บางคนอาจได้รู้มาว่าคนญี่ปุ่นนั้นชอบ การดื่ม เป็นชีวิตจิตใจ อย่างที่มักเห็นในภาพยนตร์หรือซีรีส์ เราจะเห็นภาพพนักงานเงินเดือนทั้งชายและหญิงมาดื่มสังสรรค์กันในร้านอิซากายะ แล้วก็มาเป็นกลุ่มหลังจากเลิกงาน โดยพฤติกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกระชับความสัมพันธ์ของคนในบริษัทหรือในทีม ซึ่งเราเรียกวัฒนธรรมการดื่มในร้านอิซากายะนี้ว่า “โนมิไก” (飲み会)

การดื่ม ที่ว่านี้นี้ไม่ได้ไร้ระเบียบแบบแผนเสียทีเดียว แต่มีความเข้มงวดอยู่พอตัว เช่น นอกจากจะต้องมีอายุเกินกำหนดที่สามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายแล้ว ก็ยังมีบรรทัดฐานในการดื่ม อย่างต้องรินเครื่องดื่มให้กันและกัน และห้ามเทเครื่องดื่มให้ตัวเอง ห้ามดื่มก่อนที่ทุกคนจะได้เครื่องดื่มครบ หลายอย่างสารพัดโดยมีกรอบของการให้เคารพรุ่นพี่หรือเจ้านาย แถมยังมีวัฒนธรรมการดื่มที่มักไม่จบเพียงแค่ร้านแรก แต่ต้องไปต่ออีกร้านสอง ร้านสาม กว่าจะได้กลับบ้านก็ดึกดื่นชวนให้ลุ้นเหลือเกินว่าจะวิ่งขึ้นรถไฟรอบดึกเที่ยวสุดท้ายทันรึเปล่า

ชาวญี่ปุ่นก็ไม่ต่างจากชาวไทยนักเพราะเราไม่ได้มีโอกาสในการดื่มเพียงน้อยครั้ง อย่างเราก็มีการดื่มในงานเลี้ยงวันเกิด วันแต่งงาน หรือจะดื่มตอนไปปิกนิก ตอนปั่นงาน (อันนี้เราเอง) ซึ่งมันก็คือกิจกรรมหนึ่งที่สอดผสานไปกับชีวิตประจำวันทั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน อย่างในช่วงนี้เป็นฤดูดอกซากุระบาน หากไม่มีเหตุการณ์ไวรัสโคโรนาระบาด พวกเขาก็มักหอบข้าวของ อาหาร เครื่องดื่มไปปิกนิกชมดอกซากุระบานสะพรั่ง

แต่ตอนนี้เหมือนกับว่าวัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนญี่ปุ่นจะไม่คึกคักเท่าแต่ก่อนซะงั้น

สื่อในประเทศญี่ปุ่นออกมากล่าวว่าจำนวนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยหนุ่มสาวในประเทศญี่ปุ่นนั้นต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยมันได้ปรากฏอยู่ใน Nikkei Marketing Journal เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ อ้างจากข้อมูลของ Suntory Holdings ในปี 2019 บทความกล่าวว่าตลาดสำหรับเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ เช่น เบียร์ หรือ ชูไฮ ได้เพิ่มเป็นสี่เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว

โรงกลั่นที่เกียวโตได้สรุปว่าคนเริ่มดื่มเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์มากขึ้น ไม่ใช่เพราะว่าเลือกดื่มมันแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นะ (อย่างในกรณีของผู้ขับขี่ยานพาหนะหรือสตรีมีครรภ์) แต่เพราะพวกเขา “เลือก” ที่จะดื่มมันด้วยความชอบต่างหาก นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารในญี่ปุ่นที่สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ตั้งแต่ปี 2018 แล้วยังพบอีกว่าทั่วโลกก็มีสัดส่วนการดื่มลดลงไม่ต่างจากญี่ปุ่น โดยเหตุผลที่ตัดสินใจไม่ดื่มก็มีตั้งแต่เหตุผลทางสุขภาพ สภาพทางการเงิน รวมไปถึงเหตุผลที่ว่าการออกไปดื่มในผับบาร์มันช่างน่าเบื่อ

