ลองย้อนเวลากลับไปค้นข้อมูลเก่าๆ ก็พบว่าที่จริงแล้วคนญี่ปุ่นเองก็กินขนมปังกันมาช้านาน โดยเริ่มจากขนมปังแสนธรรมดาไม่มีรสชาติพิเศษอะไร แต่รู้ว่าอิ่มท้องและพกพาสะดวก จวบจนทุกวันนี้ขนมปังสไตล์ญี่ปุ่นก็มีการคิดค้นสูตรเฉพาะของตนเองขึ้น จนเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันทั่วโลก แถมยังขึ้นชื่อในเรื่องความอร่อยอีกด้วย ในขณะเดียวกันปัจจุบันขนมปังก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ไปซะแล้ว อาจส่งผลมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยน การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้การกินข้าวตามแบบี่ปุ่นเป็นเรื่องเสียเวลามากเกินไป ขนมปังจึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ช่วยให้อิ่มท้องและประหยัดเวลาได้อีกทางหนึ่ง
แล้วขนมปังเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคไหนล่ะ?
ยุคอะซึจิ โมะโมะยะมะ (ค.ศ.1573-1603)
ประเทศญี่ปุ่นเริ่มรู้จักวิทยาการและวัฒนธรรมต่างๆ ของทางตะวันตกผ่านทางชาวโปรตุเกสที่ได้ขึ้นฝั่งบนเกาะทะเนะงะ แคว้นซาสึมะ จากนั้นไม่นานขนมปังก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายไปพร้อมๆ กับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์โดยมิชชันนารี เพราะมีบันทึกไว้ว่า โอดะโนบุนางะ ไดเมียวยุคนั้น ผู้เปิดใจรับเอาวิทยาการจากยุโรปอย่างปืนคาบศิลามาใช้ในกองทัพเป็นคนแรกๆ ท่านนิยมทาน “Biscotti” (ขนมปังแข็งชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายบิสกิต) จวบจนปี ค.ศ.1587 ญี่ปุ่นได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายการปิดประเทศ และทำการขับไล่มิชชันนารีออกนอกประเทศทั้งหมด ทำให้ขนมปังหายไปจากญี่ปุ่นนับแต่นั้นมา
ยุคเอโดะ (ค.ศ.1603-1868)
ขนมปังกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ภายหลังจากเหตุสงครามฝิ่นที่ปะทุขึ้นในปี ค.ศ.1840 เมื่อกองทัพอังกฤษได้ทำสงครามชนะราชวงศ์ชิงของจีน และกลัวว่าอังกฤษอาจจะรุกรานญี่ปุ่นด้วย จึงมอบหมายให้เองาวะทาโรซาเอมอน เป็นผู้วางแผนป้องกันการรุกรานจากอังกฤษ เขาจึงเสริมสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง และมีความคิดที่ว่าการพกขนมปังไปเป็นเสบียง สะดวกกว่าหุงข้าว จึงสั่งให้ผลิตอาหารที่ทำจากขนมปังเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่คนญี่ปุ่นได้ทำขนมปังสำหรับคนญี่ปุ่นจริงๆ ซึ่งต่อมาไม่นาน นโยบายปิดประเทศได้ถูกยกเลิกไป กลิ่นขนมปังจึงกลับมาหอมหวนในญี่ปุ่นอีกครั้ง
ยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912)
