxx Publishing ส่วนเวอร์ชั่นภาพยนตร์ เข้าฉายจริงในวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาในโรงภาพยนตร์

views