กระทรวงสาธารณะสุข แรงงาน และสวัสดิการในประเทศญี่ปุ่นในปี 2016 ยังทการสำรวจพฤติกรรมการดื่ม พบว่ากลุ่มคนที่มักดื่มเป็นส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย ในช่วงอายุ 50-59 ปี โดยมีถึง 46.1% แล้วเมื่ออายุน้อยลง จำนวนของคนที่ดื่มก็น้อยลงด้วย อย่างในช่วงอายุ 20-29 ปี ก็มีสัดส่วนเพียง 10.9% เท่านั้น เหตุผลที่ยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งดื่มน้อยลงนั้นมีเหตุผลหลักเลยคือเพราะพวกเขามีค่าแรงต่ำ  เลยจำเป็นต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทิ้งไป นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่ต่างจากคนรุ่นอื่นก็คือการนิยมกลับบ้านหลังเลิกงานทันที และไม่มีความสนใจที่จะออกไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน เพราะชอบกิจกรรมที่ทำคนเดียว ตอนนี้เลยดูเหมือนว่าการกลับมาดูหนังยาว ๆ หรือใช้เวลาอยู่กับตนเองจะดูเป็นทางเลือกที่ดีมากกว่าออกไปเสียเงินนอกบ้าน

นอกจากนี้ การออกไปดื่มนั้นยังแฝงไปด้วยการบังคับของคนที่เป็นรุ่นพี่หรือเจ้านายอีกด้วย อย่างปาร์ตี้สิ้นปีของบริษัทที่เรียกว่า โบเน็นไค ก็สร้างความลำบากใจรวมไปถึงความเครียดให้กับเหล่าพนักงานเงินเดือน หลังจากที่พวกเขาทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อย รับความเครียดเต็มสูบไม่พอ ยังต้องออกมาสังสรรค์ต่อโดยการสังสรรค์นี้รวมไปถึงต้องพูดคุยกับพนักงานคนอื่น รุ่นพี่ รวมไปถึงเจ้านาย และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือต้องคุยกับคนที่เราไม่ชอบหน้าอีก ฝืนชนแก้วปั้นหน้ายิ้มมันก็กระไรอยู่ อีกอย่างคือมันจะเกิดความไม่สบายใจ ซึ่งเป็นแบบนี้บ่อยๆ ก็ไม่อยากจะออกมาปาร์ตี้กับเพื่อนร่วมงานอีก

เมื่อการดื่มเป็นกิจกรรมทางสังคม เราก็พอจะเข้าใจว่าทำไมเปอร์เซ็นต์การดื่มของหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นถึงลดลงกัน นอกจากนี้ถ้าลองมองวิธีการใช้ชีวิตของชาว Millennials (ผู้ที่เกิดตั้งแต่ประมาณปี 1981-1996) พบว่ามีลักษณะนิสัยช่างเลือกมากขึ้น ไม่รู้สึกว่าต้องทำอะไรตามใคร คาดหวังให้คนหรือองค์กรเปิดโอกาสให้พวกเขายืดหยุ่นมากขึ้น กว่าจะตัดสินใจทำอะไรก็มักรอให้จนถึงวันสุดท้ายเพื่อเลือกสิ่งที่อยากได้มากที่สุด มีความอดทนต่ำ เป็นต้น แล้วยิ่งอยู่ในยุคสมัยที่มีอินเทอร์เน็ตเช่นนี้ การออกไปข้างนอกหรือพบปะผู้คนก็ไม่ได้เป็นเรื่องหลักในชีวิตอีกต่อไป

เวลาเปลี่ยนฉันใด พฤติกรรมก็เปลี่ยนฉันนั้น.


ที่มา

jpninfo.com

japantimes.co.jp

soranews24.com

unbtls.ca/teachingtips/pdfs/sew/Millennial-Behaviors.pdf

views