ในสมัยเมจิเป็นช่วงเวลาที่วัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมการทานขนมปังเริ่มหยั่งรากลึกลงไปในวิถีชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น และเป็นจุดกำเนิดของร้าน “Kimura” สาขาแรกที่กินซ่าและถือเป็นร้านเบเกอรี่ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยร้านนี้เป็นต้นกำเนิดของอันปัง ซึ่งทางร้านได้นำเอาเทคนิคการหมักเหล้าสาเกมาใช้ในการหมักยีสต์ รสชาติจึงออกมาถูกลิ้นชาวญี่ปุ่นอย่างมาก อีกทั้งอาหารสไตล์ตะวันตกอย่างนมและขนมปังเป็นเมนูที่มีคุณค่าทางอาหารสูง อันปังจึงเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศญี่ปุ่น
ยุคไทโช (ค.ศ.1912-1926)
สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เริ่มขึ้นในปีไทโชที่ 3 ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งญี่ปุ่นได้รับเอาวิธีทำและการอบขนมปังมาจากเชลยชาวเยอรมันที่จับกุมตัวมาได้ หลังจบสงครามก็เริ่มมีการเพาะเลี้ยงยีสต์และการผลิตขนมปังแบบอุตสาหกรรมขึ้น การกินขนมปังจึงเป็นที่แพร่หลายกับคนญี่ปุ่น แต่ทว่าผลกระทบจากการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำให้ญี่ปุ่นเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารและวัตถุดิบ เรียกได้ว่าเป็นยุคมืดมนสำหรับทั้งคนญี่ปุ่นและขนมปังเลยทีเดียว
ยุคโชวะ (ค.ศ.1926-1989)
ทันทีที่สิ้นสุดสงคราม ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก แต่ก็ยังได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกา ซึ่งได้ส่งสิ่งของจำเป็นจำนวนมาก รวมถึงข้าวสาลี ญี่ปุ่นจึงยังสามารถอบขนมปังได้ หลังจากนั้นวิถีชีวิตและการทานขนมปังแบบชาวตะวันตกจึงได้แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นตลอดมา จวบจนปัจจุบันญี่ปุ่นมีชนิดของขนมปัง และเทคนิคในการอบขนมปังเป็นอันดับ 1 ของโลก และขนมปังก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นไปเสียแล้ว
3 ขนมปังที่บ่งบอกความเป็นญี่ปุ่น
あんパン อันปัง
อันปังเกิดขึ้นสมัยเมจิที่ 2 ถูกคิดค้นโดย คิมูระ ยาสุเบะ เจ้าของร้านคิมูระ กรุงโตเกียว โดยในสมัยนั้นจะเรียกว่าซากุระอันปัง เป็นขนมปังไส้ถั่วแดงที่ตกแต่งด้วยดอกซากุระหมักเกลือ ใช้สำหรับถวายให้แด่สมเด็จพระจักรพรรดิ นอกจากขนมปังหวานอย่างอันปังแล้ว ก็ยังมีขนมปังหวานชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกอย่างต่อเนื่อง เช่น ครีมปัง (คิดค้นขึ้นโดยนายโซมะเจ้าของร้านนากามูระ ที่ชินจูกุ ในสมัยเมจิที่ 3) และแยมปัง (คิดค้นขึ้นโดยนายกิชิโระ ผู้สืบทอดเจ้าของกิจการของร้านคิมูระลำดับที่สาม ในสมัยเมจิที่ 3) เป็นต้น
メロンパンเมล่อนปัง
เมล่อนปัง คือ ขนมปังอบที่ทำเป็นรูปทรงกลมมีลวดลายด้านบนเป็นตาราง โดยที่ด้านบนของขนมปังทำจากแป้งคุกกี้ เพื่อให้ขนมปังด้านบนมีความกรอบ ส่วนเนื้อขนมปังด้านในใช้แป้งสาลี สำหรับเมล่อนปังนั้นไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดค้น แต่ก็เล่ากันว่าเมล่อนปังนั้นเป็นขนมปังที่มีรูปทรงเหมือนเมล่อน และมีการแต่งกลิ่นเมล่อนเพิ่มเข้าไป จึงถูกเรียกว่าเมล่อนปัง คนโกเบนิยมเรียกว่า Sunrise เพราะว่ามีรูปร่างเหมือนพระอาทิตย์ ซึ่งคนคันไซในจังหวัดอื่นก็นิยมเรียกตามเช่นกัน ปัจจุบันร้านขนมปังหลายร้านนิยมเพิ่มรสสัมผัสให้เมล่อนปังกันมากขึ้น อย่างเช่น โรยหน้าด้วยช็อคโกแลตชิพ หรือมีการใส่ไส้ครีมเอาไว้ด้านใน
カレーパン คาเรปัง
คาเรปังเป็นขนมปังทอดสอดไส้แกงกะหรี่ มีวางขายครั้งแรกที่ร้าน Meikadou ในโตเกียวเมื่อปีโชวะที่ 2 (ค.ศ.1927) ซึ่งก็คือร้าน Cattlea ในปัจจุบันนั่นเอง ทุกวันนี้คาเรปังเป็นขนมปังญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมจากคนในประเทศมากเป็นอันดับ 1 ส่วนไอเดียการทำคาเรปังนั้นมาจากทงคัตสึ โดยปกติมักจะคลุกเกล็ดขนมปังบนผิวขนมปังแล้วนำไปทอดในน้ำมันเยอะๆ เหมือนการทอดทงคัตสึนั่นเอง โดยรูปร่างของคาเรปังนั้นจะคล้ายกับลูกรักบี้ มองปุ๊บก็รู้เลยว่าเป็นคาเรปัง เมื่อลองทานแล้วจะสัมผัสได้ถึงเนื้อขนมปังที่กรุบกรอบและรสแกงกะหรี่หอมๆ เต็มคำ และแกงกะหรี่ที่ใช้ทำไส้จะข้นเล็กน้อยไม่เหลวเหมือนแกงกะหรี่ที่ราดทานคู่กับข้าว
Local Pan ขนมปังพื้นเมืองในญี่ปุ่น
バラパン Bara Pan
เมือง Izumo จังหวัด Shimaneคำว่า Bara แปลว่ากุหลาบในภาษาญี่ปุ่น บริษัท Nanpo Pan ในเมือง Izumo ทำขนมปังนี้มา 60 กว่าปีแล้ว โดยม้วนเนื้อขนมปังที่ทาวิปครีมให้มีรูปทรงเหมือนดอกกุหลาบ นอกจากรสวิปครีมแล้ว ยังมีรสกาแฟ รสสตรอเบอรี่ด้วย และบวกกับความน่ารัก ทำให้มีแฟนคลับของขนมปังนี้ด้วย
ราคาซองละ 120 เยน
マンハッタン Manhattan
จังหวัด Fukuoka หนึ่งในขนมปังขึ้นชื่อของบริษัท Ryoyu Pan ในจังหวัดฟุกุโอกะ และเป็นที่นิยมของคนฟุกุโอกะ โดยเฉพาะเด็กๆ มาตั้งแต่ปีค.ศ.1974 ซึ่งขนมปังกรอบนี้มีรูปทรงทวิสต์ (Twist) คล้ายกับโดนัทชุบช็อกโกแลต โดยมีที่ไปที่มาคือหลังจากที่พนักงานบริษัท Ryoyu Pan ไปสำรวจตลาดในย่านแมนฮัตตันที่เมืองนิวยอร์กก็คิดไอเดียขนมปังนี้ขึ้นแล้วก็ตั้งชื่อว่าแมนฮัตตันนั่นเอง ซึ่งหลังจากนั้นผลตอบรับก็ดีมากทำให้วางขายมาจนถึงทุกวันนี้
ราคาชิ้นละ 120 เยน
ヒスイパン Hisui Pan
จังหวัด Toyama เป็นขนมปังไส้ถั่วแดง ราดหน้าด้วยขนมโยกังสีเขียว ร้าน Shimizu Sei Pan ในเมือง Asahi จังหวัดโทยาม่าทำขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 50 กว่าปีก่อน โดยพ่อครัวของร้านอบขนมปังไส้ถั่วแดงจนผิวหน้าไหม้ แต่รู้สึกเสียดายที่จะทิ้ง ก็เลยปิดตรงที่ไหม้ด้วยขนมโยกังที่มีอยู่ในครัวโดยบังเอิญ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นขนมปังขึ้นชื่อของจังหวัดไปเสียแล้ว
ราคาชิ้นละ 130 เยน
サラダパン Salad Pan
จังหวัด Shiga เป็นขนมปังสอดไส้หัวไชเท้าดอง (Takuan) ที่หั่นเป็นชิ้นๆ กรอบๆ ปรุงด้วยมายองเนส เป็นที่นิยมของคนจังหวัดชิกะ ผลิตโดยบริษัท Tsuruya ในเมืองนากาฮามะ จังหวัดชิกะ ขายมาตั้งแต่เมื่อ 57 ปีก่อน ตอนแรกใช้กะหล่ำปลีที่หั่นเป็นชิ้นๆ แต่เนื่องจากมีน้ำออกมาจากกะหล่ำปลีเยอะ ทำให้ขนมปังดูไม่น่าทาน ภรรยาของผู้ก่อตั้งบริษัทจึงปิ๊งไอเดียที่จะใช้หัวไชเท้าดองกรอบๆ มาสอดไส้ขนมปังแทน
ราคาซองละ 140 เยน
ちくわパン Chikuwa Pan
จังหวัด Hokkaido ขนมปังชิกุวะ ลูกชิ้นปลาลักษณะแท่งทรงกระบอก เมื่อนำมาสอดไส้ทูน่าสลัด ปรุงด้วยมายองเนสแล้วยัดเป็นไส้ของขนมปัง โดยทางร้านดองกูริ ในเมืองซัปโปโรเริ่มทำเป็นครั้งแรก จนกลายเป็นขนมปังขึ้นชื่อของเมือง ที่ฮอกไกโดไม่มีใครไม่รู้จักขนมปังนี้แน่นอน
ราคาชิ้นละ 150 เยน
イギリストースト Igirisu Toast
จังหวัด Aomori เป็นขนมปังที่วางขายมาราว 40 ปีแล้ว ผลิตโดยบริษัท Kudo Pan ในจังหวัดอาโอโมริลักษณะของ Igirisu Toast เป็นขนมปัง 2 แผ่น ที่ทามาการีนกับน้ำตาลทรายขาวที่ดูธรรมดา แต่หอมอร่อยมากๆ
ราคาซองละ 100 เยน
クリームボックス Cream Box
เมือง Koriyama จังหวัด Fukushimaขนมปังแผ่นหนาขนาดฝ่ามือ ทาครีมรสนมข้น เป็นขนมปังขึ้นชื่อของเมืองโคริยาม่า จังหวัดฟุกุชิม่า โดยร้านขนมปังแห่งหนึ่งในเมืองนี้ชื่อว่า Romio ได้ทำขนมปังครีมบ็อกซ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ 30 กว่าปีก่อน หาซื้อได้ที่ร้านขนมปังทั่วไปในเมืองโคริยาม่า
ราคาชิ้นละ 100-150 เยน
みそぱん Miso Pan
จังหวัด Gunmaเมื่อปีค.ศ.1972 ร้าน Furiand (ฟุเรียน) ในเมืองนูมาตะ จังหวัดกุนมะ ปิ๊งไอเดียทำมิโสะปังขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นขนมปังขาว ทาด้วยมิโสะที่มีรสชาติหวานและเค็มนิดหน่อย จนลูกค้าหลายคนบอกว่า ขนมปังกับมิโสะนั้นเข้ากันได้ดีมาก ปัจจุบันมีวางขายที่ร้านขนมปังทั่วไปในจังหวัดกุนมะ
ราคาชิ้นละ 150 เยน
のっぽパン Noppo Pan
จังหวัด Shizuokaเริ่มขายมาตั้งแต่ปีค.ศ.1978 ผลิตโดยบริษัท NBS ในเมืองนูมาซุ จังหวัดชิซุโอกะ เป็นขนมปังยาวขนาด 30 เซนติเมตรสอดไส้ครีมรสนม เป็นที่นิยมของคนชิซุโอกะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางตะวันออกของจังหวัดชิซุโอกะ คำว่า Noppo แปลว่า ตัวสูง จึงมีสัญลักษณ์เป็นยีราฟทุกซอง นอกจากครีมนมที่เป็นรสออริจินัลแล้ว ยังมีรสครีมถั่วลิสง ช็อกโกแลต และมีรสใหม่ๆ ออกมาขายตามฤดูกาลด้วย
ราคาซองละ 140-150 เยน
なかよしパン Nakayoshi Pan
จังหวัด Okinawa ขนมปังใหญ่ขนาดเท่ากับคีย์บอร์ดของเครื่องคอมพิวเตอร์ สอดไส้ครีมเนยในเนื้อขนมปังที่มีรสโกโก้ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของบริษัท Gushiken Pan ในเมืองอูรุมะ จังหวัดโอกินาว่า ซึ่งเป็นที่นิยมของคนโอกินาว่ามากว่า 60 ปีแล้ว คนที่นี่คุ้นหน้าคุ้นตากับภาพเจ้ากบน่ารักๆ ในโลโก้เป็นอย่างดี
ราคาซองละ 340 เยน